ที่มา Thai E-News
โดย สมุดบันทึกสีแดง
9 มิถุนายน 2552
ก่อนเข้าสู่ประเด็นเรื่องสื่อ ผู้เขียนอยากชวนเพื่อนๆเสื้อแดงให้มาร่วมกันพัฒนาเสนอแนวคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ปัจจุบันมาตรฐานในสังคมไทยมันอยู่ในขั้นเน่าเฟะ ไม่ว่าจะเป็นระบบความยุติธรรม มาตรฐานในการเสนอข่าวของสื่อสารมวลชนกระแสหลัก กติกาความเป็นประชาธิปไตย การอัดฉีดอุดมการณ์ขวาจัดแบบไทยๆที่ใช้ราชวงศ์เป็นเครื่องมือหลักอย่างเว่อร์ๆมอมเมาประชาชน องค์ประกอบเหล่านี้ การปฏิรูปภายในกรอบเดิมนั้นไม่สามารถที่จะเยียวยาสังคมไทยมันเดินทางมาถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งหมดอย่างถอนรากถอนโคน
อย่างไรก็ตามโครงสร้างเน่าๆจริงอยู่มันมีความเสื่อม แต่ความเสื่อมนี้จะไม่ตายไปเองอย่างอัตโนมัติ หน้าที่ของพวกเราคือจี้จุดอ่อนของมันให้มากที่สุดเพื่อลดความชอบธรรมของการดำรงอยู่ของมัน เปิดโอกาสให้โครงสร้างสังคมที่เหมาะสมกับทุกคนเกิดขึ้นมา ความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้มันมีหน่ออ่อนของสังคมใหม่
ในหลายด้านพวกเราคนธรรมดานี่แหละได้ช่วยกันสร้างขึ้นมาภาระกิจต่อไปนั้นเราต้องช่วยกันคิดและพัฒนาต่อ เพราะพวกนักวิชาการเสื้อเหลืองจะคิดหาทุกวิธีการพยุงโครงสร้างเน่าๆให้กดขี่เราต่อไป (ล่าสุด บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถูกจับผิดว่าพร้อมจะโกหกเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ ในสังคมสากล แต่คนแบบนี้หน้าด้านไม่อายใคร) คนเสื้อแดงอยู่ในทุกส่วนของสังคมฉะนั้นเราเริ่มจากตรงนั้นได้เพราะเรารู้ดีว่าในวงการของเรามันแย่อย่างไร มันรับใช้ใครอย่าง และเราอยากให้มันเป็นอย่างไร
สื่อ
วงการสื่อสารมวลชนมันจะเลวร้ายกว่านี้ไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะมันเดินทางมาถึงจุดต่ำสุดของความเสื่อมทรามในทุกด้าน อย่างไรก็ตามสิ่งที่ตามมาติดๆจากวิกฤติ คือ การเกิดขึ้นของคลื่นลูกใหม่ที่น่าทึ่งในหลากหลายรูปแบบ การใช้บล็อก ใช้อินเตอร์เนตเป็นเครื่องมือต่อสู้กับเผด็จการ
ปรากฎการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทยเท่านั้น มันเกิดขึ้นในตะวันออกกลางไม่ว่าจะเป็น อิหร่าน อียิปต์ หรือ ประเทศจีน ก็เช่นเดียวกัน คนเสื้อแดงต้องแปรเปลี่ยนอารมณ์โกรธให้เป็นพลัง เป็นหอกทิ่มแทงพวกอำมาตย์ ในระยะยาวเราต้องรณรงค์ให้เอาสื่อมาเป็นของประชาชน พร้อมๆกับต้องจัดการกับพวกสื่อเหลืองขี้ข้ารับใช้เผด็จการ การรณรงค์เรื่องสื่อเราจะต้องทำความเข้าใจอย่างชัดเจนในประเด็นต่อไปนี้
สื่อล้างสมองคนได้จริงหรือ?
