ที่มา Thai E-News
ทีมงานไทยอีนิวส์
5 มีนาคม 2552
ผู้เขียนมีความตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่า สิทธิ เสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทั้งในฐานะที่เป็นปัจเจกชนและสื่อมวลชน เป็นหลัการที่ต้องพิทักษ์ รักษา และปกป้องมิให้มีอำนาจใดๆมาล่วงละเมิดได้ ยังตระหนักอีกว่า สื่อมวลชน เป็นสถาบันที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการค้ำจุนการปกครองในในระบอบบประชาธิปไตย การคุกคามและลิดรอน สิทธิ เสรีภาพ ของสื่อมวลชนถือเป็นการคุกคามระบอบประชาธิปไตยไปด้วย
ทั้งนี้สื่อมวลชนจักต้องอยู่ภายใต้กรอบของการเคารพ สิทธิ เสรีภาพ ของบุคคลอื่นอย่างเสมอกัน และสื่อมวลชนจะต้องถือเอาความสามัคคี ความเป็นปึกแผ่นของคนในชาติเป็นที่ตั้ง ส่งเสริมให้มีการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมด้วยปัญญาและสันติวิธี ยึดมั่นต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัด อีกทั้งจะต้องไม่ละเมิดจรรยาบรรณของสื่อมวลชนอันเป็นหลักการแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนอีกด้วย.
ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมานี้ สังคมไทยได้เกิดความขัดแย้งทางความคิด การเมือง จนแบ่งฝ่ายกันชัดเจนในทุกวงการ โดยมีฝ่ายเสื้อเหลืองที่ต้องการการเมืองระบอบ 70/30 ฝ่ายหนึ่ง และฝ่ายเสื้อแดงที่ต้องการให้ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง อีกฝ่ายหนึ่ง
ในสถานการณ์ที่เกิดความขัดแย้งทางสังคมอย่างรุนแรงเช่นนี้ แทนที่สื่อมวลชนจะส่งเสริมการแก้ไขความขัดแย้งด้วยปัญญาโดยสันติวิธี ภายใต้กรอบของการเคารพ สิทธิ เสรีภาพ ของบุคคลอื่นอย่างเสมอกัน ถือเอาความเป็นปึกแผ่นของคนในชาติเป็นที่ตั้ง ยึดมั่นต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด และใช้จรรยาบรรณของสื่อมวลชนเป็นสิ่งชี้นำ
สื่อมวลชนกลับแสดงตนเป็นกลุ่มการเมืองเสียเอง โดยใช้องค์กรวิชาชีพของตนเป็น กลุ่มกดดันทางการเมือง(Pressure Group) รวมหัวนักข่าวนักหนังสือพิมพ์และคอลัมนิสต์ นำเสนอข่าวด้วยมติของแกนนำ และการชี้ทิศทางข่าวสารโดยกลุ่มบุคคล จนสูญเสียหลักการแห่งการแสวงหาความเป็นจริง หลักการแห่งการเคารพสิทธิอัตวินิจฉัยของปัจเจกชน หลัการแห่งความเป็นอิสระ และหลักการแห่งการนำเสนอข่าวสารอย่างครบถ้วน รอบด้าน
ในรอบสามปีที่ผ่านมานี้ สื่อมวลชนไทยโดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ พร้อมด้วยองค์กรวิชาชีพสื่อทั้งหลาย มิได้ทำหน้าที่สื่อมวลชนในฐานะสถาบันสื่อมวลชนในระบอบประชาธิปไตย มิได้แสดงตนเป็นสถาบันที่ยึดมั่นต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่ทำหน้าที่เป็นกลุ่มกดดันทางการเมือง ออกแถลงการณ์เสนอข้อเรียกร้องเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มพันธมิตรเสียเอง
เมื่อสื่อมวลชนได้วางตนเป็นกลุ่มกดดันทางการเมืองเสียเองแล้ว การนำเสนอข่าวสารก็เพื่อเป้าหมายแห่งการกดดันทางการเมืองของตนเท่านั้น ประชาชนมิอาจคาดหวังความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข่าวสารที่สื่อมวลชนนำเสนอได้อีกต่อไป นอกจากนี้สื่อมวลชนยังได้แสดงตนเป็นกลุ่มคนที่หันหลังให้ระบอบประชาธิปไตยและมีส่วนทำลายครรลองอันดีงามของสังคมด้วยพฤติกรรมต่างๆดังนี้:
การส่งเสริมพฤติกรรมกลุ่มเรียกร้องนายกพระราชทาน ผ่าน ม.7
สร้างความชอบธรรมให้แก่การคว่ำบาตรการเลือกตั้ง
การบิดเบือนข่าว เต้าข่าว
การยุยงส่งเสริมให้เกิดความเคียดแค้นชิงชังในสังคม
การเพิกเฉยต่อการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ
การส่งเสริมและสร้างความชอบธรรมให้แก่ คมช. อันเป็นร่างทรงของอมาตยาธิปไตย
การเพิกเฉย ทำเป็น “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่” ต่อการกลั่นแกล้งทางการเมือง หรือทำลายล้างทางการเมืองด้วยกระบวนการยุติธรรมเฉพาะกิจ ภายใต้การกำกับอย่างใกล้ชิดของอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ
นำเสนอข่าว การยึดสถานีโทรทัศน์ NBT การยึดทำเนียบรัฐบาล การยึดสนามบิน ด้วยจุดยืนที่มุ่งขายข่าว และแก้ต่างให้กับการกระทำที่ผิดกฎหมาย
การ “ไม่ดูดำดูดี” กับการละเมิด ความเป็นนิติรัฐ และนิติธรรม
การส่งเสริมและสร้างความชอบธรรมต่อรัฐธรรนูญ 2550 ซึ่งเป็นกติกาทีเพิ่มขยายวิกฤติการเมืองให้รุนแรง
เป็นต้น
เมื่อได้พิเคราะห์พฤติกรรมของสื่อจากข้อมูลเชิงประจักษ์และที่ประจักษ์แล้ว จึงวินิจฉัยว่า สื่อมวลชนไทยเข้าสู่ภาวะล้มละลายทางความน่าเชื่อถือโดยสมบูรณ์แล้ว...
พลังประชาชนควรก่อตัว รวมกลุ่มขึ้นมาเพื่อปฎิรูปสื่อ โดยปฏิเสธ(ไม่ซื้อ ไม่อ่าน ไม่ดู ไม่ฟัง) การรับรู้ข่าวสารจากสื่อมวลชนที่ปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยทุกวิถีทาง ส่งเสริมสื่อมวลชนที่พิทักษ์ และผดุงระบอบประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันประชาชนอาจจำเป็นที่จะต้องรวมตัวกันสร้างสื่อของตนเอง ด้วยรูปแบบ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม
ในโอกาสวันนักข่าวนี้ เราได้แต่หวังว่า การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางการเมืองในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจะทำให้สื่อมวลชนได้เรียนรู้ และตระหนักถึงความสูญเสียที่เกิดจากการไปส่งเสริมกระบวนการทางการเมืองที่นอกลู่นอกทาง
3 ปีผ่านไปเราเชื่อมั่นว่า นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ จะได้ใช้โอกาสวันนักข่าว ทบทวนจุดยืนทางการเมืองและพัฒนานโยบายเสนอข่าวสารของตนเสียใหม่
ประชาชนยังให้โอกาสต่อผู้สำนึกผิดและกลับเนื้อกลับตัวเสมอ
เราดีใจที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงจำนวนหนึ่ง เกิดขึ้นในวงการสื่อ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา