WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, March 26, 2008

ไม่แก้รัฐธรรมนูญเพื่อใคร?

โดย : ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข

ไม่เคยเรียนวิชารัฐธรรมนูญจากเมืองนอกเมืองนา แต่ยามต้องมานั่งคิดทบทวนว่า ทำไมต้องมีรัฐธรรมนูญ ก็พบได้ว่ารัฐธรรมนูญนั้นมีขึ้นมาเพื่อเป็นกติการ่วมกันของคนในสังคม และเมื่อเราถามต่อไปว่า ทำไมต้องมีกติกา เราก็จะพบหัวใจทั้งมวลของการมีรัฐธรรมนูญว่า อยู่ที่การสร้างหลักประกันสิทธิเสรีภาพให้กับเจ้าของอำนาจอธิปไตย ไม่ว่าจะเกิดจากการใช้อำนาจอันอาจจะละเมิดสิทธิเสรีภาพจากรัฐหรือจากประชาชนด้วยกันเอง

นี่คือหัวใจประการแรก เป็นจุดตั้งต้น เป็นปรัชญา เรื่องอื่นใดที่จะเกิดขึ้นและทำให้เกิดอุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพนั้นเป็นไม่ได้ เพราะจะทำให้ความหมายและคุณค่าของรัฐธรรมนูญนั้นหมดสิ้นไปทันที

จับหลักนี้ให้มั่นเราก็จะพบคำตอบที่มีต่อกรณีร้อนๆ เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบันอันเกี่ยวเนื่องมาจากกรณีที่สามพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลกำลังจะขึ้นแท่นชงให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอยู่ในเวลานี้

เป็นเรื่องตลกที่ผู้ใหญ่หลายคนออกมาพูดเกี่ยวกับข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชน บ้างก็ว่าแก้ไข มาตรา 237 เพื่ออะไร เพื่อใคร บ้างก็ว่า หากไม่ทุจริต ก็ไม่เห็นต้องเดือดร้อน แม้กระทั่งบทบรรณาธิการของสื่อหลายสำนักก็พูดไปในทางเดียวกัน

มีปัญหาหลายประการต่อคำชวนให้หลงเชื่อประเภทนี้อยู่มาก ผมใคร่จะลองชวนให้ถกเถียงถึงประเด็นเหล่านี้ในรายละเอียดสักเล็กน้อยก่อนจะกลับมาเรื่องหลักใหญ่ๆ

มาตรา 237 วรรคสอง มีความว่า “ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ...ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้นให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวมีกำหนดเวลาห้าปี"

ว่ากันว่าด้วยความข้อนี้ ทำให้กรรมการการเลือกตั้งจำเป็นต้องคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมืองซึ่งมีกรรมการบริหารพรรคบางคนโดนใบแดง

มีคำถามมากมายเกี่ยวกับความในมาตรา 237 ถามกันแบบบ้านๆ กันก่อนเลยว่า มีใครในประเทศนี้เชื่อไหมว่า มีพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกเข้าสมัครรับการเลือกตั้งมาชนิดถูกกฎหมายเลือกตั้งทุกประการ เงินก็ใช้ไม่เกินตามกฎหมายกำหนด ไม่มีการใช้เงินซื้อเสียง แม้กระทั่งพรรคฝ่ายค้านในเวลานี้

แม้หลายคนอาจจะเชื่อว่าคุณชวน หลีกภัย หรือคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่เคยซื้อเสียง แต่มีใครเชื่อไหมว่า คุณชวนจะไม่เคยได้ยินว่าสมาชิกพรรคของตัวเองใช้เงินซื้อเสียงหรือได้กระทำการผิดกฎหมายเลือกตั้ง และได้กระทำการยับยั้งแล้ว

ถ้ายังเชื่ออย่างนั้น เราจะอธิบายกรณีที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ได้ใบเหลืองใบแดงในอดีตว่าอย่างไร

หากเราไม่หลอกตัวเองจนเกินไป เราก็อาจจำเป็นต้องยอมรับว่า คนหรือสมาชิกพรรคที่ไม่โดนใบเหลืองใบแดง อาจจะไม่ใช่เพราะเขาบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่ทุจริต หรือไม่ได้แปลว่าเขาไม่ได้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง อย่างมาก เขาก็แค่เก่งในการใช้เล่ห์กลทางกฎหมายเพื่อหลบเลี่ยงได้เก่งเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ หลักเรื่องทุจริตกฎหมายเลือกตั้ง จึงไม่ใช่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเขาบริสุทธ์ มิหนำซ้ำ หลักเรื่องทุจริตกฎหมายเลือกตั้ง อย่างมากก็เป็นแค่เครื่องมือให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้งเลือกใช้ เลือกปฏิบัติ โดยที่ไม่มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่ดีพอ กระทั่งกลายเป็นเครื่องมือให้คน 5 คนจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วย

หลักแบบที่ยอมให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง “ถือเอาว่า” และใช้ดุลพินิจนั้น เราได้ใช้กันมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 มาถึง 2550 เพียงแต่ว่า ในรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น มิได้มีเจตนาลงโทษบานปลายเช่นนี้

