วันนี้ แม้วิกฤติเศรษฐกิจจะเป็นภัยที่ทำให้คนไทยเดือดร้อนกันทั่วหน้า แต่ยังไม่กระจายถ้วนทั่วทุกชนชั้นวรรณะเท่า...ยุง
ปีนี้ ยุงเยอะเป็นประวัติการณ์ ชุมอย่างเดียวไม่พอ ช่วงเวลาออกทำมาหากัดกิน ดูดเลือดคนเรา ยังยาวนานมากกว่าเดิมด้วย
แต่ไหนแต่ไรมา ยุงจะออกมาหากินตั้งแต่ช่วงพลบค่ำถึงหัวค่ำ 2-3 ทุ่ม ยุงก็จะจางหายไม่ทำให้เราคันคะเยออีกแล้ว
ปีนี้ ตอนนี้ ยุงเปลี่ยนไป ดึกดื่นค่อนคืน 45 ทุ่ม ยังมาชุมนุมบินตอมดูดเลือดเราอยู่เลย
ปรากฏการณ์ยุงชุมอาละวาดผิดปกติวิสัยที่เคยเป็น มีสาเหตุมาจากอะไร...เป็นเพราะภาวะโลกร้อน อย่างที่เขาว่ากันจริงหรือเปล่า?
“การที่ยุงเยอะขึ้นเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนหรือไม่ ในทางวิชาการต้องบอกว่าไม่รู้ เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการพิสูจน์ เพราะไม่มีนักวิทยาศาสตร์ ทั้งไทยและต่างประเทศทำการศึกษาเรื่องนี้โดยตรง
แต่ถ้าถามว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้น มีผลต่อยุงหรือไม่ ตอบได้เลยว่ามีผลต่อยุงมาก และไม่เพียงยุงเท่านั้น มีผลต่อทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ แม้แต่คนเรา อุณหภูมิเปลี่ยนไปนิดเดียวก็ทำให้เป็นไข้ได้แล้ว ยุงก็เช่นกัน”
ศ.ดร.ธีรภาพ เจริญวิริยะภาพ รองหัวหน้าภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นในฐานะที่ใช้ชีวิตคลุกคลีศึกษาเรื่องยุงมานานร่วม 15 ปี
อุณหภูมิสูงขึ้น สำหรับคนอาจจะไม่สบาย
แต่สำหรับยุง นั่นคือ...สัญญาณบอกเหตุของความอุดมสมบูรณ์ พูนสุขของช่วงชีวิต
ปัจจัยที่ทำให้ยุงเจริญเติบโตแพร่พันธุ์ได้ดีที่สุดอยู่ที่แหล่งที่พักพิง ที่วางไข่ และอาหาร ใน 3 ฤดูของปี...ร้อน ฝน หนาว ฤดูร้อนถือเป็นช่วงเวลาที่ 3 ปัจจัยเอื้ออำนวยสัมพันธ์แบบได้ดุลกันพอดี
“ธรรมชาติของยุงโดยทั่วไป จะออกหากิน 2 ช่วงเวลา หัวค่ำ กับ ตอนใกล้สว่าง ที่เหลือเวลานอกจากนั้น ยุงจะเข้าไปหลบซ่อนในแหล่งพักพิง แหล่งพักพิงที่ยุงชอบจะต้องมีคุณสมบัติคือ มืด ร้อน และต้องชื้นด้วย ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นใต้ร่มไม้ใบหญ้าที่รกครึ้ม ในท่อระบายน้ำเสีย
