WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, March 5, 2009

สำรวจผู้อ่าน นสพ.ยอมรับมีส่วนหนุน ปชต. ให้เสนอข่าวให้รอบด้าน-หลากหลายมากขึ้น

ที่มา มติชนออนไลน์

ผลสำรวจผู้อ่านหนังสือพิมพ์ในรอบปีที่ผ่านมา ยอมรับนักข่าวไทยมีคุณภาพ มีส่วนในการสนับสนุนประชาธิปไตย แต่เสนอให้มีการปรับปรุงบทบาทในการเสนอข่าวให้ตรงความเป็นจริง รอบด้านและหลากหลายมากขึ้น


เนื่องในโอกาส “วันนักข่าว” วันที่ 4 มีนาคม 2552 สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยสำรวจเรื่อง “ความคิดเห็นและความคาดหวังต่อการนำเสนอข่าวสารทางหนังสือพิมพ์ในรอบปี 2551 : กรณีศึกษาตัวอย่างผู้อ่านหนังสือพิมพ์ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร” โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้อ่านหนังสือพิมพ์ (ที่อ่านหนังสือพิมพ์ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง) ที่มีอายุระหว่าง 18-60 ปี จำนวนทั้งสิ้น 1,209 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 10 – 13 มกราคม 2552 สรุปประเด็นสำคัญ 17 ประเด็น ดังนี้


1. การติดตามข่าวสารและการอ่านหนังสือพิมพ์


ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างติดตามข่าวสารจากหลายช่องทาง กล่าวคือ นอกจากส่วนใหญ่มีการติดตามชมข่าวทางสถานีโทรทัศน์แล้ว ยังพบว่าร้อยละ 44.4 จะติดตามฟังข่าว/รายการสนทนาข่าวทางวิทยุ (ในรอบ 30 วันที่ผ่านมา) ร้อยละ 37.6 เป็นผู้ที่ติดตามข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต (ในรอบ 30 วันที่ผ่านมา)

ทั้งนี้การติดตามข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต ของกลุ่มผู้อ่านหนังสือพิมพ์มีแน้วโน้มเพิ่มมากขึ้น เมื่อพิจารณาจากการสำรวจของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม 2549 จพบว่า มีผู้ที่ที่ติดตามข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต (ในรอบ 30 วันที่ผ่านมา) เพียงร้อยละ 18.1


ส่วนในด้านพฤติกรรมการอื่นหนังสือพิมพ์พบว่า ผู้อ่านจะอ่านหนังสือเฉลี่ย 4.3 วันต่อสัปดาห์ และในวันที่อ่านจะอ่านเฉลี่ยประมาณ 1.5 ฉบับต่อวัน ใช้เวลาในการอ่านประมาณ 1.4 ชั่วโมงต่อวัน


ส่วนแหล่งที่มาของหนังสือพิมพ์ที่อ่านส่วนใหญ่ซื้อจากแผงหรือร้านหนังสือ (ร้อยละ 41.4) รองลงมาคืออ่านตามร้านค้า/ร้านอาหาร/ร้านกาแฟ (ร้อยละ 37.8 ) อ่านในสำนักงาน/ที่ทำงาน (ร้อยละ 24.1) เป็นสมาชิกรับประจำ (ร้อยละ 15.1) และยืมจากคนที่รู้จัก (ร้อยละ 14.6)


2. ข่าวสารที่สนใจติดตาม


สำหรับประเภทข่าวที่ผู้อ่านสนใจติดตามอ่านมากที่สุดได้แก่ ข่าวการเมือง (ร้อยละ 62.8) รองลงมาคือข่าวบันเทิง (ร้อยละ 60.5) ข่าวอาชญากรรม (ร้อยละ 56.7) ข่าวเศรษฐกิจ/ธุรกิจ (ร้อยละ 40.0) ข่าวกีฬา (ร้อยละ 38.2) ข่าวสุขภาพ/คุณภาพชีวิต/สาธารณสุข (ร้อยละ 27.5) ข่าวต่างประเทศ (ร้อยละ 22.1) และ และข่าววิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี (ร้อยละ 21.3) ตามลำดับ


3. การพาดหัวข่าว-ความน่าเชื่อถือมีผลต่อการเลือก นสพ.


ปัจจัยที่ทำให้คนเลือกอ่านหนังสือพิมพ์ จากผลการสำรวจตัวอย่างผู้อ่านพบว่าร้อยละ 58.3 ตอบว่า “การพาดหัวข่าว” ของหนังสือพิมพ์มีผลต่อการตัดสินใจซื้อหนังสือพิมพ์ ในระดับ “มาก-มากที่สุด”


นอกจากนี้เหตุผลในการเลือกติดตามอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ ผู้อ่านระบุว่าเป็นเพราะการนำเสนอข่าวสารตามข้อเท็จจริงน่าเชื่อถือ และมีเนื้อหาหลากหลายให้เลือกอ่าน


4. ความคิดเห็นต่อการนำเสนอข่าว “ความขัดแย้งทางการเมือง” ของหนังสือพิมพ์


จากผลการสำรวจเรื่อง ข่าว “ความขัดแย้งทางการเมือง” ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 49.4 ระบุมีปริมาณข่าวมากเกินไป ร้อยละ 39.5 ระบุมีปริมาณข่าวพอเหมาะพอดี และ ร้อยละ 11.1 ระบุมีปริมาณข่าวน้อยเกินไป


โดยในรอบปี 2551 ที่ผ่านมาผู้อ่านระบุว่าได้ติดตามข่าวความขัดแย้งทางการเมืองเฉลี่ยถึง 4.8 วันต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างโดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.1 ระบุว่าการนำเสนอข่าวความขัดแย้งทางการเมืองมีความ “น่าสนใจ” ในขณะที่ร้อยละ 22.7 ระบุไม่แน่ใจ และร้อยละ 18.2 ระบุไม่น่าสนใจ


ส่วน “การมีเสรีภาพ” ในการนำเสนอข่าวความขัดแย้งทางการเมือง กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 43.9 ระบุมีเสรีภาพ ร้อยละ 33.6 ระบุไม่แน่ใจ และร้อยละ 22.5 ระบุไม่มีเสรีภาพ


“ความเป็นกลาง” ในการนำเสนอข่าวความขัดแย้งทางการเมือง กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.7 ระบุหนังสือพิมพ์เสนอข่าวไม่เป็นกลาง ร้อยละ 35.6 ระบุไม่แน่ใจ และร้อยละ 26.7 ระบุเสนอข่าวเป็นกลาง


“การรักษาผลประโยชน์ของประชาชน” ในการนำเสนอข่าวความขัดแย้งทางการเมือง พบว่า ร้อยละ 29.0 ระบุหนังสือพิมพ์รักษาผลประโยชน์ของประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 27.0 ระบุไม่รักษา และร้อยละ 44.0 ระบุไม่แน่ใจ


5. นสพ.ให้ความสำคัญกับฝ่าย “พธม.” มากกว่า “นปช.”

จากข้อคำถามความเห็นที่ว่า หนังสือพิมพ์ให้ความสำคัญในการนำเสนอข่าวสารของฝ่ายใดมากกว่าระหว่างฝ่ายพันธมิตรกับฝ่ายนปช. ผลปรากฏว่า ตัวอย่างผู้อ่านร้อยละ 31.5 เห็นว่าให้ความสำคัญกับฝ่ายพันธมิตรมากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 9.9 เห็นว่าให้ความสำคัญกับฝ่ายนปช.มากกว่า และร้อยละ 58.6 เห็นว่าให้ความสำคัญพอ ๆ กัน

6. ความพึงพอใจต่อการนำเสนอข่าว “ความขัดแย้งทางการเมือง”

ความพึงพอใจโดยรวมต่อการนำเสนอข่าว “ความขัดแย้งทางการเมือง” ของหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ พบว่า ร้อยละ 29.2 ระบุไม่พอใจ โดยตัวอย่างกลุ่มนี้ระบุเหตุผลที่ไม่พอใจ คือ

