คอลัมน์ : ฮอตสกู๊ป
เนื่องในโอกาสครบรอบ 32 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 วิภา ดาวมณี ได้เขียนบทความชื่อ “ตุลากับพื้นที่ทางการเมืองในธรรมศาสตร์” ในเว็บไซต์ประชาไท มีเนื้อหาดังนี้
เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นับเป็นจุดผกผันทางการเมืองครั้งสำคัญ ซึ่งบัดนี้ใครเป็นผู้วางแผน ก่อเหตุการณ์และสั่งฆ่านักศึกษา ประชาชนในวันนั้น ยังเป็นความลับดำมืดที่รอการชำระประวัติศาสตร์ ถ้าเราจะเข้าใจ 6 ตุลาคม 2519 ต้องเริ่มที่ 14 ตุลาคม 2516 กระแสการต่อสู้ที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม เป็นกระแสที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาพลังการผลิตแบบทุนนิยมภายใต้เผด็จการทหารหรือระบบทุนนิยมโดยรัฐ เช่นเดียวกับประเทศในเอเชียอาคเนย์เพื่อนบ้านของไทยเราอย่างอินโดนีเซีย
ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อฟื้นฟูบูรณะประเทศ และเอาใจสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งในขณะนั้น มีผลทำให้ชนชั้นกลางไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว ระบบทุนนิยมมีผลให้ระบบการศึกษาขยายตัวเพื่อสร้างมืออาชีพมาทำงานรับใช้ตลาด จำนวนนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยได้เพิ่มขึ้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกทำให้เป็นตลาดวิชา ทำให้วิชาการที่มุ่งประสิทธิประศาสน์ความคิดประชาธิปไตย ได้เปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตข้าราชการมืออาชีพในหลากหลายสาขามากขึ้น จนปี 2511 วิทยากร เชียงกูล นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ขณะนั้นได้ถามหาจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัย และปลุกกระแสการแสวงหาความหมายกลับมาในบทกวี “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” ที่ว่า
“...ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง
ฉันจึง มาหา ความหมาย
ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย
สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว...”
นักศึกษานักกิจกรรมในยุคนั้นต่างรู้จักดี กระแสความตื่นตัวทางการเมืองในเชิงอุดมคติตามแนวคิดสังคมนิยมสายต่างๆ ในช่วงสงครามเย็นมีผลกระทบต่อความคิดของคนหนุ่มสาวในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ผนวกกับภาวะทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายจากการคอร์รัปชั่นอันมโหฬารของชนชั้นปกครอง ส่งผลให้กระแสการต่อสู้เพื่อโค่นล้มเผด็จการทหาร ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ทวีมากขึ้น อันนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งผลของการต่อสู้ครั้งนั้นถือว่าประชาชนได้รับชัยชนะ
35 ปีมาแล้ว สังคมไทยอาจจะลืมเลือนคุณูปการของการต่อสู้ 14 ตุลา 2516 ไป ทั้งๆ ที่การลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาประชาชนในครั้งนั้นได้เปิดโอกาสให้ประชาธิปไตยเบ่งบาน สายธารความคิด และอุดมการณ์อันหลากหลายได้กลับมามีที่ยืน เช่น การยกย่อง “อ.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ให้ได้รับเกียรติที่คู่ควร มีการผลักดันกฎหมายคุ้มครองแรงงานและประกันสังคม การคัดค้านการประกวดนางสาวไทยหรือประกวดขาอ่อน ที่สะท้อนการกดขี่มอมเมาสตรี การขับไล่ฐานทัพอเมริกัน ต่อต้านการขึ้นค่ารถเมล์ การเรียกร้องของชาวนา หลายกิจกรรมและหลากกระบวนล้วนเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้
พลังคนหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัยต่างตื่นตัวรับขานกระแสประชาธิปไตย นักศึกษาหลายพันคนพยายามลงสู่ชนบทเพื่อประสานตนเองกับชาวนา และเดินเข้าสู่โรงงงานเพื่อร่วมทุกข์ร่วมสุขกับกรรมกร ชาวสลัม คนจนเมือง และผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายเป็นที่รวมตัวของนักกิจกรรมจากทุกมหาวิทยาลัย จนชนชั้นปกครองที่ไม่ได้ถูกขับไล่ไปพร้อมกับเผด็จการทหารในอดีต เนื่องจาก 14 ตุลา ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐเก่า เพียงแต่เปลี่ยนโฉมหน้าชนชั้นปกครองและเปิดโอกาสให้พ่อค้านายทุนสัมปทานทั้งหลายเข้ามาแบ่งปันผลประโยชน์กัน พวกเขาเหล่านี้ร่วมกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยมต่างเกรงกลัวจะสูญเสียอำนาจ จากการตื่นตัวของพลังนักศึกษาประชาชน
ปี 2518-2519 จึงเป็นปีที่กระบวนการสังหารกลุ่มก้าวหน้าดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งผู้นำกรรมกร ชาวนา นักศึกษา อ.บุญสนอง บุณโยทยาน อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยก็ตกเป็นเหยื่อการลอบสังหาร เดือนสิงหาคม ปี 2519 เมื่อทรราชประภาสกลับเข้ามาในไทย และมีการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พวกอันธพาลการเมืองฝ่ายตรงข้ามก็สาดอาวุธเข้าไปในมหาวิทยาลัย และซักซ้อมเพื่อเตรียมการปราบใหญ่ จนก่อน 6 ตุลาคมไม่นานทรราช ถนอม กิตติขจร ก็ใช้การบวชเณรบังหน้ากลับเข้าไทยอีกครั้ง หลังจากถูกขับไล่ออกไปในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ชุมพร ทุมไมย และ วิชัย เกษศรีพงษา 2 พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ผู้ปฏิบัติงานของกลุ่มแนวร่วมต่อต้านเผด็จการในขณะนั้น ได้ออกไปปิดโปสเตอร์ขับไล่การกลับมาของทรราชถนอม ผลก็คือ เขาทั้งสองถูกตำรวจนครปฐม จับแขวนคอไว้กับรั้วที่หน้าโรงงานร้างแห่งหนึ่ง แล้วละครสะท้อนภาพความโหดร้ายของกลไกรัฐก็เริ่มต้นที่ลานโพธิ์ โดยกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ เพื่อบอกกล่าวเพื่อนชาวธรรมศาสตร์ให้เข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากวันนั้นการชุมนุมเพื่อต่อต้านทรราช จับฆาตกรโหด ก็ลุกลาม จนนักศึกษาประชาชนเรือนหมื่นมาชุมนุมกันในบริเวณมหาวิทยาลัย
…เช้าของวันที่ 6 ตุลา 2519 หลังจากระเบิดเอ็ม 79 ของบุคคลในเครื่องแบบถูกยิงมายังกลางสนามฟุตบอล ขณะที่กำลังมีการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ทันทีที่ระเบิดตกลงมา หลายศพสังเวยการก่ออาชญากรรมของรัฐ นับแต่วินาทีนั้นกระสุนสงครามอีกหลายพันนัดจากกระบอกปืนของตำรวจ ได้กระหน่ำยิงลงมาจากกำแพงด้านพิพิธภัณฑ์ จนนักศึกษาประชาชนบริเวณหน้าหอใหญ่ตายเกลื่อน
ก่อนที่จะเปิดทางให้อันธพาลและกลุ่มจัดตั้งอย่างกระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้าน ตลอดจนตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าไปรุมทำร้ายผู้ร่วมชุมนุม ทั้งทุบตี ลากคอไปตามสนามฟุตบอล แขวนคอกับต้นมะขามสนามหลวง และเผานั่งยางทั้งเป็นด้านหน้ามหาวิทยาลัย โดยการกล่าวหาว่ามีการซ่องสุมอาวุธภายในมหาวิทยาลัย ลบหลู่เบื้องสูง และมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
