คอลัมน์ : ทอดกาลผ่านยุค
นอกจากหลวงพ่อพุทธทาสแล้ว ยังมีปัญญาชนสยามอีกหลายท่านที่รู้จักและรับรู้ผ่านงานเขียนของสามเณรกรุณา กุศลาสัย และต่อมาเมื่อกลับประเทศไทย จึงได้ร่วมงานหนังสือพิมพ์ด้วยกัน
“นอกจากนี้พ่อยังเคยเขียนเรื่องส่งมาให้หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” รายวัน (สมัย คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ และคุณมาลัย ชูพินิจ เป็นบรรณาธิการ) และเพื่อเป็นการตอบแทน พ่อก็ได้รับวารสารดังกล่าวนานมาแล้วจากประเทศไทยเป็นระยะๆ ทั้งนี้ช่วยใหพ่อได้มีโอกาสทราบข่าวคราวความเป็นไปในประเทศไทยได้บ้าง แต่ในสมัยนั้นการติดต่อทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศไทยกับอินเดีย ต้องใช้เวลาร่วมเดือน เพราะการอากาศไปรษณีย์ยังไม่เจริญเท่าปัจจุบัน
ที่มหาลัยวิศวภารติ ศานตินิเกตัน
การศึกษาของพ่อได้เป็นไปอย่างมีระเบียบและเพียบพร้อมด้วยเนื้อหาสาระมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะที่นี่มีห้องสมุดและตำรับตำราให้ศึกษาค้นคว้าอย่างสมบูรณ์ พ่อได้ศึกษาภาษาสันสกฤตต่อกับบัณฑิต หซารี ประสาท ทวิเวที (Pandit Hazari Prasad dwivedi) ผู้เป็นปราชญ์ในภาษาฮินดูและสันสกฤต และได้เข้าสอบในระดับต้น (เขาแบ่งการสอบเป็น 3 ระดับ คือ ต้น กลาง และปลาย) ได้เมื่อ พ.ศ.2483 พ่อได้สมัครเข้าเรียนในภาควิชาภารตวิทยา (Indology หรือในปัจจุบันเรียกว่า Indian Studies) ซึ่งว่าด้วยวัฒนธรรมของอินเดีย มีวรรณคดี ศาสนา และปรัชญาเป็นหลัก
ในช่วงเวลาที่พ่อศึกษาอยู่นั้น ท่านมหากวี รพินทรนาถ ฐากูร ได้เข้าสู่วัยชรามากแล้ว กล่าวคือมีอายุร่วม 80 ปี ท่านได้หยุดการสอนด้วยตนเอง แต่ยังคงเป็น “ร่มโพธิ์ร่มไทร” ในกิจการทุกประการของมหาวิทยาลัย พ่อได้เคยเข้าพบและสนทนากับท่าน ท่านได้เล่าให้พ่อฟังถึงการมาเยือนประเทศไทยของท่านใน พ.ศ.2470 (รัชกาลที่ 7 ) ท่านมอบภาพถ่ายให้พ่อพร้อมด้วยลายเซ็นไว้เป็นอนุสรณ์ด้วย (รพินทรนาถ ฐากูร ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2484 ก่อนที่ญี่ปุ่นจะบุกประเทศไทยไม่กี่เดือน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้บุกถึงชายแดนด้านทิศตะวันอกของอินเดีย คือเมืองอิมผาล (Imphal) แคว้นอัสสัมแต่ได้ถูกกองทหารอังกฤษ-อินเดีย ตีพ่ายกลับเข้ามาในเขตพม่าตามเดิม)
พ่อลืมเล่าไปว่า ระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่สารนาถนั้น พ่อได้มีโอกาสคลุกคลีกับชีวิติของชาวอินเดียอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ก็เพราะว่า ท่านอานันท์ อาจารย์ของพ่อมีมิตรสหายในวงการครูบาอาจารย์ และนักชาตินิยมอยู่แทบจะทุกหัวระแหงของอินเดีย (สมัยนั้นอินเดียยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษและยังต่อสู้เพื่อเอกราชอย่างขะมักเขม้น)ท่านอานันท์เองก็เป็นนักชาตินิยมระดับแนวหน้า เคยติดคุกติดตะรางการเมืองมาอย่างโชกโชน ท่านเคยพาพ่อไปร่วมประชุมใหญ่พรรคคองเกรส (พรรคการเมืองของอินเดีย
ซึ่งกำลังรณรงค์เพื่อเอกราชและเสรีภาพของอินเดียอยู่ในขณะนั้น) พ่อเคยไปหาบัณฑิตยวาหระลาล เนห์รู กับท่าน ณ คฤหาสน์อานันทะภวัน ในเมืองอัลลาหะบาด บัณฑิตเนห์รู ได้เซ็นชื่อในรูปของท่านซึ่งพ่อยังเก็บไว้เป็นที่ระลึกตราบจนทุกวันนี้ (บัณฑิตยวาหระลาล เนห์รู เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย หลังจากที่อินเดียได้รับเอกราชใน พ.ศ.2490 และเป็นบิดาของนางอินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ซึ่งถูกยิงตายเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2527)
ต่อมา เมื่อพ่อไปศึกษาต่อที่ศานตินิเกตัน พ่อยังได้ติดต่อกับท่านโดยทางจดหมาย ระหว่างที่พ่อถูกคุมขังในคุกการเมืองที่ตำบลลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร (พ.ศ.2501-2509) พ่อได้มีจดหมายไปขออนุญาตแปลหนังสือ “พบถิ่นอินเดีย” (THE DISCOVERY OF INDIA) ของท่าน ซึ่งท่านก็ได้มีจดหมายตอบอนุญาตพ่อมาโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น
แม้จนทุกวันนี้ พ่อยังระลึกถึงความหลังในอินเดียด้วยความภาคภูมิใจ ภาคภูมิใจว่าระหว่างที่อยู่อินเดียนั้น พ่อได้มีโอกาศสังสรรค์เสวนากับบุคคลชั้นหัวกะทิ และชั้นผู้นำของอินเดีย ได้เรียนรู้ถึงสิ่งดีสิ่งงามในมรดกทางวัฒนธรรมของอินเดีย ซึ่งมีอายุยาวนานหลายพันปี ความรู้และประสบการณ์เหล่านี้ ซึ่งแน่นอน ย่อมมีทั้งในทางบวกและทางลบ ได้เป็นเหมือนประทีปให้แสงสว่างในการเดินทางแห่งชีวิตของพ่อ ช่วงเวลาที่พ่อนั่งจับปากกาพรรณนา “ความหลัง” ให้ลูกฟังเปรียบเสมือนเป็น “สายัณห์” แห่งชีวิตของพ่อ สายัณห์ที่ความเร่าร้อนและเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า
อันเกิดจากการเดินทางได้ทุเลาเบาบางลงมากแล้ว ในช่วงเวลาเช่นนี้ซึ่งมิช้ามินาน สายัณห์ที่กล่าวถึงก็จะกลายเป็น “รัตติกาลอันมืดมิด” ตามธรรมชาติของโลก พ่ออดจะคิดไม่ได้ว่า เป็นกุศลผลบุญของพ่อจริงๆ ที่ได้บวชเป็นสามเณรตามพระโลกนาถไปในครั้งกระโน้น เพราะมิฉะนั้นแล้วก็ยากที่จะคาดการณ์ได้ว่า ชะตาชีวิตของพ่อจะเป็นประการใด”
อ.กรุณา กุศลาสัย