แต่พอถึงหน้าร้อน ฤดูแล้งที่ขาดแคลนน้ำ พฤติกรรมของคนจะเอื้อประโยชน์ให้กับยุงโดยไม่รู้ตัว นั่นก็คือ คนกลัวจะไม่มีน้ำกินน้ำใช้ จะเก็บกักน้ำใส่ตุ่มใส่โอ่งไว้ นี่แหละแหล่งที่อยู่อาศัยและที่วางไข่ชั้นดีของยุง”
ถึงจะมีการปิดฝาไว้มิดชิดก็ตาม ยุงก็เข้าไปวางไข่ได้ เพราะเวลาจะเอาน้ำในโอ่งมาใช้ ต้องมีการเปิดฝา...เปิดทิ้งไว้แค่ 5 นาที ก็มากพอที่จะให้ยุงได้เข้าไปนอนและวางไข่
โอ่งใส่น้ำเลยเป็นบ้านแห่งความสุขสุดยอดของยุงไปโดยปริยาย... ด้วยมีคุณสมบัติครบ ทั้งมืด ทั้งร้อน ทั้งชื้น เสร็จสรรพอยู่ในตัว
นั่นเป็นคุณสมบัติพื้นฐาน ยังไม่เท่าฤดูร้อน...มีอาหารเพียบและหาง่าย
“ยุงจะเยอะไม่เยอะอยู่ที่อาหาร เพราะถ้าอาหารดี ยุงดูดเลือดได้มากก็จะวางไข่ได้มาก ยุงตัวหนึ่ง ถ้ามีเลือดให้ดูดกินอิ่ม วางไข่ครั้งหนึ่งได้ถึง 200 ฟอง อาหารไม่ดีจะวางได้น้อยแค่ 20 ฟองต่อครั้งเท่านั้น”
โดยภาวะปกติ โลกไม่ต้องร้อนมากขึ้น เอาแค่หน้าร้อนธรรมดาทั่วไปนี้ ศ.ดร.ธีรภาพ บอกว่า ยุงก็มีอาหารให้เลือกมากมายอยู่แล้ว
“มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์เราและสัตว์ทั่วไป อาการร้อนขึ้น ขบวนการสันดาปเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ที่เรียกว่า เมแทบอลิซึม (Metabolism) จะทำงานได้ดี เผาผลาญอาหาร เผาผลาญพลังงานได้ดี
เมื่อเผาผลาญได้ดี สิ่งที่ตามมาก็คือ ร่างกายจะขับของเสียออก มีทั้งเหงื่อ ขี้เต่า และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ของเสียที่ร่างกายขับออกมาจากกระบวนการเมแทบอลิซึมทั้งของคนและสัตว์ จะส่งกลิ่นขจรขจายให้ยุงได้รับรู้ และบินพุ่งมาที่เหยื่อ หาอาหารได้ง่ายและตรงจุด”
ยิ่งไปกว่านั้นธรรมชาติของฤดูร้อน มีปัจจัยเกื้อหนุนอีก 2 ประการที่ทำให้ยุงหาอาหารได้ง่ายกว่าเดิม นั่นก็คือ...
1. หน้าร้อน มักจะมีลมพัดเอื่อยๆมาตลอด ลมเอื่อยๆช่วยพัดกลิ่นให้ยุงได้รับรู้ว่าอาหาร เลือดอยู่ตรงไหนได้ไกลขึ้น เรียกยุงจากที่ไกลได้มากขึ้น ยุงก็เลยแห่กันมารุมกินโต๊ะกันมากขึ้น
2. หน้าร้อน อยู่ในบ้านร้อนเหลือเกิน นั่งไม่ค่อยติด คนมักจะออกมานั่งทำกิจกรรมรับลมกันนอกบ้าน...ไม่ต่างอะไรกับเดินออกมาให้ยุงได้กินเล่น
ไม่เหมือนฤดูหนาว ฤดูฝน อากาศไม่ร้อนกระบวนการเมแทบอลิ ซึมไม่ค่อยทำงาน...อาหารยุงส่งกลิ่นไม่แรง ยุงหาอาหารยากขึ้น แถมคนยังอยู่แต่ในบ้าน
ยุงดูดเลือดได้น้อยลง...วางไข่ได้น้อยลง ยุงก็เลยไม่มาก