เจตนารมณ์ของผู้สถาปนามหาวิทยาลัยเมื่อปี 2477 คือ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเคยเป็นบุคคลต้องห้าม และตกเป็นเหยื่อของการถูกใส่ร้ายเกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูงมาแล้วในสมัยหนึ่ง ก่อนจะกลับมาฟื้นคืนความสำคัญในฐานะรัฐบุรุษเช่นปัจจุบัน จุดประสงค์หลักที่สร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขณะนั้นสร้างขึ้นเพื่อสนองตอบการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคใหม่ภายหลังการปฏิวัติ 2475 มหาวิทยาลัยจึงมีภารกิจในการสร้างบุคลากรที่มีความเข้าใจในกฎหมาย การเมืองและการปกครองเพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตย และไม่แปลกที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของตำนานการต่อสู้ทางการเมืองหลายเรื่องราว
ภายหลังการจัดงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลาในปี 2539 เจตนารมณ์ของวีรชนในเหตุการณ์ 6 ตุลา ได้รับการฟื้นฟูให้มีที่ยืนในสังคมไทยอีกครั้ง นักต่อสู้ ผู้เป็นเหยื่อ และผู้ผ่านเหตุการณ์ ได้รับการขนานนามว่า “คนตุลา” หลายคนต่างได้ดิบได้ดี มีตำแหน่งทางการเมืองทั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น สถานะ ฐานะทางเศรษฐกิจ และชีวิตเปลี่ยนไป ต่างความคิด หลากค่าย หลายสี
เพื่อตอกย้ำอาชญากรรมของรัฐ บัดนี้เข้าสู่ปีที่ 32 ของการรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา หากมิใช่เพราะประชาชนร่วมกันสนับสนุน เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไปสร้างอนุสรณ์ 6 ตุลา ที่เหล่าวีรชนที่ถูกข้อกล่าวหาร้ายแรง จะสามารถสร้างขึ้นในประเทศไทย แต่เพราะทุกตารางนิ้วของธรรมศาสตร์ คือ ดินแดนแห่งเสรีภาพ ประติมานุสรณ์ 6 ตุลา จึงได้สร้างขึ้นอย่างสง่างาม พิธีเปิดประติมานุสรณ์ 6 ตุลา ในปีที่ 2543 ณ บริเวณสวนประวัติศาสตร์ ด้านหน้าหอประชุมใหญ่ เป็นพิธีเรียบๆ ง่ายๆ ที่ไม่ต้องมีคนใหญ่คนโต หรืออภิสิทธิ์ชนที่ไหนมาเป็นประธาน เสียงเพลงอินเตอร์เนชั่นแนลอันมีความหมายดังกระหึ่มบนพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
หลายปีผ่านมาผู้คนที่มาร่วมรำลึก ทั้งชาวประชาคมธรรมศาสตร์ นักศึกษา อาจารย์ นักวิชาการ ประชาชน และสื่อมวลชน ดูบางตา คนที่เดินผ่านประติมานุสรณ์แห่งนี้อยู่หลายครั้ง หลายคราว ไม่สนใจว่าเรื่องราวเบื้องหลัง ประติมานุสรณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อการเรียนรู้ ตระหนัก และสำนึกถึงความสำคัญ จึงเป็นเสมือนก้อนหินขนาดใหญ่
ใครจะรู้ว่าครั้งหนึ่งประชาชนผู้เป็นสามัญชนทั้งหลายได้เสียสละชีวิตเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย? 6 ตุลา คืออะไร? การชำระประวัติศาสตร์หน้านี้จะเริ่มเมื่อไร? พ่อแม่ที่สูญเสียลูกหลานไปในวันนั้นจะได้รับการเยียวยา ชดเชยหรือไม่ อย่างไร? การเมืองเรื่องพื้นที่ หรือพื้นที่ทางการเมืองเพื่อธำรงไว้ซึ่งอุดมการณ์ เจตนารมณ์ของวีรชน กระทั่ง อุดมการณ์ในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเมื่อ 75 ปีที่แล้ว ยังมีอยู่หรือไม่?
การเปลี่ยนแปลงนโยบายกระทั่งปรัชญาการศึกษา จากการเป็นมหาวิทยาลัยเปิดเพื่อสามัญชน คนยากคนจน ให้กลายเป็นการสร้างโอกาสทองของคนมีฐานะ และบริการลานจอดรถขนาดใหญ่ในวันนี้ อาจจะสะท้อนภาพการใช้พื้นที่ทางการเมืองของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี และยังบ่งบอกถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสังคมไทยในขณะนี้