กรุงเทพฯ 6 มี.ค. –พ.ต.ท.ทักษิณ ส่งทนายความแก้ข้อกล่าวหาฐานร่ำรวยผิดปกติต่ออนุกรรมการ คตส. มีความหนากว่าพันหน้า ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ยืนยันไม่เคยทำผิดกฎหมายและไม่เคยหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากประเทศชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งเป็นที่ทำการของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ว่า เมื่อเวลา 15.00 น. (6 มี.ค.) นายฉัตรทิพย์ ตัณฑประศาสน์ ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยทีมทนายความ ได้เข้ายื่นหนังสือแก้ข้อกล่าวหาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตามที่คณะอนุกรรมการไต่สวนแจ้งข้อกล่าวหากรณีร่ำรวยผิดปกติ ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่
ทั้งนี้ อนุกรรมการไต่สวนฯ มีข้อกล่าวหาหลัก 3 ประการ คือ 1. พ.ต.ท.ทักษิณและคู่สมรส ยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นในบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 2.การใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ธุรกิจสัมปทานของบริษัทชินคอร์ป 3.ร่ำรวยผิดปกติ ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ โดยมีทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร คือ เงินจำนวน 77,000 ล้านบาท ที่ได้มาจากการขายหุ้นและเงินปันผลของหุ้น
ภายหลังการยื่นหนังสือ นายฉัตรทิพย์ ให้สัมภาษณ์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ขอปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และยืนยันว่า ตนเองและครอบครัวไม่เคยกระทำความผิดใด ๆ ต่อกฎหมาย ไม่เคยหาประโยชน์โดยมิชอบจากประเทศชาติ สำหรับข้อต่อสู้ในข้อกฎหมายสรุปได้ว่า คตส.ใช้อำนาจตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 แต่เวลานี้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 แล้ว ดังนั้น การใช้ประกาศ คปค. ไม่ควรใช้ควบคู่กับรัฐธรรมนูญ และเห็นว่า คตส.ไม่น่ามีอำนาจตามกฎหมายแล้ว
นายฉัตรทิพย์ กล่าวต่อว่า รูปแบบตามอำนาจตามประกาศ คปค. ยังมีอำนาจเฉพาะเจาะจงเพื่อดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณและคนในครอบครัว จึงเป็นข้อขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ขณะที่การไต่สวนก็ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ให้ผู้ถูกฟ้องมีสิทธิตรวจสอบเอกสารหลักฐานจากอนุกรรมการฯ ทำให้เสียโอกาสในการต่อสู้คดี
นายฉัตรทิพย์ กล่าวอีกว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส. มีการดำเนินการในเรื่องเดียวกัน แต่มีข้อเท็จจริงเป็น 2 มาตรฐาน ทำให้เกิดความสับสน เช่น เมื่อต้องการเก็บภาษีจากนายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร บุตรของ พ.ต.ท.ทักษิณ กรณีได้หุ้นชินคอร์ปมาเป็นกรรมสิทธิ์จากบริษัท แอมเพิลริชฯ คตส.เร่งรัดให้กรมสรรพากรประเมินเรียกเก็บภาษี ทั้งที่หุ้นดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์โดยชอบของบุคคลทั้งสองตามกฎหมาย แต่เมื่อจะเอาผิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และต้องการให้เงิน 77,000 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน กลับกล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ว่า หุ้นจำนวนเดียวกันนั้นยังเป็นกรรมสิทธิ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณและคู่สมรสอยู่ แล้วกล่าวอ้างใหม่ว่า ผู้รับโอนนั้นเป็นเพียงผู้ถือหุ้นแทน พ.ต.ท.ทักษิณ
“การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ โอนหุ้นให้กับบุตรในราคาพาร์ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ อยากให้ลูกได้เรียนรู้ถึงการทำธุรกิจว่า ต้องมีต้นทุน ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว หากพ่อให้หุ้นลูก สามารถทำโดยเสน่ห์หาได้ ทำไมถึงต้องมากล่าวหาว่าการซื้อขายไม่ถูกต้อง เพราะให้ฟรียังทำได้เลย” นายฉัตรทิพย์กล่าว
ส่วนข้อกล่าวหาที่ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ต่อธุรกิจนั้น นายฉัตรทิพย์ กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เพราะในกระบวนการนิติบัญญัติเป็นความรับผิดชอบของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีอำนาจไปก้าวก่ายกระบวนการออกกฎหมายของรัฐสภาได้ โดยเฉพาะการออกพระราชกำหนดแก้ไขภาษีสรรพสามิต ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ จะมากล่าวอ้างโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ และหากกฎหมายดังกล่าวไม่เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์จริง เหตุใดผู้มีอำนาจจึงไม่ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว
นายฉัตรทิพย์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ ปล่อยเงินกู้ช่วยเหลือประเทศพม่าว่า เป็นไปตามสนธิสัญญาข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องบริหารราชการ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และเรื่องดังกล่าวส่งผลให้ไทยได้รับสัมปทานก๊าชธรรมชาติจากพม่ามูลค่านับแสนล้านบาท และที่สำคัญ พ.ต.ท.ทักษิณและคู่สมรสไม่มีส่วนได้เสีย เป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นในกิจการทั้งหมดที่คณะอนุกรรมการไต่สวนกล่าวอ้างเลย
นายฉัตรทิพย์ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อกกล่าวหาที่ระบุว่าร่ำรวยผิดปกติ ก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน เพราะจำนวนหุ้นที่มีการซื้อขายมีอยู่เท่าเดิม ตั้งแต่สมัยก่อตั้งบริษัทชินคอร์ป จนโอนไปให้ผู้รับโอน และเมื่อมีการขายในตลาดหลักทรัพย์จำนวนหุ้นก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น หากพิจารณาว่าหุ้นเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มมากขึ้นผิดปกติ หรือได้มาโดยไม่สมบูรณ์ จึงไม่เป็นความจริง
“วันนี้ ได้ยื่นเอกสารหลักฐานพร้อมกับคำชี้แจงกว่า 1,000 หน้า และได้ขอเพิ่มพยานบุคคลประมาณ 100 กว่าปาก โดยเป็นคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องของการออกกฎหมาย เช่น ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา รวมทั้งบอร์ดในบริษัท กสท. ทศท. ซึ่งยืนยันว่า การขอเพิ่มพยานไม่ได้เป็นการประวิงเวลาของคดี เพราะยังไม่ได้มีการสอบปากคำพยานเลย ซึ่งเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะใช้เวลาพอสมควร แต่จะได้สอบปากคำพยานทุกปากหรือไม่ ขึ้นกับ คตส.ที่จะพิจารณา” นายฉัตรทิพย์.-สำนักข่าวไทย
อัพเดตเมื่อ 2008-03-06 18:12:33