คำโกหกติดปากของพวกเหลือง คือ ชาวบ้านเข้าไม่ถึงข้อมูล หรือ ได้ข้อมูลมาก็ถูกหลอก ไม่ว่าจะพูดยังไงพวกนั้นก็ยังวนเวียนอยู่ในตรรกะของการเมืองว่าชาวบ้านเป็นเหยื่อ..โง่ ส่วนความวิตกกังวลของเสื้อแดงนั้นจะอยู่ที่ประเด็นการคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จของเผด็จการ ทำให้ความเป็นจริงในสังคมถูกผูกขาด? ทำให้สังคมไม่เข้าใจคนเสื้อแดง? ความกังวลที่มีเหตุผลเหล่านี้เราต้องมาพิจารณาจากข้อมูล ความเป็นจริงที่ดำรงอยู่
ตัวอย่างที่หนึ่ง ข่าว(เซ็นเซอร์) ข่าวนี้มีออกอากาศทุกวันเพื่อสร้างภาพว่าพวกนี้ทำเพื่อประชาชนและประชาชนรัก คนที่ชอบดูและเลื่อมใสจริงก็คงมี แต่คนที่เห็นต่างก็มีด้วยอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ ถ้าเรามีโอกาสดูร่วมกับชาวบ้านบางส่วนจะพบว่าเขาดูข่าวนี้แบบ “ดูไปด่าไป” ข่าวลือในเชิงลบทั้งหลายถูกใส่สีตีไข่สนุกสนานเพื่อฆ่าเวลา หรือ การฉวยโอกาสที่มีข่าว(เซ็นเซอร์)ไปอาบน้ำอาบท่า หรือ ออกไปสูบบุหรี่เพื่อเตรียมตัวดูละครทีวีน้ำเน่าอันเป็นความบันเทิงราคาถูกที่สรรหาได้ง่าย แล้วก็เปิดทีวีทิ้งไว้ให้หมาให้แมวดูข่าวใน(เซ็นเซอร์)แทน ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าว่าคนไม่ได้เป็นเหยื่อของสื่อ
ตัวอย่างที่สอง ข่าวการลงประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เมื่อก่อนพวกเหลืองมักอ้างว่ายุคทักษิณนั้นรัฐบาลแทรกแซงสื่อ แต่พอรัฐประหาร 19 กันยา พวกท๊อปบู๊ทเข้ามาคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จ พวกเหลืองก็ไม่มีใครมาวิจารณ์เรื่องนี้สักแอะ! หนำซ้ำยังช่วยรณรงค์อย่างขันแข็งให้ประชาชนช่วยๆรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ไปก่อน มีปัญหาแล้วค่อยมาแก้ทีหลัง ในขณะเดียวกันนั้นรัฐบาลเผด็จการทหารได้ห้ามอย่างเด็ดขาดไม่ให้มีการโฆษณารณรงค์เพื่อไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลเผด็จการทหารได้ใช้สื่อทุกชนิดเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญของตนเอง เท่านั้นยังไม่พอยังมีการประกาศกฎอัยการศึกกว่า 30 จังหวัดบังคับไม่ให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งกินความถึงการรณรงค์ไม่รับร่างฯ 50 ด้วย ผลออกมาประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ 50 แต่ด้วยคะแนนเฉียดฉิวเท่านั้น ทั้งๆที่เผด็จการใช้สื่อในทุกช่องทาง ตัวอย่างนี้ก็ยืนยันอีกว่าประชาชนคิดเองและเลือกเองได้ มีอีกหลายตัวอย่างที่ยืนยันว่าสื่อมีขีดจำกัดในการล้างสมอง
จะจัดการสื่อขี้ข้าเผด็จการอย่างไร
