ท่ามกลางกระแสการแก้ไขรัฐธรมนูญ 2550 ฉบับเจ้าปัญหา ที่หลายฝ่ายทั้งฝ่ายการเมือง นักวิชาการ นิสิตนักศึกษา ประชาชน ตลอดจนองค์กรภาคประชาชน ต่างมีความเห็นพ้องกันว่าสมควรแก้ไข เพราะเป็นกฎหมายที่ร่างขึ้นในบรรยากาศเผด็จการ และมีสาระสำคัญสืบทอดอำนาจอำมาตยาธิปไตย เป็นการสกัดกั้นการดำเนินงานในทางการเมือง และจะเป็นผลกระทบต่อการเมืองไทยรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในวันข้างหน้า นั้น
นายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ในส่วนของพรรคพลังประชาชนเห็นควรเพิ่มกรอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มากขึ้น ซึ่งหากถามความเห็นประชาชนส่วนใหญ่ก็อยากให้แก้ จะเห็นได้จากช่วงที่มีการลงประชามติและเป็นช่วงที่มีการทำรัฐประหาร ประชาชนกว่า 10 ล้านคนก็ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และหากทำในช่วงที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยเข้าใจว่าจะมีคนกล้าตัดสินใจ หรือแสดงความเห็นมากขึ้น และจะหาเสียงสนับสนุนได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีวิธีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนได้หลายด้าน ทั้งจากสื่อมวลชนและรูปแบบอื่นๆ
เมื่อถามว่า รัฐบาลจะอธิบายอย่างไรว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง นายจักรภพ กล่าวว่า หากขยายวงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ถูกละเมิด ประชาชนก็จะเกิดความชัดเจนว่าไม่ได้ต้องการช่วยเหลือพรรคพวกตัวเอง
นอกจากนี้ขอยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่การล้างมลทินให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และพวกพ้อง การที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพูดชี้นำอย่างนั้นถือว่าไม่ถูกต้อง แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เพื่อนำประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ มองไปที่ระบอบการปกครองประเทศอย่างชัดเจนที่สุด เพื่อให้ประชาชนทุกคน ได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกัน และเรื่องนี้ไม่ควรเล่นเกมมวลชน แต่ควรปล่อยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามขั้นตอน ผู้เกี่ยวข้องต้องให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างเต็มที่ก่อนตัดสินใจ
เมื่อถามว่าประชาชนห่วงจะเป็นไฟไหม้ฟาง นายจักรภพ กล่าวว่าเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เคยเป็นไฟไหม้ฟาง และขอยืนยันว่าจะต้องทำแน่อน แต่จะทำมากน้อย ทำเมื่อไร อย่างไร เป็นประเด็นที่เรากำลังอภิปรายกันอยู่
ส่วนกรณีที่กลุ่มองค์กรต่างๆ อาทิ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ออกมาคัดค้าน เคลื่อนไหวจะทำให้การชุมนุมขยายวงกว้างออกไปหรือไม่นั้น นายจักรภพ กล่าวว่า ถ้าใครว่างงานมากก็ควรจะรวมกลุ่มกันเพื่อจะหาจุดยืนของตนเองว่าจะไปทำอะไรต่อไปในชีวิต ถือเป็นสิทธิส่วนตัวแต่ละบุคคล แต่ขอให้แน่ใจว่าการดำเนินการดังกล่าวจะต้องไม่ได้สิทธิที่มากกว่าคนอื่น
ขณะเดียวกันนายจักรภพ ก็ย้ำด้วยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องทำได้อย่างแน่นอน เพราะบางมาตราเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาล ทำให้การแก้ปัญหาให้กับประชาชนทำได้ยาก เชื่อว่าจะทำความเข้าใจกับประชาชนได้ เพราะจะเป็นการนำประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ และจะสั่งการให้สื่อของรัฐเร่งให้ความรู้ และข้อมูลกับประชาชน เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่
ทางด้านนายโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แสดงความเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เนื่องจากโทษหนักเกินไป แค่การกระทำผิดของคนๆ เดียวไม่น่าจะรวมไปถึงพรรคการเมืองทั้งพรรค และมองว่าโดยหลักการแล้วไม่ชอบ เพราะเหมือนทำผิดน้อย แต่ได้รับโทษมหาศาล
ด้าน นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2540 แสดงความเห็นด้วยเช่นเดียวกัน เพราะหากข้อกฎหมายข้อนี้ทำให้เกิดทางตันทางการเมือง ก็สมควรจะแก้ ส่วนหากมีการแก้รัฐธรรมนูญจริงๆ ถามว่าควรทำประชามติหรือไม่นั้น ตนคิดว่าหากจะแก้รัฐธรรมนูญจริง ควรจะร่างใหม่โดยนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาต่อยอดแล้วให้ประชาชนลงประชามติ หากมีการแก้เพียงไม่กี่มาตราก็ไม่ควรทำประชามติ เนื่องจากการทำประชามติในแต่ละครั้งจะเสียงบประมาณจำนวนมาก และประชาชนก็ต้องเสียเวลา
