ไม่ใช่เพียงนักวิชาการหรือนักกฎหมายหรอก ที่รู้และเข้าใจทะลุปรุโปร่งว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ถูกร่างขึ้นมาเพื่อให้คุณให้โทษแก่ใคร
แต่เป้าหมายพิฆาตสำคัญ คือ “นักการเมือง” ก็ยิ่งต้องรู้ และต้องเป็นมากกว่าคนที่รู้ดี
นั่นคือ นอกจากรู้แล้วก็ต้องรู้ต่อไปด้วยว่า มันจะทำลายระบบพรรคการเมือง ทำลายระบบตัวแทน ทำลายสิทธิเสียงประชาชนคนไทย และทำลายประเทศชาติอย่างไรบ้าง
เมื่อรู้แล้วก็ต้องเกิดปฏิกิริยา และต้องตอบประชาชนและสังคมได้ด้วยว่าจะเอาอย่างไร
ที่ผ่านมา ก่อนการทำประชามติครั้งประวัติศาสตร์ รับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 50 มี “พรรคพลังประชาชน” เป็นหัวหอกสำคัญของฝ่ายนักการเมืองในการออกมาประกาศจุดยืนแบบไม่มีกั๊กว่า “ไม่รับ” รัฐธรรมนูญฉบับนี้
ก็จะให้รับได้อย่างไร ในเมื่อคนที่ร่างมันขึ้นมา ทั้งที่อยู่เบื้องหน้าเบื้องหลัง ก็คือคนที่ให้ ส.ส. ส่วนหนึ่งต้องระเห็จมาอยู่พรรคพลังประชาชนในตอนนั้นนั่นแหละ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเสียงส่วนใหญ่ออกมาว่า “รับ” อย่างเฉียดฉิว พรรคพลังประชาชนก็ยังไม่รอช้า เดินหน้าสู่การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่พร้อมกับประกาศชัดเจนยิ่งขึ้นเป็นคำรบสอง
“หากได้เป็นรัฐบาล จะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน!”
เป็นความกล้าหาญอย่างมากที่กล้าวัดใจกับประชาชน ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าประชาชนส่วนใหญ่เพิ่งไป “รับ” กันมาหมาดๆ
แต่เมื่อรู้อยู่เต็มอกว่าอะไรเป็นอะไร ก็ต้องวัดใจกับข้อเท็จจริง
ข้อเท็จจริงที่ว่า คือ เมื่อเป็นรัฐธรรมนูญจากเผด็จการทหาร ก็ต้องแก้ไข
แม้ทั้งฉบับจะผ่านประชามติมาได้ แต่ก็เชื่อว่าเป็นผลมาจากสถานะความได้เปรียบของ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ใช้อำนาจรัฐทุกกระบวนท่าเท่าที่มีในเวลานั้นมาผลักดันให้ผ่านเสียมากกว่า
และอีกส่วนก็คือ อารมณ์เหนื่อยล้าของประชาชนที่มีต่อการเมือง และหวังให้การเลือกตั้งมาฉุดดึงออกไปจากสภาวะขณะนั้นโดยเร็ว จึงได้ตัดสินใจ “รับ”
หาใช่เป็นเพราะชื่นชม ชื่นชอบ เนื้อหารัฐธรรมนูญทั้งฉบับแต่อย่างใดไม่
การหาเสียงด้วยการชูประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการวัดใจไปเลยว่า พรรคพลังประชาชนคิดถูกหรือไม่
และการเลือกตั้งก็ให้คำตอบออกมาแล้ว...
คนส่วนใหญ่ก็ยังพร้อมจะเลือกพรรคนี้ แม้คนส่วนใหญ่อีกเช่นกันที่รับร่างรัฐธรรมนูญขณะที่พรรคนี้ไม่รับ
เพราะว่าความเป็นรัฐธรรมนูญที่อยู่แต่ในตัวหนังสือ ไม่ได้ทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้นได้ แต่พรรคการเมือง นักการเมืองต่างหาก คือกลไกที่จะทำงานกับสิ่งเหล่านี้ โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกรอบและเครื่องมือเท่านั้น
หากเมื่อใดที่รัฐธรรมนูญมีสถานะไม่ต่างจากกรงขัง หรือเครื่องกีดขวางความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
และที่สำคัญ ปรับเปลี่ยนไปตามอุดมการณ์ของรัฐบาลนั้นๆ