สื่อมีขีดจำกัดในการชักชวนให้คนเชื่อเผด็จการ แต่ความจริงข้อนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะปล่อยให้พวกนี้เห่าไปเรื่อยๆ คนเสื้อแดงต้องทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านตรวจสอบสื่อที่รับใช้เผด็จการโดยเฉพาะในด้านจรรยาบรรณ มาตรฐานแท้ในสังคมถึงจะเกิดขึ้นได้ หนทางมีหลายสายให้เลือก เช่น คนเสื้อแดงจะต้องมาเริ่มจัดเรตความน่าเชื่อถือของสื่อ ข่าวแต่ละช่องมีความน่าเชื่อถือกี่ % หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับมีความเชื่อถือฉบับละกี่ % นักวิเคราะห์ข่าวแต่ละคนจุดยืนเหลืองกี่% ยึดมั่นประธิปไตยกี่% นักข่าวคนไหนชอบโกหก เปิดโปงออกมาให้หมดไปตามเครือข่ายของพวกเรา และชักชวนให้ส่วนอื่นของสังคมมาร่วมตั้งคำถามกับสื่อพวกนี้ด้วย จากนั้นอาจจะจัดงานเพื่อมอบรางวัลนักข่าวยอดแย่ แต่ยอดเยี่ยมในการรับใช้เผด็จการเปิดโปงให้สุดๆไปเลย นี่เป็นการเขียนประวัติศาสตร์ไว้ให้คนรุ่นหลัง รุ่นลูกรุ่นหลานของเราดูอย่างเป็นรูปธรรม อย่าให้พวกนั้นมันทำเราฝ่ายเดียว ถ้านักข่าวภาคสนามของสื่อกระแสหลักอยากพิทักษ์ความจริง คนเสื้อแดงก็ต้องชักชวนนักข่าวภาคสนามให้สู้กับกอง บก. ของพวกเขาเองว่าต้องรายงานข่าวทั้งสองด้าน ถ้าพวกกอง บก.มันไม่เอา ให้ส่งข่าวเหล่านั้นมาที่สำนักข่าวของเสื้อแดงเพื่อตีแผ่ความจริง
ใครควรเป็นเจ้าของสื่อ
ประเด็นต่อไปที่เราจะต้องชัดเจน คือ ใครควรจะเป็นเจ้าของสื่อ ปัจจุบันคนที่เป็นเจ้าของคือรัฐบาล นายทุนหนังสือพิมพ์ และทหาร ตามหลักการแล้วคนที่ควรจะเป็นเจ้าของสื่อคือประชาชน นั่นหมายความว่าเราต้องขับไล่ทหารออกไปจากวงการสื่อสารมวลชนให้หมด มันไม่ใช่หน้าที่ของพวกสีเขียวแม้แต่น้อยที่จะมาจุ้นจ้านเรื่องสื่อ สำหรับสื่อหนังสือพิมพ์ยุคนี้ถูกควบคุมโดยนายทุนใหญ่ที่หมอบคลานกับอำมาตย์ ในอนาคตหนังสือพิมพ์ไม่ควรจะตกอยู่ภายใต้อำนาจนายทุนใหญ่แต่ควรจะมีรูปแบบสหกรณ์ที่บริหารโดยนักข่าวเองภายใต้จรรยาบรรณการเสนอความจริงของนักหนังสือพิมพ์ สื่อที่สามคือสื่อของรัฐบาลซึ่งไม่ควรถูกควบคุมโดยรัฐบาลแต่ควรจะเป็นสื่อสาธารณะที่มีผู้แทนประชาชน เข้ามาเป็นคณะกรรมการบริหารโดยสะท้อนทุกมุมมองของสังคม ซึ่งจะต่าง TPBS ในยุคนี้หรือ NBT ที่ถูกควบคุมโดยอิทธิพลของพวกเสื้อเหลือง
ถ้าจะมีสื่อเสรีจะต้องยกเลิก กฎหมายเซ็นเซ่อร์ กฎหมายหมิ่นฯ กฎหมายคอมพิวเตอร์ เพราะกฎหมายพวกนี้มันทำลายมาตรฐานของระบบสื่อสารมวลชนลงอย่างย่อยยับ รัฐบาลไม่ควรจะมีสิทธิในการตรวจสอบเนื้อหาของวิทยุชุมชนหรือสถานีวิทยุที่ถ่ายทอดผ่านอินเตอร์เนต เพราะอำนาจแบบนั้นขัดกับหลักการประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามในสังคมอารยะจะต้องมีการควบคุมสื่อแบบ ASTV ที่จงใจโกหกและชักชวนให้มีการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่รักประชาธิปไตย
