ที่มา ไทยรัฐ
แม้ผลการสอบสวนการจัดซื้อนมโรงเรียนของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จะพบการทุจริตมากล้น และผลสุดท้ายจะลงเอยด้วยการรื้อระบบนมโรงเรียนครั้งใหม่ อีกหน... ก็ตาม
ฟันธงแปะติดข้างฝาไว้ได้เลยว่า รูปแบบที่ออกมา คงไม่สามารถแก้ปัญหาได้อยู่ดี
ทุกสิ่งทุกอย่างจะลงเอยแบบเหล้าเก่าในขวดใหม่...สมบัติผลัดกันชม
สลับกันโกงเท่านั้นเอง
เพราะปัญหานมบูด นมเน่า นมปลอมปนคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน เกษตรกรเอานมมาเททิ้ง กินค่าหัวคิวจัดซื้อนม ได้กลายเป็นวงจรอุบาทว์คู่สังคมไทยอีกวัฏจักรหนึ่งแล้ว
มิต่างวงจรอุบาทว์ของประชาธิปไตยแบบไทยๆ แต่ประการใดเลย
ไม่ว่าอะไรก็ตาม ต่อให้ดีสักแค่ไหน ถ้านักการเมืองไทยเข้าไปเกี่ยวข้องสัมผัสล่ะก็...หน้ามือจะเปลี่ยนเป็นหลังเท้าทันที
ขนาดประชาธิปไตยที่ทั้งโลกบอกว่าดี เจอนักการเมืองไทยเข้าไปประเทศชาติใกล้ล่มจม
โครงการนมโรงเรียน ทุกฝ่ายยกนิ้วให้ ช่วยเด็ก ช่วยอนาคตของชาติ...สุดท้ายก็อย่างที่เห็น ทั้งคิดทำแก้ปัญหาติดต่อกันมานาน 16-17 ปี เข้าไปแล้ว
ยังแก้ไม่ตก ปัญหายังวนเวียนย่ำอยู่กับที่เหมือนเดิมทุกประการ
แล้วปัญหาที่แท้จริง...ของนมโรงเรียนคืออะไร?
คำตอบแบบลวกๆ...แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ยอมรับความจริง พูดความจริงไม่หมด พูดความจริงแค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งซุกไว้เพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายตัวเอง
“ความจริงแล้วปัญหานมโรงเรียนนั้นไม่มีอะไรซับซ้อนเลย แต่มีคนคิดทำให้ซับซ้อนเพื่อผลประโยชน์ เลยทำให้เป้าหมายของโครงการนมโรงเรียนที่ต้องการให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นถูกบิดเบือน การแก้ปัญหาเลยยุ่งยากและซับซ้อนตามไปด้วย”
ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็น
ดร.วิสิฐ เป็นผู้ทำการศึกษาวิจัยปัญหานมโรงเรียน เมื่อปี 2543 ให้กับสำนักงานประถมศึกษาแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหานมบูด นมเน่า และเกษตรกรเอานมมาเททิ้ง เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ความซับซ้อนของปัญหามาจาก...ที่ผ่านมา ฝ่ายนโยบายใช้โครงการนมโรงเรียนไปในหลายเป้าหมาย แจกจ่ายกระจายผลประโยชน์ให้กับบุคคลหลายฝ่ายมากเกินไป
เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ...นมโรงเรียนไม่ต่างอะไรกับยาลูกกลอน ยาวิเศษรักษาได้สารพัดโรค ทั้งที่รักษาไม่ได้จริง ปัญหาแทรกซ้อนอย่างอื่นจึงเกิดตามมา
โครงการนมโรงเรียน ถ้ามีเป้าประสงค์เดียว เพื่อให้เด็กได้ดื่มนม เพื่อเด็กไทยจะได้เติบโตสู้เขาได้ การดำเนินง่ายๆ เพราะสามารถซื้อนมหลายรูปแบบมาให้เด็กดื่มได้ โดยใช้งบประมาณไม่มากนัก
นมผง นมกล่อง นมถุง นมข้นจืด มีคุณค่าทางโภชนาการช่วยให้เด็กเติบโตได้เท่ากัน...ต่างกันแค่ราคา นมกล่องยูเอชทีแพงสุด นมผงถูกสุด
แต่ซื้อนมผงมาชงให้เด็กดื่มมีปัญหา...เกษตรกรเลี้ยงโคนมขายน้ำนมดิบไม่ได้ เป้าประสงค์ของโครงการเพิ่มมาอีก 1 อย่าง รูปแบบการแก้ปัญหาเริ่มยุ่งยากมากขึ้นอีกเปลาะ
“ที่ผ่านมาโครงการนมโรงเรียน ไม่ได้มีเป้าประสงค์แค่เพื่อเด็กและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเท่านั้น ยังมีเป้าประสงค์แอบแฝงอย่างอื่นตามมาอีก เพื่อกลุ่มผู้ผลิตถุงนม ผู้ผลิตกล่องนม บริษัทขนส่ง ปัญหาก็เลยซับซ้อนขึ้นไปอีก”
ยังไม่นับเพื่อให้นักการเมืองระดับชาติ ข้าราชการระดับสูง นักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการระดับล่าง ได้ค่าหัวคิวตามขนบธรรมเนียมราชการไทย (ทำกันเป็นสันดานกัดกินซึมลึก จนไม่เหมาะที่จะให้คำว่า ประเพณี)
ในเมื่อทุกฝ่ายต่างต้องการประโยชน์จากโครงการนมโรงเรียน...งบประมาณที่ส่งลงไปซื้อนมให้เด็กดื่ม เลยกระจายตกหล่นไปอยู่ที่ต่างๆ เป็นปัญหาให้เห็นในวันนี้
จะหยุดปัญหานมโรงเรียนให้ได้ผล ดร.วิสิฐ ให้แนวคิด ควรลดเป้าประสงค์ของโครงการลงให้มาเหลือน้อยที่สุด
จัดการซื้อขายแบบโดยตรง ลดคนกลางไปให้หมด...เหลือแค่ผู้ผลิตถึงตรงยังเด็กเลย
“เป้าหมายของโครงการเหลือแค่เพื่อนักเรียนได้ดื่มนม การจัดการจะง่าย แต่จะให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ได้ผลประโยชน์จากการขายนมด้วย จะต้องใช้วิธีพบกันแบบครึ่งทาง ไม่ใช่ให้เกษตรกรขายนมทั้งหมด”
เพราะจะมีปัญหานมบูด นมเน่า ไม่มีนมให้เด็กดื่มตามมาอีก
ให้เกษตรกรได้สิทธิขายนมให้โรงเรียนฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะเกษตรกรไม่สามารถส่งนมได้ครบทุกโรงเรียน และมีโรงเรียนในหลายพื้นที่ ไม่มีการเลี้ยงโคนมและผลิตนมพาสเจอไรซ์
ครั้นจะให้โรงงานนมที่อยู่ห่างไกลมาส่ง ปัญหานมบูดเน่าก็จะตามมาอีก เพราะนมพาสเจอไรซ์เก็บได้ไม่นาน ขนส่งไม่ดีมีปัญหาเน่าบูดได้ง่าย