แต่ตอนนี้ ปีนี้โลกร้อน อุณหภูมิสูงขึ้น...กระบวนการเมแทบอลิซึมทำงานหนักขึ้น กลิ่นอาหารแรงขึ้น คนออกมาเดินเล่นนอกบ้านมากขึ้น ยุงมีอาหารให้ดูดกันอย่างเต็มคราบ
วางไข่ออกลูกได้เต็มครอก...ยุงก็เลยมากขึ้น
แต่อากาศที่ร้อนขึ้นไม่ได้ส่งผลดีต่อยุงเรื่องมีอาหาร มีเลือดให้ดูดกินพร้อมมูลเท่านั้น...ยังทำให้วงจรชีวิตยุงเปลี่ยนไป
ทำให้ยุงแก่แดด...โตเร็วเกินวัยมากขึ้นอีกด้วย
“ปกตินั้นวงจรชีวิตยุงจะมีประมาณ 3 เดือน คือเป็นไข่ประมาณ 3 วัน เป็นลูกน้ำอีกประมาณ 10-14 วัน และออกมาเป็นยุงบินดูดเลือดอีก 2 เดือน ในช่วงที่เป็นยุงดูดเลือดนั้น ดูดเลือดอิ่มจะวางไข่ได้ประมาณ 7-8 ครั้ง นั่นเป็นภาวะปกติ
แต่ถ้ามีปัจจัยสภาพแวดล้อมเป็นใจ ภูมิอากาศเหมาะสม อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ สามารถวางไข่ได้ถึง 20 ครั้งเลยทีเดียว”
และถ้าอุณหภูมิสูงขึ้น อายุการฟักตัวออกจากไข่และการเป็นลูกน้ำจะสั้นลง...ไข่กลายเป็นยุงเร็วขึ้น
ไข่เป็นลูกน้ำ จาก 3 วัน จะเหลือแค่ 1.5-2 วัน...ลูกน้ำเป็นยุงจาก 10-14 วันจะเหลือแค่ 8-10 วัน
นั่นก็หมายความว่า ยุงแก่แดดมีโอกาสมีช่วงเวลาที่จะดูดเลือดวางไข่ออกลูกออกหลานได้หลายครอกมากกว่า
จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมวันนี้ยุงมันถึงได้เยอะมากมายเหลือเกิน...จนน่าห่วงว่า โรคที่มาจากยุงที่เราไม่เคยเจอมาก่อนอาจจะได้เจอกันมากขึ้น
“ที่ผ่านมา เรารู้จักโรคที่มาจากยุงแค่ไม่กี่ชนิด โรคเท้าช้าง ไข้สมองอักเสบ มาลาเรีย ไข้เลือดออก แต่ตอนนี้เริ่มเจอโรคเก่าอุบัติใหม่ เกิดขึ้นแล้ว โรคชิคุนกุนยา (อาการคล้ายไข้เลือดออก) ที่หายไม่พบมานานกว่า 10 ปี ปีที่แล้วโผล่ขึ้นที่ภาคใต้
ต่อไปไม่รู้ว่าจะมีโรคไหนโผล่ขึ้นมาอีก เพราะในโลกนี้มีโรคที่มาจากยุงเยอะมาก เป็น 1,000 กว่าชนิด ตอนนี้ที่กำลังจ่อใกล้บ้านเรามาแล้วอีกโรค West Nile Virus (คล้ายไข้เลือดออก) เดิมเป็นโรคที่พบในประเทศยูกันดา ในทวีปแอฟริกา
แต่ตอนนี้แพร่ไปหลายพื้นที่แล้ว สหรัฐอเมริกาเจอไปหลังเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ พายุเฮอริเคนแคทรีนาถล่มรัฐหลุยส์เซียนา เมื่อปี 2548”
รายงานล่าสุดโรคอันมียุงเป็นพาหะชนิดนี้ได้แพร่มาถึงอินเดีย ใกล้ประเทศไทยเต็มทีแล้ว.