แท้จริงแล้ว หากเรายอมให้ผิดคนเดียวลงโทษยกพรรคกลายเป็นหลักการหรือได้รับการยอมรับขึ้นมาได้ สักวันหนึ่งมันจะพัฒนาไปกลายเป็นหลักให้กับโทษที่หนักหนาสาหัสมากๆ อย่างคดีอาญาบางคดี อาทิ คดีความมั่นคง คดียาเสพติด ผิดคนเดียวประหารทั้งครอบครัวหรือเจ็ดชั่วโคตร อย่างในสมัยพระเจ้าเหาเอาได้ และเราจะเอากันอย่างนั้นหรือ

แน่ละครับ ผมไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค พรรคการเมืองแม้จะเป็นสิ่งเลวร้าย แต่ก็เหมือนที่ใครบอกไว้ ว่ามันคือสิ่งเลวร้ายที่จำเป็น

อันที่จริง พรรคการเมืองไม่ใช่สิ่งที่จะถูกยุบได้ด้วยซ้ำ สิ่งที่ถูกยุบไม่ใช่พรรคการเมือง แต่เป็นทะเบียนที่พรรคการเมืองนั้นได้ทำไว้กับคณะกรรมการการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะต่อให้ยุบพรรคการเมืองด้วยการถอดออกจากการลงทะเบียนและลงโทษสมาชิกพรรค แต่ความคิดความเชื่อ แนวทาง นโยบาย ที่ออกมาจากผลประโยชน์และอุดมการณ์ ไม่มีวันถูกยุบไปด้วยได้

เราเคยมีบทเรียนนี้มาสดๆ ร้อนๆ กับการยุบพรรคไทยรักไทย แต่ถามดีๆ กันเถิดว่า แล้วพรรคไทยรักไทยยังอยู่ไหม ยังอยู่ครับ อยู่ครบถ้วน ไม่เห็นก็แต่สมาชิกพรรคบางคนที่หลบไปอยู่ข้างหลังกับตัวหนังสือชื่อพรรคและโลโก้ที่เปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาไป นอกนั้นเหมือนเดิม

ถ้าความจำระยะสั้นหายไป ลองไปดูอดีตเมื่อครั้งกีดกันพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ว่าผลคืออะไร ผลคือพรรคนี้เติบโตขึ้นทางใต้ดิน และที่สุดจับอาวุธขึ้นสู้กลายเป็นสงครามกลางเมืองในประเทศยาวนานหลายทศวรรษ

ไปถามอดีตนักเรียนกฎหมายเยอรมันเกี่ยวกับการยุบพรรคดู ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันเองก็เคยมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการยุบพรรคมาแล้ว แม้ว่าพรรคการเมืองนั้นจะได้กระทำการรณรงค์ล้มล้างระบอบรัฐธรรมนูญ แต่ตราบใดที่มิได้ก่อการด้วยความรุนแรงหรือบังคับให้ทุกคนเห็นด้วยก็ยุบไม่ได้

แน่ล่ะเราไม่ได้เอาแบบเยอรมัน แต่นี่คือหลักสิทธิเสรีภาพ และพรรคการเมืองก็เป็นที่รวมของความคิดความเชื่อของผู้คน เจ้าของอำนาจอธิปไตยซึ่งได้แสดงออกและเลือกแล้ว

ผมไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค เพราะรัฐธรรมนูญที่เปิดให้เกิดการยุบพรรคแบบนี้ เท่ากับรัฐธรรมนูญที่มีขึ้นมาเพื่อละเมิดสิทธิเสรีภาพเสียเอง และรัฐธรรมนูญที่ละเมิดแม้กระทั่งความคิดความเชื่ออันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานย่อมมิใช่รัฐธรรมนูญ

ผมไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค ไม่เท่านั้น ผมยังเห็นว่า ต้องเอาพรรคไทยรักไทยคืนมา อันที่จริงผมยังเห็นด้วยว่าต้องเอาพรรคคอมมิวนิสต์คืนมา ให้กลับมาสู่และมาสู้ในระบบระบอบ

มีประเด็นและเหตุผลอีกมากมายที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เพียงแต่เรื่องที่เกี่ยวหลักการสิทธิเสรีภาพและการยุบพรรคข้างต้น ยังมีหลักการนิติธรรม นิติรัฐ อีกมากมาย ยังมีประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการร่าง มีประเด็นเกี่ยวกับการรับรองรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบธรรม จนไม่เห็นเหตุผลสักประการเดียวที่จะไม่แก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งคงจะได้ว่ากันต่อไป

แต่ตอนนี้ขอแค่เลิกเอาชาติมาอ้างแบบพร่ำเพรื่อ เพราะแม้กระทั่งเอาสิทธิเสรีภาพของคนทั้งประเทศไปสังเวยเพื่อปราบคนๆ เดียว หรือเพื่อปราบคนๆ เดียวและอ้างว่า ‘กู้ชาติ’ ก็ทำกันมาแล้ว