1) เสนอข่าวไม่เป็นกลาง / ชื่นชมพันธมิตร /เลือกปฏิบัติ / ไม่ยุติธรรม

2) เสนอข่าวสร้างความแตกแยก/เป็นการปลุกใจประชาชนให้ทะเลาะกัน/ก่อความไม่สงบ ไม่สามัคคีกัน ขัดแย้งกันเองของคนในประเทศ

3) นำเสนอข่าวรุนแรง ทำให้คนเครียด

4) เสนอข่าวไม่ชัดเจน / คลุมเครือ / บางอย่างปิดกั้น / เสนอข่าวไม่เป็นจริง

5) อื่นๆ อาทิ ในแต่ละวันเน้นอยู่เพียงเรื่องเดียว/ไม่มีจรรยาบรรณในการเสนอข่าว


ในขณะที่ร้อยละ 21.0 ระบุว่าพอใจ เหตุผลที่พอใจ ได้แก่

1) ได้รู้เหตุการณ์ปัจจุบัน/ได้รู้ความคืบหน้าของเหตุการณ์/ทำให้รู้เรื่องการเมืองมากขึ้น/ได้รู้ถึงการประท้วงหรือการต่อสู้ทางการเมือง

2) มีการเสนอข่าวอย่างเป็นกลาง /เสนอข่าวได้ครอบคลุม ตรงประเด็น/เสนอข่าวที่เป็นความจริง

3) มีการกระจายข่าวแพร่หลายได้อย่างรวดเร็วทั่วถึง

4) นำเสนอข่าวอย่างมีสาระ

5) แสดงให้เห็นว่าแต่ละคนมีความคิดเห็นต่างกัน และร้อยละ 49.8 ระบุไม่มีความเห็น


7. ต้องการให้ นสพ. เสนอข่าวอย่าง “รอบด้าน”

อย่างไรก็ตามในสายตาของผู้อ่านหนังสือพิมพ์ร้อยละ 86.0 ยังคงคาดหวังที่จะให้หนังสือพิมพ์แสดงจุดยืนในการนำเสนอข่าวสารที่รอบด้านระหว่างสองฝ่ายมากกว่า เพราะไม่อยากให้สื่อแบ่งแยกอยู่ฝ่ายใด ต้องการให้นำเสนอข่าวสารที่ถูกต้องของทั้งสองฝ่าย ไม่อยากให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ และจะทำให้ผู้บริโภคข่าวสารใช้วิจารณญาณได้อย่างถูกต้อง


ในขณะที่ร้อยละ 8.5 อยากให้หนังสือพิมพ์แสดงจุดยืนอยู่ข้างฝ่ายพันธมิตร เพราะเชื่อว่า พันธมิตรมีจุดยืนบนหลักการที่ถูกต้อง ทำเพื่อประโยชน์ประชาชน และรวมถึงตนเองก็อยู่ข้างฝ่ายพันธมิตรอยู่แล้ว และร้อยละ 5.5 อยากให้อยู่ช้างฝ่ายนปช.เพราะ ชอบนปช. ไม่ชอบการกระทำของฝ่ายพันธมิตร และเห็นว่าฝ่ายพันธมิตรมีความพร้อมและความเป็นอยู่ที่ดีกว่าอยู่แล้ว

8. ความศรัทธา-เชื่อถือในหนังสือพิมพ์


ผลการสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.4 เห็นว่าผู้ประกอบการธุรกิจหนังสือพิมพ์มีความ “น่าศรัทธา- น่าศรัทธาอย่างยิ่ง” ในขณะที่ร้อยละ 24.2 เห็นว่า “ไม่น่าศรัทธา-ไม่น่าศรัทธาเลย” และร้อยละ 47.4 ไม่แน่ใจ