“พื้นที่ไหนมีการเลี้ยงโคนม ก็ควรให้ซื้อนมจากเกษตรกร พื้นที่ห่างไกลก็ควรให้ทางโรงเรียนจัดซื้อหากันเองว่าจะเอานมแบบไหน มีงบประมาณมากก็ให้นมกล่องไป อยู่ห่างไกลขนส่งลำบาก ก็ควรให้ซื้อนมผง
โรงเรียน ตชด. ในยุคแรกของปัญหาเรื่องจัดซื้อนมโรงเรียนมีปัญหา ไม่กล้าซื้อนมผงมาชงให้เด็กดื่ม ต้องยูเอชทีให้แทน ปรากฏว่าต้องขนขึ้นเฮลิคอปเตอร์
ราคานมกล่องก็แพง หนักก็หนัก ค่าขนส่งก็สูง ทำได้แค่เทอมเดียว ในที่สุด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีรับสั่งให้เลิกเพราะสู้ราคาและค่าขนส่งไม่ไหว ขืนทำต่อไปเด็กมีนมไม่พอกิน ทุกวันนี้เลยชงนมผงให้เด็กดื่ม ไม่เห็นมีปัญหาอะไร”
ส่วนที่กลัวกันว่า ถ้าทำอย่างนี้ ปัญหาจะกลับเข้าสู่ระบบเดิม เกษตรกรจะขายน้ำนมไม่ได้ จะเอานมมาเททิ้ง...เด็กดื่มนมผงคุณค่าอาหารสู้นมโคสดไม่ได้
นี่เป็นความจริงอีกพูดกันไม่หมด เพราะมีคำถามตามมาว่า...ที่ผ่านมาเกษตรกรเทนมทิ้งแบบไม่เป็นข่าวมีหรือไม่
มีบ่อยกว่าที่เป็นข่าวหรือไม่...เคยได้ยินหรือไม่ เกษตรกรเอานมมารดต้นลำไย
ประเทศไทยอากาศร้อน อะไรก็บูดเน่าเสียง่าย เลี้ยงวัวในพื้นที่ห่างไกล รีดนมเสร็จ รีดกันแบบชาวบ้าน กว่ารถจะมารับน้ำนม กว่าน้ำนมดิบจะมาถึงโรงงานใช้เวลาหลายชั่วโมง เชื้อจุลินทรีย์นมบูดที่ปนเปื้อนมาตอนรีดเติบโตขยายพันธุ์อยู่ในถังนมตลอดเวลา
มาถึงโรงงานยูเอชที ตรวจวัดคุณภาพนมไม่ผ่านเกณฑ์ความสะอาด โรงงานไม่รับซื้อ เพราะมีเชื้อบูดมากเกินกว่าจะทำเป็นนมยูเอชทีได้
จะบรรทุกน้ำนมหนักๆ กลับไปเททิ้งที่บ้านให้เปลืองน้ำมันรถ หรือจะเทนมทิ้ง ขับรถเปล่ากลับแบบประหยัดน้ำมัน...จะเลือกแบบไหน
หรือจะเลือกแบบ ไหนก็ต้องเททิ้งอยู่แล้ว เทให้เป็นข่าว มีสิทธิฟลุกได้รับการช่วยเหลือ
ส่วนเรื่องที่กลัวกันเหลือเกิน เด็กดื่มนมผงละลายน้ำจะสู้ดื่มนมโคสดๆ จากเต้าได้หรือ?
พูดไม่ตรงแบบเลี่ยงๆ...นมจากเต้าโคที่เมืองนอกที่อากาศหนาวเหมาะกับการเลี้ยงโคนมอาจจะใช่
แต่จากเต้าโคแถวบ้านเรา มีคำถามว่า...ทำไมก่อนหน้านี้ อย.ถึงต้องลดมาตรฐานคุณภาพน้ำนมโรงเรียนให้ต่ำลงจากเดิม
ลองนึกถึงกรณีโคพลาสติก วัวพันธุ์ดีแต่เลี้ยงแบบไทยๆ มันก็ไม่โต
และเพราะอะไรโรงงานผลิตนมเปรี้ยวถึงไม่เอาน้ำนมจากเต้าวัวบ้านเรามาทำนมเปรี้ยว...ต้องไปซื้อนมผงจากนอกมาใช้แทน
ฉะนั้นนมโรงเรียนมีเป้าประสงค์จะทำเพื่อเด็กๆ...ก็ขอให้ทำเพื่อเด็กจริงๆ
อย่าเอาความละโมบ โลภและยากจนมาบังหน้าทำให้เด็กเดือดร้อนอีกเลย.