ที่มา ไทยรัฐ
ผมรู้สึกเอาเองว่า เมื่อระบอบประชาธิปไตย...ซึ่งมักมีหลัก เอกราช เสมอภาค และเสรีภาพ ฯลฯ มา... หนังสือพิมพ์ซึ่งว่ากันว่า เป็นเหมือนปากเสียงชาวบ้าน ก็ตามมาด้วย
บางครั้ง เผลอเอาถึงขั้นคิดว่า ถ้าประชาธิปไตยเป็นพี่ หนังสือพิมพ์ ก็เป็นน้อง
จนเมื่อเปิดอ่านข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองไทย คุณนคร คุณอุกฤษ พจนวรพงษ์ ค้นคว้ารวบรวมเอาไว้ ก็พบว่า ไม่เป็นเช่นที่คิด...สักนิดเดียว
การปฏิวัติยึดอำนาจ โดยคณะราษฎร เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เริ่ม 24 มิ.ย.2475 เสร็จสมบูรณ์ 28 มิ.ย.2475
งานแรกของคณะปฏิวัติ คือการออกประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1
วางหลัก 6 ประการ ในการปกครองประเทศ
1. หลักเอกราช จะต้องรักษาเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศให้มั่นคง
2. หลักความปลอดภัย จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายกันลดน้อยลงให้มาก
3. หลักเศรษฐกิจ จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4. หลักเสมอภาค จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
5. หลักเสรีภาพ จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความ เป็นอิสระ เมื่อเสรีนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
6. หลักการศึกษา จะต้องให้การศึกษาเต็มที่แก่ราษฎร
ออกประกาศฉบับแรกแล้ว งานสำคัญลำดับต่อมา ก็คือ ประกาศเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์
คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร สั่งให้เจ้าของหนังสือ-พิมพ์ทุกฉบับ นำต้นเรื่องมาให้คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ตรวจอนุญาตก่อนจัดพิมพ์
ผู้ใดขัดขืน คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร จะใช้อำนาจที่มีอยู่ ปิดและยึดโรงพิมพ์ทันที
อ่านถึงตรงนี้อาจคิดว่า ไหนว่าปฏิวัติเป็นระบอบประชาธิปไตย ประกาศหลักเสรีภาพ ประชาชนมีความคิดเห็นเป็นอิสระแล้ว ทำไม ต้องมาเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ เท่ากับปิดปากประชาชน ด้วยเล่า!
ย้อนไปอ่านหลักการปกครองประเทศหลักที่ 5 เสรีภาพในนิยามของคณะราษฎร นั้น เป็นเสรีภาพที่มีเงื่อนไข...ไม่ขัดต่อ 4 หลักแรก เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ และความเสมอภาค
ระบอบประชาธิปไตย เริ่มต้นด้วยเงื่อนไขแบบนี้ เป็นแบบฉบับให้นักปฏิวัติทุกคณะ จะต้องเริ่มงานแรก คือเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ ปิดปากหนังสือพิมพ์เอาไว้ก่อน
จะมีบ้างบางคณะหรือสองคณะ ที่ไม่ยุ่งกับหนังสือพิมพ์ แต่ก็เป็นที่รู้กัน เหตุที่ไม่ยุ่งเพราะรู้ดีว่า หนังสือพิมพ์รู้ตัว ปรับท่าที ไม่วอแวอะไรให้กวนใจทหาร
วันนี้ แม้จะอยู่ในบรรยากาศประชาธิปไตย แต่ผมก็ยังรู้สึกว่า แม้จะมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร และแสดงความคิดเห็น แต่ก็เป็นเสรีภาพที่ยังมีนัยยะ ของบางเงื่อนไข
เช่นเงื่อนไขของการแยกสี
จะชมใคร จะด่าใครตอนนี้ ก็มักไปเข้าทางสีใดสีหนึ่ง ไม่ชมไม่ด่าก็เหมือนไม่ทำหน้าที่ สองสามปีมานี่ งานของหนังสือพิมพ์กลืนไม่ค่อยเข้า คายไม่ค่อยออก...ยังงี้แหละครับ.
กิเลน ประลองเชิง