ทีนี้เราต้องมาดักคอข้อเสนอของพวกเหลืองในประเด็นว่าใครควรจะเป็นเจ้าของสื่อ พวกนี้จะเสนอเป็นประจำว่าว่า ต้องมีการแต่งบอร์ดบริหารโทรทัศน์โดยผู้ทรงคุณวุฒิมีความรู้ความสามารถซึ่งบอร์ดบริหารเหล่านี้จะต้องเป็นอิสระ คอนเซพต์เหล่านี้ล้วนแต่เป็นคำโกหกคำโต เพราะในรูปธรรมคำว่าอิสระนั้นมันเป็นความอิสระจากการตรวจสอบของประชาชน เราต้องฟันธงไปเลยว่าโทรทัศน์มันต้องเป็นของประชาชน หากต้องการฝ่ายค้านนั้นก็ให้เลือกตั้งตัวแทนแต่ละฝ่าย ต้องเอาคนที่กล้าประกาศตรงๆว่าเป็นสีเหลือง เป็นสีแดง ในปริมาณที่เท่ากันให้มาคานกัน ส่วนพวกที่อ้างว่าเป็น “กลาง” (อีแอบ) เราต้องเขี่ยออกไปเช่นเดียวกันเพราะพวกนี้ตอแหลเรื่อยๆเพื่อให้ตัวเองดูดี สุดท้ายมันก็เป็นเหลืองอ๋อยหมด อย่างไรก็ตามในขณะที่สื่อมันยังไม่ได้เป็นของประชาชน คนเสื้อแดงต้องมีสื่อเป็นของตัวเอง แต่เป้าหมายระยะยาวเราต้องเอาสื่อมาเป็นของประชาชน
สื่อของคนเสื้อแดง
ลักษณะหน่ออ่อนที่น่าชื่นชมและต้องช่วยกันประคับประคอง คือ ในระดับชาวบ้านจะเจอปรากฎการณ์ข่าวเราๆเล่าเองผ่านวิทยุชุมชน รูปแบบเหมือนที่พวกเขาเห็นในทีวีนั่นแหละแต่ทิศทางนั้นตรงกันข้ามกับนักข่าวน้ำเน่าในทีวี ชาวบ้านเสื้อแดงวิจารณ์นักการเมืองทั้งสองฝ่าย ตบท้ายด้วยการด่าเผด็จการเชิดชูประชาธิปไตย มันคือความน่าทึ่งของคนธรรมดาที่พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำเป็นผู้ตามอย่างมีคุณภาพเพราะมีส่วนร่วมซึ่งกันและกัน สังคมในโลกไซเบอร์ก็เช่นเดียวกันเราเห็นนักวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองประเด็นต่างๆ เกิดขึ้นมาอย่างหลากหลายข้อเสนอเหล่านี้ก็มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ก็วิจารณ์กลับภายใต้การใช้เหตุผลให้ข้อมูลเพิ่มซึ่งเป็นลักษณะของการร่วมกันนำในระดับฐาน บางคนเริ่มจากการด่า เมื่อด่าเบื่อแล้วก็หันมาสนใจในระดับแนวความคิดว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ และอะไรคืออุปสรรคแท้ที่เป็นก้างขวางคอประชาธิปไตยอยู่
เอาเข้าจริงๆคนที่สังเกตุคนเสื้อแดง แม้แต่คนเสื้อแดงเองก็เห็นว่านักการเมืองเก่ามีขีดจำกัดในการนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน เพราะเป็นนักเลือกตั้งและต้องการอยู่ในกติกาของกรอบปัจจุบัน บ่อยครั้งประเด็นทางการเมืองจึงย่ำอยู่กับที่ในขณะที่คนธรรมดาทั้งใจและอารมณ์นั้นไปไกลแล้ว เพียงแต่หาทางกำหนดรูปร่างองค์กรของตัวเองยังไม่ได้ แต่ใช่ว่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะไม่มีนักการเมืองหัวก้าวหน้า ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงชนิดถอนรากถอนโคน ซึ่งพวกเขาทำได้โดยมีองค์กรจัดตั้งทางการเมืองของตัวเอง เช่น ปรีดี พนมยงค์ คณะราษฏร พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย นักการเมืองแนวสังคมนิยมในยุคหลัง 14 ตุลา หรือบางส่วนของนักการเมืองในกลุ่มเสื้อแดงปัจจุบัน
