น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าววันนี้ (5 มี.ค.) ว่า ในวันศุกร์ที่ 7 มี.ค.นี้ จะเรียกประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อวางแนวทางการพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ให้มีส่วนสำคัญเข้าไปช่วยกระตุ้นประชาชนระดับฐานราก ถือเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขั้นต่อไป การดำเนินการครั้งนี้ จะเน้นการพัฒนาคุณภาพของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเป็นหลัก ไม่เน้นเชิงปริมาณเช่นที่ผ่านมา ต้องมีหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่เป็นต้นแบบในการพัฒนาให้ชัดเจนด้วย โดยรายละเอียดทั้งหมดต้องหารือในที่ประชุมก่อน ยืนยันว่า การพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ครั้งนี้ จะให้ทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าไปช่วยดำเนินการ เพื่อพัฒนาให้เกิดความแข็งแกร่งและมีศักยภาพในระยะต่อไป
"มาตรการเหล่านี้ถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในช่วง 6 เดือน จากนั้นในระยะยาวได้เตรียมมาตรการการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งระบบใหม่หมด โดยเน้นการสร้างฐานความรู้เป็นหลัก และเป็นเรื่องใหญ่ในระยะต่อไปที่จะนำศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือทีซีดีซี มาเป็นองค์กรสำคัญเพื่อปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย โดยให้มีแนวคิดในเชิงสร้างสรรค์" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้พิจารณาการให้สินเชื่อต่อยอดกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ที่มีศักยภาพในการดำเนินงานอีกกว่า 20,000 กองทุน เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า และได้เสนอมาตรการเกี่ยวกับการช่วยเหลือเกษตรกรในโครงการพักชำระหนี้ ลดภาระหนี้แก่เกษตรกรที่มีหนี้ไม่เกิน 100,000 บาท ให้กับนายสุรพงษ์ เรียบร้อยแล้ว แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ การพักชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปี ให้กับลูกหนี้ที่มีปัญหาค้างชำระในงบบัญชีกว่า 300,000 ราย การลดดอกเบี้ยลงไม่เกินร้อยละ 3 ของดอกเบี้ยปัจจุบัน ให้กับลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ตรงเวลา 1.7 ล้านราย สามารถประกาศใช้ได้ในปลายเดือนมี.ค.นี้