“...การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ของบ้านเมืองนั้น มักจะมีข่าวเล็ดลอดออกมาก่อนเสมอ ต่อเมื่อมีข่าวให้คนสนเท่ห์ใจแล้ว ก็จะมีการปล่อยข่าวให้ความสนใจนั้นหันเหไปเสียอีกทางหนึ่ง เพื่อกลบร่องรอยการคิดกระทำการจริง...”
ในหนังสือ สารคดีประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตั้งแต่ ร.ศ.130 จนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ทางการเมือง 43 ปี แห่งระบอบประชาธิปไตย ที่เขียนโดย วิเทศกรณีย์ พิมพ์จำหน่ายเมื่อปี 2518 ซึ่งข้าพเจ้านำมาถ่ายทอดสู่ท่านผู้อ่านวันจันทร์ที่แล้วนั้น เป็นบทที่ 3 ของหนังสือซึ่งมีหัวข้อเรื่องว่า ‘ลางร้ายใกล้ปฏิวัติ’
ในวันนี้ข้าพเจ้าขอคัดความจากบทที่ 4 ซึ่งมีชื่อว่า เริ่มงานสมโภชพระนคร มาถ่ายทอดให้อ่านต่อไปอีกสักหนึ่งบทดังนี้
...จะเป็นเพราะผู้ใดใครก็ตาม ได้พยากรณ์ไว้ว่า “พระราชวงศ์จักรีจะหมดอำนาจเมื่อครบ 150 ปี” หรือจะเป็นเพราะเหตุใดก็ตาม ในที่สุดงานฉลองครบครอง 150 ปี ซึ่งพระราชวงศ์จักรีได้ปกครองประเทศสยามมานั้น ก็ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2475 งานมหกรรมสมโภชครั้งนี้นับว่าเป็นงานใหญ่โตมโหฬารสมพระเกียรติทุกประการ นอกจากงานสมโภชพระมหานครแล้ว ยังมีการเฉลิมฉลองอนุสาวรีย์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์เข้าอีกงานหนึ่ง จึงนับว่าเป็นงานเกรียงไกรมโหฬาร ยิ่งกว่าการจัดงานใดที่แล้วมาในงานอดีต และก็เป็นวาระสุดท้ายของการจัดงานจากราชตระกูลใดๆ อีกด้วย
ในการจัดงานมหกรรมสมโภชอันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ ได้จัดให้มีงานมหรสพขึ้นหลายอย่างหลายชนิด และมีการประดับประทีปโคมไฟสว่างเจิดจ้าไปด้วยแสงไฟหลากสีกรุงเทพพระมหานครกลายเป็นเมืองแมนแดนสวรรค์อันน่าพิสมัย และที่อนุสาวรีย์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกด้วยแล้วได้ประดับประดาไว้อย่างวิจิตรตระการตาน่าทัศนาเป็นอย่างยิ่ง ส่วนสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ก็เช่นกัน ได้มีการประดับประดาดวงประทีปโคมไฟ ดูแพรวพราวเจิดจ้าสว่างไสวสง่างามเป็นอย่างยิ่ง
ประชาชนทั่วพระราชอาณาจักรได้พากันหลั่งไหลมาจากทิศานุทิศอย่างมืดฟ้ามัวฝน เรือแพนาวาในลำน้ำเจ้าพระยาที่คลองหลอด คลองมอญ และคลองอื่นๆ ปรากฏว่าจอดอยู่แน่นขนัดไปหมด เพื่อมาชมงานอันยิ่งใหญ่มโหฬารในครั้งนี้
ตามถนนสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ มีประชาชนยัดเยียดกันที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ ที่บริเวณท้องสนามหลวงด้วยแล้ว ยิ่งแออัดยัดเยียดกว่าที่อื่นๆ ท่ามกลางความสับสนอลหม่านของประชาชน มีผู้ปล่อยข่าวว่าจะมีเหตุร้ายในงานนี้ ประชาชนพากันแตกตื่น ทำเอาตำรวจต้องรักษาการกันอย่างเคร่งเครียด
ข่าวอกุศลที่โจษขานแพร่สะพัดอยู่ในขณะนั้น อาจเป็นเพราะว่านายพลเอกพระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม จะคิดทำการปฏิวัติโค่นล้มพระราชบัลลังก์พระเจ้ากรุงสยาม และมีข่าวลือกันเอิกเกริกเกรียวกราวว่า จะเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบ “Aristocracy Dictator Ship” (อำมาตยาธิปไตย) การปล่อยข่าวครั้งนี้นัยว่าเป็นกุศโลบาย และกลยุทธ์ของพระยาพหลฯ พระยาทรงสุรเดช ทั้งนี้ เป็นความประสงค์ที่จะให้รัฐบาลในยุคนั้นมีความเข้าใจไขว้เขว และปิดบังอำพรางการคิดปฏิวัติของตัวเสีย ประการสำคัญที่สุดก็คือว่า ต้องการที่จะให้ทหารและตำรวจอดตาหลับขับตานอน เพื่อระแวดระวังเหตุการณ์ร้ายที่จะอุบัติขึ้น
การปล่อยข่าวครั้งนี้นับว่าได้ผล ทางราชการโดยเฉพาะพระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจ ปักใจเอาว่า ถ้าหากจะมีการปฏิวัติเกิดขึ้นในระหว่างการจัดงานสมโภชพระนครแล้ว จะเป็นใครมิได้เลยนอกจากพระองค์เจ้าบวรเดช เหตุผลที่พระยาอธิกรณ์ประกาศปักใจเชื่อลงไปเช่นนั้น ก็มีเหตุผลอยู่ว่า พระองค์เจ้าบวรเดชอดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมได้ทรงลาออกจากเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2474 เรื่องอันเกี่ยวกับขอเลื่อนขั้นเงินเดือนนายทหารจำนวน 93 คน ปัญหาเรื่องนี้ได้นำขึ้นเสนอเสนาบดีสภาพิจารณา แต่ที่ประชุมไม่อนุมัติ เรื่องนี้จึงตกไป เพราะเป็นการขัดกับระเบียบการที่ใช้ออกเป็นคำสั่งไปแล้ว ห้ามมิให้เลื่อนขั้นเงินเดือนแก่ราชการทั้งปวง เพราะเกิดภาวะเงินฝืด หรือ “Deflation”
พระองค์เจ้าบวรเดช ทรงเสียพระทัย จึงได้ตัดสินพระทัยกราบถวายบังคมลาจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ทางสำนักงานราชเลขาธิการ แล้วในที่สุด เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครในบัดนั้น จึงได้ส่งราชโทรเลขกราบถวายบังคมทูลพฤติการณ์ไปยังพระเจ้ากรุงสยาม ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา พระเจ้ากรุงสยามได้มีพระราชโทรเลขมาจากสหรัฐอเมริกา ถึงผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ให้ออกได้ตามความประสงค์ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายพลโทพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอลงกฏเสนาบดีการทหารบกในขณะนั้น เป็นเสนาบดีแทนพระองค์เจ้าบวรเดช
ในการพ้นตำแหน่งของพลเอกพระองค์เจ้าบวรเดชครั้งนี้เห็นทีว่า ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครคงจะหวั่นเกรงอิทธิพลของพระองค์เจ้าบวรเดชอยู่บ้างไม่มากก็น้อย และผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครก็ทรงตระหนักดีอยู่แล้วว่า พระองค์เจ้าบวรเดชมีความมักใหญ่ใฝ่สูง มีความทะเยอทะยาน (Ambition) อย่างแรงกล้า และพระองค์เจ้าบวรเดชชอบทำอะไรตามใจตัว และทรงเชื่อถือสมรรถภาพและประสิทธิภาพของตัวเองมากเกินไป และดูเหมือนว่าเป็นเจ้าองค์เดียวเท่านั้นที่มีความฝักใฝ่และนิยมชมชื่นในระบอบประชาธิปไตย
จากสิ่งแวดล้อมและพฤติการณ์ดังกล่าวมานี้ จึงทำให้รัฐบาลในยุคนั้นแน่ใจยิ่งขึ้นว่า ข่าวลือจะมีการปฏิวัติในวันเฉลิมฉลองวันครบ 150 ปี ที่พระราชวงศ์จักรีปกครองประเทศสยามมานั้น เห็นจะเป็นพระองค์เจ้าบวรเดชนี่เอง นายพลโทพระยาอธิกรณ์ประกาศอธิบดีตำรวจ ได้ส่งสายลับออกดมกลิ่นอายปฏิวัติ ตลอดจนการเคลื่อนไหวของพระองค์เจ้าบวรเดช และนายทหาร 93 คนที่พระองค์เจ้าบวรเดชขอให้ขึ้นเงินเดือน แต่ก็ผิดหวัง ไม่เห็นมีการเคลื่อนไหวใดๆ เกิดขึ้นเลย พระองค์เจ้าบวรเดชก็ประทับอยู่ในพระราชวังอย่างปกติ ส่วนนายทหารที่ใกล้ชิดกับพระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งคาดหมายว่าจะร่วมกันคบคิดทำการปฏิวัติก็ปราศจากวี่แวว หรือมีการเคลื่อนไหวด้วยประการใดทั้งสิ้น ข่าวลือว่าจะมีเหตุร้ายในวันสมโภชพระนคร พลโทพระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีตำรวจ จึงเห็นว่าเป็นข่าวเหลวไหลไร้สาระหาความจริงอะไรมิได้เลย...
จากบทความอันเป็นประวัติศาสตร์นี้ เราจะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ของบ้านเมืองนั้นมักจะมีข่าวเล็ดลอดออกมาก่อนเสมอ ต่อเมื่อมีข่าวให้คนสนเท่ห์ใจแล้ว ก็จะมีการปล่อยข่าวให้ความสนใจนั้นหันเหไปเสียอีกทางหนึ่งเพื่อกลบร่องรอยการคิดกระทำการจริง
กรณีการยึดอำนาจการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ก็เช่นเดียวกันท่านผู้อ่านจะเห็นว่า การปล่อยข่าวให้คนหันเหความสนใจไปในทางที่ว่า พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม จะเป็นหัวหน้าทำการยึดอำนาจ เมื่อความสนใจหันเหไปทางนั้น ทางฝ่ายคณะราษฎร์ซึ่งจะทำการจริง ก็ลงมือกระทำได้โดยสะดวก
ประวัติศาสตร์คงจะให้ประโยชน์อยู่บ้างสำหรับคนที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์
วีระ มุสิกพงศ์