วกเข้าสู่หน่ออ่อนสื่อของคนเสื้อแดง ซึ่งลักษณะเหล่านี้มันเป็นรูปแบบของการมีส่วนร่วมเพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพของแต่ละคน แค่ข่าวการเมืองไม่พอ เริ่มมีการนำข่าวสถานการณ์เรื่องเศรษฐกิจ ข่าวต่างประเทศที่เขียนเกี่ยวกับประเทศไทยคนที่รู้ภาษาต่างประเทศก็ช่วยกันแปลผ่านการเปิดบล็อคอย่างง่ายๆ เพราะทนกับท่าทีของนักข่าวน้ำเน่าไม่ได้ หน่ออ่อนเหล่านี้พัฒนาตนเองภายใต้เป้าหมายที่อยากให้พวกเราเข้าใจความจริงมากที่สุด มีประชาธิปไตยมากที่สุด มีการระดมเงินทุนกันเองเพื่อสนับสนุนให้สื่อทางเลือกเหล่านี้คงอยู่ ความจริงอันนี้บอกได้อย่างเดียวว่า “น่าทึ่งและตื่นเต้น”
วิทยุชุมชนซึ่งเป็นสื่อที่มีความสำคัญลำดับต้นๆของคนเสื้อแดง พวกเราคงต้องทำงานหนักเพื่อต่อสู้ให้ได้สิทธิในวิทยุชุมชนมา หากรัฐบาลมันพยายามปราบและห้ามไม่ให้คนเสื้แดงใช้มันก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องลงใต้ดิน เพื่อหาทางใช้คลื่นให้ได้ ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็ต้องอาศัยช่างเทคนิคของคนเสื้อแดงช่วยกันคิดค้นหาวิธีการ บทเรียนจากประเทศอื่นยุคที่รัฐบาลคุมสื่อทั้งหมด ได้มีความพยายามสร้างสถานีวิทยุของของตนเองขึ้นมา เป็นการส่งคลื่นความถี่แบบเถื่อนๆ เอาเครื่องส่งสัญญานใส่ในรถกะบะหรือบนเรือ แบบนี้พวกฝ่ายรัฐมันจะจับไม่ได้ว่าแหล่งส่งข่าวออกมาจากไหน
ลักษณะสื่อของคนเสื้อแดง
ขอสดุดีช่างเทคนิคที่เปิดเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในงานวันนั่งเก้าอี้ของ(เซ็นเซอร์) ตอนนี้เรากำลังทำสงครามทางความคิดกับฝ่ายเผด็จการ ซึ่งหนังสือพิมพ์ของเสื้อแดงมีความสำคัญตรงที่มันจะเป็นกลไกในการติดอาวุธทางความคิดเพื่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนั่นหมายความว่าหนังสือพิมพ์นี้จะต้องจัดหาความรู้ทฤษฏีทางการเมืองชนิดต่างๆ อันไหนให้ผลประโยชน์กับพวกเผด็จการอันไหนให้ผลประโยชน์สำหรับเสื้อแดง เก็บเกี่ยวประสบการณ์การต่อสู้ในต่างประเทศว่าเขาทำกันอย่างไร เรียนบทเรียนในประวัติศาสตร์ของเราเองเพื่อสร้างสังคมใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยแท้ เช่น อุดมการณ์ของคณะราษฏร คืออะไร โมเดลทางเศรษฐกิจของคณะราษฏรที่เคยมีการนำเสนอคืออะไร ลักษณะของรัฐสวัสดิการในแถบสแกนดิเนเวียเป็นอย่างไร การมีเนื้อหาแบบนี้เป็นการประกาศจุดยืนของคนเสื้อแดงและเป็นวิธีที่จะนำคนที่ยังไม่มีจุดยืนเข้ามาเป็นพรรคเป็นพวก
