แถลงการณ์ภาคประชาชนไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรฯ ชี้พันธมิตรฯ เป็นเพียงภาคส่วนเดียวเท่านั้น มิใช่ภาคประชาชนทั้งหมด แย้งรัฐบาลแห่งชาติไม่ใช่ทางออกของวิกฤต
สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ณ ปัจจุบัน โดยการชุมนุมยืดเยื้อยึดทำเนียบรัฐบาลของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งอ้างตนว่าเป็น “การเมืองภาคประชาชน”ได้ปฏิเสธการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคไม่ว่าใครเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม พร้อมกับได้เสนอการเมืองใหม่โดยการให้ตั้งรัฐบาลประชาภิวัฒน์ขึ้น ตลอดทั้งมีบางฝ่ายเสนอให้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติกลุ่มผู้ใช้แรงงาน องค์กรภาคประชาชน นิสิตนักศึกษา และกลุ่มอิสระต่างๆ ที่ได้ลงนามในแถลงการณ์ฉบับนี้ มีความคิดเห็นและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1. เราขอยืนยันว่าภาคประชาชนไม่เท่ากับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แม้ทางกลุ่มพันธมิตรจะอ้างว่าเป็นภาคประชาชน แต่กลุ่มพันธมิตรเป็นเพียงภาคส่วนเดียวเท่านั้น มิใช่ภาคประชาชนทั้งหมด และกลุ่มพันธมิตรไม่ใช่พื้นที่ทางเลือกของภาคประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากว่า หลักการสำคัญของการเมืองภาคประชาชนที่แท้จริงนั้น มีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ต้องสร้างสรรค์พัฒนาประชาธิปไตยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ไม่ปฏิเสธการเมืองระบอบรัฐสภา เคารพในความเสมอภาคของประชาชนทุกคนตามหลักหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง มิใช่เคลื่อนไหวสู่การรัฐประหาร ระบอบอำมาตยาธิปไตย หรือระบอบเผด็จการอำนาจนิยมแบบใหม่ ดังข้อเสนอการเมืองใหม่ 70:30 ของพันธมิตร การเมืองภาคประชาชนนั้นต้องเป็นอิสระจากพรรคการเมืองในระบบรัฐสภาที่เป็นอยู่ทุกพรรคและเป็นอิสระจากระบบราชการ ไม่ปลุกระดมให้ประชาชนมีความเกลียดชังผู้เห็นต่าง เคลื่อนไหวอย่างมีเหตุผลและความชอบธรรม
2. เราเชื่อว่าทางออกของความขัดแย้งและการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองในปัจจุบัน มิใช่การเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งระหว่างรัฐบาลหรือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หากแต่เป็นการที่สังคมต้องหันมาใช้เหตุผลและวิจารณญาณในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย สื่อมวลชนต้องนำเสนอข่าวในเชิงสร้างสรรค์ ไม่เลือกข้างใดข้างหนึ่งหรือนำเสนอข่าวในประเด็นที่หมิ่นเหม่ต่อการปลุกระดมให้เกิดความแตกแยกในสังคม
3. เราไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลประชาภิวัฒน์และรัฐบาลแห่งชาติ เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้มีการใช้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง หรือต้องใช้วิธีการรัฐประหาร และเป็นการเปิดช่องทางให้กลุ่มอภิสทธิ์ชนเข้ามามีอำนาจโดยปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐบาลประชาภิวัฒน์และรัฐบาลแห่งชาติจึงไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหลักสากลในนานาอารยะประเทศ
4.เราเชื่อมั่นว่า การแก้ไขปัญหาวิกฤตการเมืองปัจจุบัน กลไกระบอบรัฐสภาต้องดำเนินกระบวนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลบริหารประเทศโดยฟังเสียงสะท้อนจากกลุ่มองค์กรต่างๆอย่างรอบด้าน และรัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาของคนจนที่เดือดร้อนโดยเร่งด่วน เช่น ปัญหากรณีการล้มสหภาพแรงงานโฮย่า ปัญหาของสมัชชาคนจน ปัญหาการให้เอกชนเช่าพื้นที่อนุรักษ์ ฯลฯ และดำเนินการยกเลิกและแก้ไขกฏหมายหลายฉบับที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะในยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติสนช.ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารโดยเร่งด่วน
5. เราขอเรียกร้องให้องค์กรประชาชน ผู้รักความเป็นธรรม ผลักดันให้สังคมไทยเป็นสังคมรัฐสวัสดิการที่รัฐมีหน้าที่ต้องสร้างหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนโดยมาตราการเก็บภาษีที่ก้าวหน้าซึ่งจะสร้างความเสมอภาค เป็นธรรมในสังคมไทย มิใช่เพียงแค่นโยบายประชานิยมอย่างที่เป็นอยู่เท่านั้น
วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2551
รายนามองค์กรและผู้ร่วมแถลงการณ์
สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส
สหภาพผู้บังคับบัญชา ITF
ศูนย์ศึกษาสหภาพแรงงาน
เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ
แนวร่วมกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ
เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ
กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อประชาธิปไตย ภาคเหนือ
กลุ่มนักศึกษาปริญญาโทเพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ(ปรส.)
สำนักเรียนรู้การกระจายอำนาจและประชาธิปไตยท้องถิ่น
ชมรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ ตอนล่าง
กลุ่มประกายไฟ
เครือข่ายสังคมประชาธิปไตย (กลุ่มอิสระ ไม่สังกัดสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
กลุ่มสังคมวิจารณ์ (กลุ่มอิสระ ไม่สังกัดสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ ภาคอีสาน กลุ่มเยาวธาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาอีสาน (สนนอ.)
มหาวิทยาลัยถนนคนเดิน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน(กสส.)