ส่วนในด้านคุณภาพของ นักข่าวหนังสือพิมพ์ของไทย พบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 52.7 ระบุมีคุณภาพอยู่ในระดับปานกลาง ในขณะที่ร้อยละ 36.5 ระบุมีคุณภาพอยู่ในระดับ “ดี-ดีมาก” และร้อยละ 10.8 ระบุมีคุณภาพอยู่ในระดับ “แย่-แย่มาก”


ความ “เชื่อถือ” ต่อการนำเสนอข่าวสารของหนังสือพิมพ์โดยรวมนั้น พบว่า ร้อยละ 28.2 ระบุว่าเชื่อถือ เพราะเชื่อว่าเป็นการนำเสนอข่าวสารที่เป็นความจริง/เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ทุกหนังสือพิมพ์ลงข่าวคล้ายๆกัน/ตรงกัน เชื่อว่า มีการกลั่นกรองข่าวก่อนนำเสนอ เชื่อว่ามีจรรยาบรรรณพอสมควรในการนำเสนอข่าวสารและมีการตรวจสอบข้อมูลก่อน นำเสนอ


ในขณะที่ร้อยละ 16.2 ระบุไม่น่าเชื่อถือ เพราะเห็นว่าเสนอข้อมูลไม่ตรงกับความจริง ไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง มีการให้ข้อมูลโดยคนเขียนข่าว เนื้อหาข่าวไม่ชัดเจน ไม่สามารถเชื่อได้ทันที มีการเอนเอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง/ไม่เป็นกลาง และเชื่อว่ามีผลประโยชน์แอบแฝง/เป็นธุรกิจเกินไป/ทำเพื่อพวกพ้อง และร้อยละ 55.6 ระบุไม่มีความเห็น


เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างประมาณการปริมาณข่าวสารในหนังสือพิมพ์ที่เชื่อถือได้ ผู้อ่านให้ค่าเฉลี่ยปริมาณข่าวสารที่เชื่อถือได้ว่า มีประมาณ 53.98 เปอร์เซนต์ของข่าวสารทั้งหมดที่เสนอในหนังสือพิมพ์


9. ความเชื่อถือหนังสือพิมพ์เปรียบเทียบกับแหล่งข่าวสารอื่น


เมื่อเปรียบเทียบ ความน่าเชื่อถือข่าวสารจาก “หนังสือพิมพ์” กับข่าวสารจาก “วิทยุ” พบว่า ร้อยละ 63.8 ระบุเชื่อเท่ากัน ร้อยละ 22.9 ระบุเชื่อหนังสือพิมพ์มากกว่า และร้อยละ 13.3 ระบุเชื่อวิทยุมากกว่า


เมื่อเปรียบเทียบ ความน่าเชื่อถือข่าวสารจาก “หนังสือพิมพ์” กับข่าวสารจาก “อินเทอร์เน็ต” พบว่า ร้อยละ 61.0 ระบุเชื่อเท่ากัน ร้อยละ 22.7 ระบุเชื่อหนังสือพิมพ์มากกว่า และร้อยละ 16.3 ระบุเชื่ออินเทอร์เน็ตมากกว่า

เมื่อเปรียบเทียบ ความน่าเชื่อถือข่าวสารจาก “หนังสือพิมพ์” กับข่าวสารจาก “โทรทัศน์” พบว่า ร้อยละ 50.6 ระบุเชื่อเท่ากัน ร้อยละ 44.0 ระบุเชื่อโทรทัศน์มากกว่า และร้อยละ 5.4 ระบุเชื่อหนังสือพิมพ์มากกว่า


ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าผู้อ่านจะชื่อถือหนังสือพิมพ์มากกว่าข่าวสารจากวิทยุ และจากอินเทอร์เน็ต แต่ทั้งนี้ผู้อ่านยังคงเชื่อถือข่าวสารจากหนังสือพิมพ์น้อยกว่าข่าวสารจากโทรทัศน์

10. ความคิดเห็นต่อบทบาทหนังสือพิมพ์กับประชาธิปไตย

เมื่อสอบถามถึงบทบาทของ “หนังสือพิมพ์” ว่ามีส่วนสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพียงใดนั้น พบว่าร้อยละ 50.5 ระบุ “ช่วยได้-ช่วยได้มาก” ในขณะที่ร้อยละ 32.8 ระบุไม่แน่ใจ และร้อยละ 16.7 ระบุ “ไม่ค่อยได้ช่วย-ไม่ช่วยอะไรเลย”


11. ความพอใจต่อการตั้งคำถามของนักข่าว

เมื่อสอบถามเรื่อง “การตั้งคำถามของนักข่าว” ต่อแหล่งข่าวต่าง ๆ นั้นกลุ่มผู้อ่านมีความรู้สึกอย่างไร ปรากฏว่าร้อยละ 33.6 ตอบว่า “พอใจ-พอใจอย่างยิ่ง” เพราะเห็นว่าตั้งคำถามได้ตรงประเด็น ทำให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจต่อเหตุการณ์ต่างๆ ในขณะที่ร้อยละ 15.0 ตอบว่า “ไม่พอใจ-ไม่พอใจเลย” เพราะเห็นว่ามีการใช้คำถามรุนแรง ไม่มีมารยาท ตั้งคำถามไม่ตรงประเด็น และไม่มีความเป็นกลาง ส่วนอีกร้อยละ 51.4 ตอบว่า “เฉยๆ”


12. ปฏิกริยาที่จะ “ตอบโต้” กับหนังสือพิมพ์

จากคำถามที่ว่าหากหนังสือพิมพ์นำเสนอข่าวที่ “ไม่ถูกต้อง” ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตนเองนั้น กลุ่มตัวอย่างจะดำเนินการต่าง ๆ หรือไม่ พบว่า สิ่งที่ผู้อ่านตั้งใจจะ “กระทำ”มากที่สุดดังนี้


1) การร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ร้อยละ 54.2 ระบุว่า “จะทำ” นอกนั้นคือผู้ที่ตอบว่าจะไม่ทำ และไม่แน่ใจ )

2) เขียนจดหมายไปตำหนิติเตียนต่อหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น (ร้อยละ 49.7 ระบุว่า “จะทำ”)


3) ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น (ร้อยละ 42.7 ระบุว่า “จะทำ”)


4) ตอบโต้โดยการเชิญชวนคนไม่ให้ซื้อหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น (ร้อยละ 27.5 ระบุว่า “จะทำ”)


และ 5) พาพวกไปชุมนุมประท้วงหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น (ร้อยละ 13.0 ระบุว่า “จะทำ”)


13. ความเห็นต่อข่าวสารที่ “ควรนำเสนอ-ไม่ควรนำเสนอ”

เมื่อให้กลุ่มผู้อ่านระบุความเห็นต่อข่าวสารประเภทต่าง ๆ ว่า ควรมีการนำเสนอหรือไม่ พบว่า ข่าวสารที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (เกินกว่าร้อยละ 50) เห็นว่าควรนำเสนอมีดังนี้

ภาพข่าวคนตายจากอุบัติเหตุหรืออาชญากรรม (ร้อยละ 69.1 เห็นว่าควรนำเสนอ นอกนั้นคือคนที่เห็นว่าไม่ควรนำเสนอ และไม่แน่ใจ)

ข่าวการชุมนุมประท้วงรุนแรง/วุ่นวาย (ร้อยละ 59.6 เห็นว่าควรนำเสนอ) 3) ข่าวการประกวดความสวยความงาม (ร้อยละ 55.9 เห็นว่าควรนำเสนอ)


ส่วนข่าวที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่า “ไม่ควรนำเสนอ” มีดังนี้คือ


1)ข่าวใบ้หวย (ร้อยละ 69.7 เห็นว่าไม่ควรนำเสนอ)


2) ภาพเซ็กซี่/โชว์วับ ๆ แวม ๆ ของนางแบบ (ร้อยละ 66.7 เห็นว่าไม่ควรนำเสนอ)


3) ข่าวหมอดูทำนายเรื่องส่วนตัว (ร้อยละ 66.3 เห็นว่าไม่ควรนำเสนอ)


