ที่มา ไทยรัฐ
ผมเคยอาสาคุยกับแขกเป็นคณะ ที่มาเยี่ยมไทยรัฐอยู่บ่อยๆ
คำถามยอดฮิตที่แทบทุกคณะจะถาม ก็คือ ทำไม? จึงชอบลงข่าวหรือภาพที่แสดงความโหดร้าย ทำไม? ต้องลงภาพผู้หญิงนุ่งน้อยห่มน้อย
ท้ายคำถามมักจะจบลงตรง...เมื่อไหร่หนังสือพิมพ์จะลงแต่ข่าวหรือภาพดีๆ...เสียที
ช่วงแรกๆ ผมมักตอบว่า สื่อ คือกระจก เกิดเรื่องอะไร ดีชั่วแค่ไหน ก็ต้องสะท้อนไปตามหน้าที่
ตัวอย่างเป็นรูปธรรม...ถ้ามีเสือร้ายอาละวาดกินคน อยู่ในป่าใกล้หมู่บ้าน ถ้าสื่อยอมรับหลัก ลงข่าวร้ายๆทำให้ผู้คนแตกตื่น ก็คงไม่กล้าลง
แต่สื่อมีหน้าที่บอกข่าว บอกไปแล้ว ผลด้านแรก คือผู้คนแตกตื่น มีความเสียหาย
แต่ผลอีกด้าน โอกาสจะเป็นเหยื่อถูกเสือกัดตาย ก็น้อยลง
ตัวอย่างที่ชัดๆ อาจจะบาดใจใครหลายคน สองสามปีก่อนสึนามิมา...คุณสมิทธ ธรรมสโรช ออกข่าวเตือนให้คนแถวภูเก็ต...ระวัง
สกู๊ปหน้า 1 ไทยรัฐ ก็อธิบายขยายความ...ผลก็คือธุรกิจแถวหาดป่าตอง วุ่นวาย เมื่อสึนามิไม่มา คำเตือนของคุณสมิทธผ่านสื่อ คือข่าวลวง เกิดผลด้านร้าย
จนเมื่อสึนามิมาจริง เกิดเหตุร้ายรุนแรงมากมาย ผมยังไม่เคยได้ยินคำขอโทษ หรือที่จริง น่าจะเป็นคำขอบคุณ ดร.สมิทธ สักคำ
อดีตรัฐมนตรีรัฐบาล ดร.ทักษิณ ปัจจุบันท่านก็เป็นรัฐมนตรีรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เล่าให้ผมฟัง รับคำเตือนสึนามิทั้งจากฝรั่งทั้งจากญี่ปุ่น ก่อนหน้าสึนามิมาจริง...ครึ่งชั่วโมง
ส่งข่าวไปให้ทีวีและวิทยุแล้ว ไม่มีทีวีและวิทยุช่องไหน ให้ความสำคัญ...
ออกข่าวให้สักช่องเดียว
ถ้าทีวี วิทยุ ออกข่าว ให้ความรู้...ผู้คนแถวชายหาดทะเลอันดามัน จำนวนคนตายคงน้อยลงกว่านี้
ทำไม? ทีวี วิทยุ จึงไม่ออกข่าว...คำตอบ ก็กลับไปสู่ที่เก่า ถ้าออกข่าวไปแล้ว สึนามิไม่มาจริง สื่อก็ถูกด่า ด้วยข้อหาประโคมข่าว
การจะลงข่าวอะไร มากน้อยแค่ไหน เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่คนเป็นสื่อต้องตัดสินใจ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
แต่กระนั้น สัดส่วนของข่าว...ก็ยังเป็นประเด็นข่าวที่น่าสนใจ
และความน่าสนใจ ของมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ก็คือข่าวร้าย มากกว่าข่าวดี
นี่คือที่มาของคำนิยาม...ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียเงิน
คำอธิบาย ถ้าเป็นข่าวร้าย พวกนักข่าวก็จะไปเคาะประตูหา หรือหมุนโทรศัพท์ไปรุกเร้าถาม แต่เมื่อเป็นเรื่องดีๆที่อยากจะตีฆ้องร้องป่าว ธรรมชาติของเรื่องดีๆ ความน่าสนใจมีน้อย
ก็ต้องหาซื้อหน้าโฆษณาเอา
ทุกข้อคับข้อง...และข้อทักท้วงติติง...ถึงไม่ใช่ครู ผมก็เป็นครู ขอบูชาด้วยดอกไม้ ขอน้อมรับฟังด้วยความเคารพ ไว้ทบทวนการตัดสินใจในครั้งต่อไปครับ
เรืออาศัยน้ำจึงแล่นไปได้ หนังสือพิมพ์ มีผู้อ่านประคับ ประคองจึงจะอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นก้อนอิฐหรือดอกไม้ ล้วนแล้ว แต่เป็นคุณ...ค้ำจุนพวกเราทั้งสิ้น.
กิเลน ประลองเชิง