จากนั้นหนังสือพิมพ์เสื้อแดงจะต้องเปิดโปงการคอรัปชั่นอย่างเป็นระบบของฝ่ายสีเหลือง เช่น สำนักงานทรัพย์(เซ็นเซอร์)มีทรัพย์สินอยู่เท่าไหร่ เสียภาษีเท่าไหร่ เคยไล่ที่ชาวบ้านบ้างหรือไม่ ถือหุ้นในบริษัทไหนบ้าง จ่ายค่าแรงในระดับที่คนงานพอใจไหม อนุญาตให้คนงานจัดตั้งสหภาพแรงงานหรือไม่ สำนักแห่งนี้นี้ควรจะถือสินทรัพย์เท่าไหร่ ควรจะยกให้แผ่นดินเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนเท่าไหร่? ลองออกแบบงบประมาณว่าควรจะใช้ไปในทางไหน งบประมาณทหาร งบพิธีกรรม ถ้านำเงินเหล่านี้มาเป็นทุนการศึกษา พัฒนาบริการสาธารณสุขจะมีคุณค่าเพียงไร คุณภาพของแต่ละคนในสังคมไทยจะเพิ่มขึ้นขนาดไหน
สื่อของคนเสื้อแดงจะต้องทำหน้าที่สำรวจความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างเป็นระบบ เสนอการต่อสู้ของคนเสื้อแดงในพื้นที่ต่างๆเพื่อให้กำลังใจกับคนเสื้อแดงอื่นๆ พร้อมกับเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่มันควรจะเป็น สื่อกระแสหลักเลือกไม่ทำและไม่อยากทำ พวกนี้ยินดีที่จะถ่ายทอดชีวิตคนแก่ที่ถูกทอดทิ้ง เด็กๆถูกทอดทิ้ง พร้อมกับโยนความผิดไปที่สมาชิกของครอบครัวนั้น มากกว่าจะแตะสาเหตุแท้ของปัญหานั่นคือความเหลื่อมล้ำทางสังคมนั่นเอง ทั้งสองลักษณะข้างต้น คือ การเรียนทฤษฏีทางการเมืองและเปิดโปงความฉ้อฉลของทุกสถาบันอย่างเป็นระบบนั้น ทำให้หนังสือพิมพ์รูปแบบนี้จะไม่เหมือนรูปแบบเหมือนหนังสือพิมพ์รายวัน
หนังสือพิมพ์เสื้อแดงจะต้องทำหน้าที่มากกว่าแค่การติดอาวุธทางความคิดและการเปิดโปงการคอรัปชั่นหรือการกระทำความผิด สื่อของคนเสื้อแดงควรจะให้ข้อมูลทางเทคนิคในเรื่องการเผยแพร่ข่าวสาร เช่น การใช้วิทยุชุมชน การใช้อินเตอร์เนต การใช้บล็อค การถ่ายเอกสาร การเชื่อมโยงกับชาวบ้านที่ไม่มีอินเตอร์เนตใช้ และการหลีกเลี่ยงการปราบปรามโดยรัฐ
การจัดตั้ง
การจัดตั้งหมายถึง การเปลี่ยนแปลงคนเสื้อแดงจากคนที่แค่ลงคะแนนเสียงให้ไทยรักไทยหรือคนที่แค่รับรู้ข่าวสารมาเป็นคนที่ร่วมสร้างขบวนการเคลื่อนไหวหรือพรรคการเมือง หรือ กลุ่มของคนเสื้อแดง ดังนั้นประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับการจัดตั้งคือการรวมกลุ่ม การมีสมาชิก การมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวที่มากกว่าผู้บริโภคทางการเมือง ซึ่งนั่นหมายความว่าจะต้องมีกิจกรรมร่วมกันสม่ำเสมอ ต้องมีโครงสร้างและระบบในการจัดตั้งที่ชัดเจน ต้องมีรายชื่อสมาชิกเราจะต้องปกป้องรายชื่อสมาชิกจากฝ่ายรัฐ ต้องมีการเชื่อมโยงเพื่อการเคลื่อนไหวระยะสั้นและระยะยาว เนื้อหาหนังสือพิมพ์ของคนเสื้อแดงที่กล่าวไปข้างต้นจะมีบทบาททำให้คนเสื้อแดงคิดเป็นและวิเคราะห์สถานการณ์ยากๆเองเป็น ไม่ได้อาศัยผู้นำคนใดคนหนึ่งคิดแทนพวกเราในทุกๆเรื่องเพราะเป็นเรื่องอันตรายและมีความผิดพลาดสูง เช่น เรื่องการที่เราจะคล้อยตามคนอย่าง ชูพงศ์ ถี่ถ้วน