4) ข่าวเชิงชู้สาวของดารา/นักร้อง (ร้อยละ 61.6 เห็นว่าไม่ควรนำเสนอ)

และ 5) ข่าวเสื่อมเสียเรื่องส่วนตัวของคนมีชื่อเสียง (ร้อยละ 55.3 เห็นว่าไม่ควรนำเสนอ) ตามลำดับ


14. ความเห็นต่อโฆษณาหนังสือพิมพ์

กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นต่อ “โฆษณา” ที่มีอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ดังนี้ร้อยละ 35.6 ระบุว่าชอบ เพราะมีการนำเสนอข้อมูลโฆษณาที่ไม่รู้ ได้รับรู้เรื่องราวรอบตัวมากขึ้น/เพิ่มความรู้ โลกทัศน์กว้างขึ้น สนุกเพลินตา/ทำให้อยากอ่านมากขึ้น และช่วยให้หนังสือพิมพ์อยู่รอด


ในขณะที่ร้อยละ 16.0 ระบุไม่ชอบ เหตุผลเพราะ เปลืองเนื้อที่ของกระดาษ/มีจำนวนมากเกินไป ไร้สาระ เป็นการโฆษณาชวนเชื่อหลอกลวงประชาชน มีโฆษณาสิ่งที่ไม่ดี อยากให้ลงข่าวที่มีประโยชน์ดีกว่าลงโฆษณา/ทำให้หนังสือพิมพ์จะต้องลดพื้นที่รายละเอียดของข่าว และร้อยละ 48.4 ระบุไม่มีความเห็น


15. ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงบทบาทของหนังสือพิมพ์


ส่วนข้อเสนอแนะในการปรับปรุงบทบาทการทำงานของหนังสือพิมพ์ พบว่า


1) อยากให้เสนอข่าวที่เป็น ความจริง เสนอข้อเท็จจริงให้มาก อย่าเขียนข่าวเกินความจริง เขียนข่าวตรงไปตรงมา เขียนข่าวให้ตรงประเด็น (ร้อยละ 45.0)


2) อยากให้มีความเป็นกลาง/ไม่เสนอข่าวเข้าข้างใคร (ร้อยละ 24.6)


3) เสนอข่าวที่สร้างสรรค์สังคม/นำเสนอสิ่งที่ดีๆ /เสนอเรื่องทุกข์ร้อนของประชาชน (ร้อยละ 7.0)


4) ควรพิจารณาเลือกสรรข่าวในการนำมาลงในหนังสือพิมพ์ ไม่ใช่ต้องการขายข่าวเท่านั้น (ร้อยละ 4.2)


5) จัดสรรพื้นที่การนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้หลากหลาย (ร้อยละ 4.2)


6) ควรมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ (ร้อยละ 3.6) และ 7) อื่นๆ อาทิ ควรเขียนข่าวให้เข้าใจง่าย กล้าคิด กล้าทำกล้ารับผิดชอบ ไม่กลัวอิทธิพล อย่าขายข่าวจนเกินงาน มีความยุติธรรมในเนื้อหา ควรจัดข่าวให้จบในหน้าเดียว เป็นต้น (ร้อยละ 11.4)

16. ความคิดเห็นต่อ “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย”


จากการสำรวจพบว่ามีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 32.2 ที่ระบุว่ารู้จัก “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ในจำนวนนี้ร้อยละ 49.3 ระบุว่า รับทราบการทำงานของ “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา


โดยในกลุ่มคนที่รับทราบการทำงานของสมาคม ฯ ร้อยละ 37.9 ระบุว่า ประทับใจการทำงานของสมาคม ฯ เพราะมีความตั้งใจในการทำงาน ช่วยให้การนำเสนอข่าวสารมีความเป็นธรรม และช่วยส่งเสริมการรับรู้ข่าวสารอย่างทั่วถึง และช่วยจัดระเบียบของสื่อมวลชน


ร้อยละ 20.5 ไม่ประทับใจ เพราะเห็นว่ามีความเอนเอียงให้กับหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรม (การนำเสนอข่าวสาร) ที่มุ่งทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และทำงานไม่เต็มที่ ร้อยละ 41.6 ไม่มีความเห็น

17. ความคิดเห็นต่อ “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ”


มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.1 ที่ระบุว่ารู้จัก “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” ในจำนวนนี้ร้อยละ 60.0 ระบุว่า รับทราบการทำงานของ“สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา
โดยในกลุ่มคนที่รับทราบการทำงานของสภา ฯ


ร้อยละ 56.2 ระบุว่าประทับใจการทำงานของสภา ฯ เพราะเห็นว่าการทำงานมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการทำงานของสื่ออย่างสร้างสรรค์ ร้อยละ 16.4 ไม่ประทับใจ เพราะไม่มั่นใจในความเป็นกลาง ไม่มีผลงานเท่าที่ควร และไม่มีจรรยาบรรณ ร้อยละ 27.4 ไม่มีความเห็น


18. ข้อสังเกตและข้อคิดเห็นของผู้วิจัย

จากการสำรวจกลุ่มผู้อ่านหนังสือพิมพ์ในโครงการนี้ ผู้วิจัยมีข้อสังเกตและข้อคิดเห็นประเด็นสำคัญดังนี้


1)ความสนใจข่าวสารของคนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่เป็น “สาระ” ควบคู่กับ “สีสันความบันเทิง” ดังจะพบว่า ข่าวที่ผู้อ่านหนังสือพิมพ์ให้ความสนใจมากที่สุดคือ เรื่องการเมือง รองลงมาคือเรื่องบันเทิง อาชญากรรม เศรษฐกิจ และกีฬาตามลำดับ


2)การนำเสนอข่าว “ความขัดแย้งทางการเมือง” ที่ผ่านมามีปริมาณที่ค่อนข้างมาก โดยในรอบปี 2551 ผู้อ่านระบุว่าได้ติดตามข่าวความขัดแย้งทางการเมืองเฉลี่ยถึง 4.8 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งผู้อ่านเองก็รู้สึกว่า ปริมาณข่าวดังกล่าวมีจำนวนที่ “มากเกินไป” อย่างไรก็ตามการเสนอข่าวความขัดแย้งทางการเมืองก็ยัง “เป็นที่สนใจ” ของผู้อ่าน ดังจะพบว่ากลุ่มตัวอย่างโดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.1 ระบุว่า การนำเสนอข่าวความขัดแย้งทางการเมืองมีความ “น่าสนใจ”

3)ข่าวที่หนังสือพิมพ์ควรระมัดระวังในการนำเสนอคือเรื่อง ข่าวใบ้หวย การโชว์ภาพโป๊เปลือย ข่าวหมอดูทำนายเรื่องส่วนตัว ข่าวเชิงชู้สาวของดารา/นักร้อง และข่าวเสื่อมเสียเรื่องส่วนตัวของคนที่มีชื่อเสียง เพราะประเด็นเหล่านี้ผู้อ่านไม่ค่อยสนับสนุนให้มีการนำเสนอ


4)ในระยะต่อไป หนังสือพิมพ์ควรจะต้องระมัดระวังและเตรียมตัวตั้งรับกับ “ปฏิกริยาการตอบสนอง” ของผู้อ่านให้มากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่มีการนำเสนอข่าวสารที่ไม่ถูกต้องแล้วส่งผลกระทบต่อบุคคล เนื่องจากผู้อ่านร้อยละ 54.2 ตั้งใจว่าจะร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (หากมีกรณีดังกล่าวกระทบต่อตนเอง) ร้อยละ 49.7 ตั้งใจจะเขียนจดหมายไปตำหนิติเตียนต่อหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ร้อยละ 42.7 จะฟ้องร้องดำเนินคดีต่อหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ร้อยละ 27.5 จะตอบโต้โดยการเชิญชวนคนไม่ให้ซื้อหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น และร้อยละ 13.0 คิดจะพาพวกไปชุมนุมประท้วงหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น