"การจะยุบพรรคอยากให้คำนึงถึงการตัดสินของประชาชนด้วย จะเขียนกติกาอะไรก็แล้วแต่ ในเมื่อให้ประชาชนไปเลือกตั้งแล้ว ขณะที่ กกต. ก็มีอำนาจเต็มมือแล้วในที่สุดประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคนี้เข้ามา ก็ต้องยอมรับกันบ้าง แล้วเมื่อรัฐบาลประสบปัญหาไม่สามารถนำพาบ้านเมืองให้รอดไปจากวิกฤตตรงนี้ไปได้ เนื่องจากติดขัดที่ตัวบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ถามว่าจะไม่แก้เหรอ" นายคณินกล่าว
นายคณิน กล่าวด้วยว่าถึงแม้พรรคพลังประชาชนจะพ้นจากการเป็นรัฐบาลไป แล้วพรรคประชาธิปัตย์จะได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มีแต่กับระเบิดทั้งนั้น ไม่รู้ว่ามันไปวางไว้ตรงไหนบ้างก็ไม่รู้ คือว่าความคิดของอมาตยาธิปไตยคนที่ไปนั่งอยู่บนหอคอยงาช้างนะ มองนักการเมืองชั่ว มองนักการเมืองเลว แล้วก็มองดูถูกประชาชนคนระดับรากหญ้า หาว่าโลภเห็นแก่เงินซื้อเสียง 100-200บาท พวกนี้ไม่เคยมองความเป็นจริงของประเทศไทย
อย่างน้อยๆ ก็มีคนประมาณ 40-50 % ที่อยู่ในระดับรากหญ้า ถามว่าคนจนใช่หรือไม่ที่ปลูกข้าวให้เรากิน คนจนใช้หรือไม่ที่สร้างบ้านให้เราอยู่ แลัวไม่ใช้คนจนหรือที่ต้องทิ้งบ้าน ทิ้งครอบครัว ไปลำบากในต่างแดนเพื่อที่จะส่งเงินมาเพื่อเอาไปช่วยประเทศ
"พอถึงเวลาที่มีการเลือกตั้งก็ให้ประชาชนไปเลือกตั้ง แต่พอเลือกมาแล้วหาว่าประชาชนเลือกไม่เป็น บอกว่าพวกนี้เห็นแก่เงิน มันบ้าไปแล้วสังคมแบบนี้ เชื่อผมเดี๋ยวมันก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะทำให้สังคมอยู่ได้มัยก็ต้องยอมรับความจริงกัน ในที่สุดก็ต้องให้ประชาชนตัดสิน แต่ถ้ายังไม่ยอมรับประชาชน ซึ่งเสียงส่วนใหญ่จะเป็นคนจนที่อยู่ในระดับรากหญ้า ในที่สุดบ้านเมืองก็พังแล้วก็มีให้เห็นมากหลายประเทศแล้ว"
ขณะเดียวกันในตอนสายวันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา นายแพทย์เหวง โตจิราการ แกนนำสมาพันธ์ประชาธิปไตย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายสามารถ แก้วมีชัย คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อขอเชิญให้ทุกพรรคการเมืองร่วมส่งตัวแทนเข้าร่วมในการระดมความคิดเรื่อง "แก้รัฐธรรมนูญ 2550" ในวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม เวลา 13.00 น. ที่โรงแรมเดอะแกรนด์ รัชดา ถ.รัชดาภิเษก
โดยนายแพทย์เหวง กล่าวว่า เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญปี 50 ยกร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดขึ้นโดยคณะรัฐประหาร ซึ่งไม่ได้มาจากประชาธิปไตย ดังนั้น องค์กรภาคประชาชน จึงร่วมกับนักวิชาการ อดีต ส.ส.ร.ปี40 และผู้รักประชาธิปไตย จัดเสวนาระดมความคิดเห็น พร้อมจะเชิญ ส.ว.ชุดปัจจุบันเข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ในการเสวนา สมาพันธ์ประชาธิปไตย เห็นว่าควรแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อย่าไประบุเพียงแค่มาตรา 237 เพียงเรื่องเดียว
เช่นเดียวกับ นายคารม พลทะกลาง ตัวแทนชมรมนักกฎหมายเพื่อประชาชน ได้เข้ายื่นหนังสือเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค ทั้งฝ่ายรัฐบาล และพรรคการเมืองฝ่ายค้านพรรคเดียวอย่างประชาธิปัตย์
โดยนายคารม กล่าวว่าได้ยื่นให้กับทุกพรรคสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยโดยเฉพาะมาตรา 237 และ 309 ซึ่งทำให้พรรคการเมืองไม่แข็งแรง โดยจะเสนอให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาเป็นต้นร่างในการแก้ไข
ขณะเดียวกันก็มี ส.ส.อีสาน พรรคพลังปรัชาชนบางส่วนที่เห็นแตกต่าง โดยมองว่ายังไม่จำเป็นต้องรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเชื่อว่าการยุบพรรคคงจะไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ อีกทั้งไม่ต้องการเห็นสังคมมองว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองเอง และอยากให้รอดูผลคดียุบพรรคชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตยก่อน
ส่วนที่ก่อนหน้านี้เอแบคโพล ได้สำรวจความคิดเห๋นประชาชนใน 18 จังหวัดกระจายไปทุกภูมิภาค โดยมีกลุ่มตัวอย่างกว่า 3 พันคน ส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้น
ผลการสำรวจดังกล่าวทำเอาพรรคประชาธิปัตย์รับไม่ได้ จนนายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคถึงกับออกอาการ ย้อนถามเอแบคโพล ว่าไปถามคนกลุ่มไหน ถามเบี่ยงเบนหรือไม่ พร้อมทั้งประกาศด้วยว่าจะขวางแก้ ม.237 เต็มที่