หนังสือพิมพ์เสื้อแดงนอกจากจะเป็นช่องทางในการสื่อสารข่าวสารของคนแดงแล้ว หนังสือพิมพ์ของคนเสื้อแดงจะต้องเป็นมีบทบาทในการจัดกิจกรรมของคนเสื้อแดงอีกด้วย
การสร้างสรรค์กิจกรรมนั้นขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน เพราะพวกเราแต่ละคนสังกัดหน่วยทางสังคมอยู่แล้ว และที่สำคัญปัจจุบันมีการจับกลุ่มทางการเมืองในเกือบทุกพื้นที่ กลุ่มย่อยๆทางการเมืองเหล่านี้ต้องหาทางรวมตัวกันภายใต้สถาบันเสื้อแดง กลุ่มเสื้อแดงก้าวหน้า หรือพรรคเสื้อแดง ซึ่งการมีองค์กรจะทำให้เสื้อแดงเมืองกับเสื้อแดงชนบทต้องมีกิจกรรมร่วมกันหลากหลายมากขึ้นกว่าการมาร่วมชุมนุมกันที่กรุงเทพเพียงอย่างเดียว
สำหรับคนชั้นกลางเสื้อแดงในเมืองอาจจะไปออกค่ายเพื่อไปพบปะเสื้อแดงในพื้นที่ชนบท อาจจะจัดงานแรลลี่โดยอาศัยสถานการณ์ที่เหมาะสมในแต่ละช่วง หน้าหนาว หน้าร้อน หน้าฝน เช่น ถ้าหากพี่น้องเสื้อแดงในชนบทเจอน้ำท่วมเราก็ต้องไปช่วย ฉวยโอกาสนี้คุยกับคนเสื้อแดงว่าถ้ารัฐดูแลประชาชนมากกว่านี้เราจะไม่ลำบากขนาดนี้ ถ้าประเทศไทยมีการเสียภาษีก้าวหน้าเราจะมีความเป็นอยู่ดีกว่าปัจจุบัน มีความมั่นคงในชีวิต รวมถึงอาจจะพูดคุยว่าเราจะควบคุมนักการเมืองที่เราเลือกเข้าไปอย่างไร หรือ การเจาะกลุ่มเป้าหมายกับแรงงานคนหนุ่มสาวซึ่งโดยส่วนใหญ่มาจากชนบทให้มาเข้าร่วมกิจกรรมกับคนเสื้อแดง ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งที่พวกเราจะนำข่าวสารที่รัฐบิดเบือนรวมถึงข่าวสารของคนเสื้อแดงเมืองกรุงลงสู่ชนบทอีกด้วย
เราสร้างกิจกรรมขึ้นมาอย่างเดียวไม่พอ พวกเราคนเสื้อแดงจะต้องมีจุดยืนทางการเมืองต่อเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เช่น กรณีคำตัดสินของศาลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ตากใบ จุดยืนของเรานั้นจะต้องพูดว่าระบบศาลไม่ยืนอยู่บนหลักการของความเป็นธรรม บางทีเราควรมีคำขวัญให้ระบบศาลว่า “ฆ่าคนตายเป็นเรื่องปกติ พูดความจริงเป็นอาชญากร”
หรือ การแบนสารคดีชีวิตเกี่ยวกับคนเป็นเอสด์ไม่ให้ออกอากาศฯ การมีจุดยืนทางการเมืองกรณีต่างๆคือการร่วมบริหารสังคมของพวกเราเองอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการลดอำนาจของคนส่วนน้อย (พวกเหลือง พวกอำมาตย์ พวกเหลือบไรในนามระบบเทวดา )ที่พยายามควบคุมสังคม