คอลัมน์ : ละครชีวิต
วันนี้ 19 กันยายน เป็นวันครบรอบ 2 ปีเหตุการณ์รัฐประหาร ซึ่งถือเป็นวันสำคัญยิ่งกับคนไทยทุกคน
ที่ผมบอกว่าเป็นวันสำคัญ เพราะว่าหลังจากวันที่ 19 กันยายน 2549 ชีวิตคนไทยทุกคนก็ต้องนับถอยหลัง ประสบพบเจอกับความหายนะ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม
ประชาชนทุกสาขาอาชีพต้องทำมาหากินด้วยความยากลำบาก พ่อค้าแม่ค้าต้องประสบมรสุมด้วยพิษเศรษฐกิจ บางครอบครัวถึงกับต้องสังเวยชีวิต
ท่านเคยถามตัวเองไหมว่า 2 ปีของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ สังคมไทยได้หรือเสียอะไร
นั่งคิดพิจารณา ผมยังไม่เห็นข้อดีของการทำรัฐประหารเลย เพราะมีแต่ข้อเสีย ทหารออกมาจากกรมกอง เดินกันให้ว่อนตามท้องถนน สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างใหญ่หลวง
อย่างไรก็ตาม หลังจากวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งถือเป็น “ยุคทหารครองเมือง” มีนายทหารเข้าไปนั่งบริหารงานในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ มากมาย
ทหารเหล่านี้เข้าไปแทรกแซงเพื่อกำหนดให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามมานั้น “ไร้ความเป็นประชาธิปไตย” ให้มากที่สุด
เมื่อทหารออกมากดดันมากๆ จึงทำให้เกิด “วีรบุรุษประชาธิปไตย” ซึ่งเกิดขึ้นมากมาย ชนิดที่เรียกว่าไม่มียุคไหนในประวัติศาสตร์ที่มีนักต่อสู้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยเท่าครั้งนี้
คนแรก “ลุงนวมทอง ไพรวัลย์” อายุ 60 ปี ที่ก่อเหตุสลดในเช้าวันที่ 30 กันยายน 2549 ได้ขับรถแท็กซี่พุ่งเข้าชนรถถังซึ่งปฏิบัติหน้าที่เข้าเวรรักษาความปลอดภัยลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อประท้วงคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย
กระทั่งต่อมา “ลุงนวมทอง” ผูกคอตาย บริเวณหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
การเสียชีวิตของ “ลุงนวมทอง” ครั้งนั้นแสดงให้เห็นว่ามี “จุดยืนต่อต้านเผด็จการทหาร” อย่างชัดเจน
สังคมควรร่วมเคารพ เชิดชู ยกย่อง เป็นวีรชนนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ต่างจากวีรชนในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่ต่อสู้เสียสละเพื่อประชาธิปไตยและสังคมส่วนรวมมาในหลายเหตุการณ์ในอดีต
ถัดจากนั้นเกือบ 2 ปี เราก็ต้องสูญเสีย “วีรบุรุษประชาธิปไตย” อีกครั้ง หลังจากนายณรงศักดิ์ กรอบไธสง ก่อเหตุปะทะกับโจรกบฏพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2551
ศพของนายณรงศักดิ์ กรอบไธสง จะย้ายจากวัดเสมียนนารีไปตั้งศพอยู่ที่วัดท่าทุ่งนา ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี มีกำหนดจะทำการฌาปนกิจศพ ในวันเสาร์ที่ 20 กันยายน 2551 เวลา 14.00 น.
นอกเหนือจาก “วีรบุรุษประชาธิปไตย” ทั้ง 2 ท่านที่ต้องยกย่องกันแล้ว ยังเกิด “นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” อีกมากมายนับไม่ถ้วน
มีบางคนถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าใครคือนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ผมก็ตอบกลับไปว่า ใครที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับอำนาจเผด็จการก็ถือว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งหมด
โดยเฉพาะ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ที่ได้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอด สู้จนกระทั่งนาทีสุดท้าย
ถือเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับนักสู้รุ่นใหม่ที่จะเดินตามรอยอดีตนายกรัฐมนตรีที่ยิ่งใหญ่คนนี้
วันนี้ ครบรอบ 2 ปี เหตุการณ์รัฐประหาร ผมขอเชิญชวนประชาชนนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมารวมตัวกันที่ท้องสนามหลวงอีกครั้งตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป
มาช่วยกันแสดงเจตนารมณ์ว่าพวกเราพร้อมจะ “ต่อสู้” และไม่ยอมก้มหัวให้กับอำนาจ “เผด็จการ” อีกต่อไป!
ลวดหนาม