ผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญให้ นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะไปจัดรายการอาหาร “ชิมไปบ่นไป” ตามความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน นั้น ได้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ ที่ฮือฮาอย่างยิ่งสำหรับกระบวนการยุติธรรมของไทย
ขณะที่บนบรรทัดฐานเดียวกันก็ได้ถูกย้อนเป็นคำถามกลับไปที่ตุลาการรัฐธรรมนูญบางคน โดยเฉพาะนายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และเชื่อได้ว่ายังคงสอนอยู่ในปัจจุบัน ทั้งที่ตำแหน่งตุลาการ ก็มีการห้ามความเป็นลูกจ้างไว้เช่นเดียวกัน
โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า การไปรับจ้างสอนหนังสือของนายจรัญ ก็น่าจะเข้าข่ายความผิดมาตรา 207 (2) และ (3) และมาตรา 209 ในกรณีไปเป็นลูกจ้างองค์กรอื่น ๆ
ดังนั้นหากใช้บรรทัดฐานเดียวกันกับกรณี การไปเป็นลูกจ้างดำเนินรายการโทรทัศน์ “ชิมไปบ่นไป” ของ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี แล้ว นายจรัญ ก็สมควรต้องออกจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน ตามที่มาตรา 207 ระบุถึงการกระทำต้องห้ามดังกล่าวคือ
(2) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ
(3) ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันหรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด (ข้อความเช่นเดียวกับมาตรา 267)
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า นายจรัญ ภักดีธนากุล มีชื่อเป็นอาจารย์พิเศษ และยังสอนหนังสืออยู่ในหลายสถาบัน คือที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ วิชาที่สอน 300-306 กฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิชาที่สอน 0801236 พยาน และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต และยังจัดรายการเวทีความคิด วิทยุเอฟเอ็ม 96.5 เมกะเฮิรตซ์ เวลา 20.00-21.00 น.
ล่าสุดที่ยังปรากฏหลักฐานชัดเจนที่เว็บไซต์ ม.รังสิต http://www.rsu-lawonline.com/news_detail.php?bn_id=1529 ถึงการสอนหนังสือของนายจรัญ ยังมีให้เห็น โดยได้เปิดการติวสรุปล่วงหน้าวิชา LAW312 กฎหมายลักษณะพยาน บทที่ 1-15 ของคณะนิติศาสตร์ ขึ้นในวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา และที่สำคัญนัดหมายติวกันที่ศาลรัฐธรรมนูญ
ถึงจะมีนักวิชาการออกมาให้ความเห็นต่างๆ นานา ว่าไม่เหมาะสม ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่อดีต สสร. ก็ออกมาทำหน้าที่เป็นแม่ไก่กางปีกปกป้องลูกเจี๊ยบอย่างนายจรัญว่าคุณสมบัติไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่า การสอนหนังสือ ถือเป็นการบริการทางวิชาการ ไม่ใช่การดำเนินธุรกิจเพื่อหวังผลกำไร ทั้งที่มีการจ่ายค่าตอบแทนอันน่าจะเข้าข่ายการเป็นลูกจ้างชัดแจ้ง
จึงเกิดเป็นความคิดความเห็นว่า เมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 207 กำหนดไว้ชัดเจนเช่นนี้แล้ว ว่าสเป็กของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ต่างไปจากนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ทางที่ดี นายจรัญ ควรลาออกเสียก่อนที่จะถูกประชาชนเข้าชื่อกันขับไล่
แม้กรณีของนายสมัคร และนายจรัญ อาจมีข้อเท็จจริงและองค์ประกอบแตกต่างกันในหลายประเด็น แต่เมื่อมีข้อสงสัยในเรื่องดังกล่าวและเพื่อดำรงความน่าเชื่อและศรัทธาของศาลรัฐธรรมนูญต่อสาธารณชน ศาลรัฐธรรมนูญจึงควรทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง
แม้จะมีการโจมตีในรายการเพื่อนพ้องน้องพี่ และรายการความจริงวันนี้ มาแล้วกว่า 1 สัปดาห์ แต่นายจรัญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คนอื่นๆ ก็ไม่ออกมาตอบโต้ หรือแก้ข้อกล่าวหาแต่อย่างใด ดังนั้น คงต้องขอความร่วมมือจากประชาชนทั้งหลายให้ช่วยกันส่งจดหมายไปทวงถามเรื่องดังกล่าว ยังสำนักงานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการแสดงพลังประชาชนให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เห็น
และหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือประชาชนที่สงสัยว่า พฤติการณ์และการกระทำของนายจรัญขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็สามารถเข้าชื่อกันยื่นต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วินิจฉัยหรือถอดถอนนายจรัญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270-271 ได้