ที่มา ประชาไท
จำได้ว่าในเวทีสัมมนาครั้งหนึ่ง พระคุณเจ้ารูปหนึ่งแสดงความเห็นว่า “เมื่อพูดถึงเสรีภาพมันต้องมีขอบเขต ถ้าใช้เสรีภาพตามอำเภอใจ ตามอำนาจของกิเลส อย่างนี้อันตราย มันไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย...”
ผู้ฟังคนหนึ่งยกมือแสดงความเห็นต่างว่า “เสรีภาพตามความหมายทางศาสนา มันจะไม่ขัดหลักประชาธิปไตยหรือ ในเมื่อสังคมประชาธิปไตยยอมรับความเท่าเทียมในการมีเสรีภาพของคนทุกคน ไม่ว่าคนที่มุ่งสู่ความหลุดพ้น คนที่ยินดีอยู่ในโลกของกิเลส หรือแม้แต่คนที่ต้องการใช้เสรีภาพตามกิเลสของตนเองที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น...”
ดูเหมือนพระท่านจะตอบความเห็นต่างนั้น ทำนองว่า “ยังไงเสรีภาพที่ถูกต้อง ที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ต้องเป็นเสรีภาพที่ถูกนำทางด้วยเหตุผลหรือปัญญา เสรีภาพตามอำนาจของกิเลสยังไงมันก็ต้องสร้างความทุกข์ไม่แก่ผู้อื่นก็แก่ตนเอง สร้างความทุกข์แก่ผู้อื่นก็คือมันไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ละเมิดกติกาของสังคม สร้างความทุกข์แก่ตัวเองก็อย่างเช่น เสรีภาพในการสูบบุหรี่ การบริโภคอะไรอื่นๆ ที่เสียหายต่อสุขภาพร่างกาย หรือมอมเมาจิตใจ...”
ประเด็นที่น่าคิด คือ “สังคมประชาธิปไตยยอมรับความเท่าเทียมในการมีเสรีภาพของทุกคน” ผู้เขียนคิดว่าหลักการนี้สำคัญมาก เพราะต่อให้สิ่งที่พระอธิบายจะเป็นสัจธรรมทางศาสนา ก็ไม่อาจนำมาหักล้างหลักการดังกล่าวนี้ได้ เนื่องจากสมาชิกแห่งสังคมประชาธิปไตยไม่อาจถูกจำกัดให้เชื่อหรือชอบความหมายของชีวิตที่ดีงามตามนิยามทางศาสนาเท่านั้น หากแต่เขาย่อมต้องได้รับการรับรองเสรีภาพในการที่จะคิด จะเชื่อ หรือจะให้ความหมายกับชีวิตตามที่เขาเห็นควร ในฐานะที่เขาเป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริงในการกำหนดชีวิตของตนเอง
ในบรรดาเสรีภาพในด้านต่างๆ ของมนุษย์นั้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นย่อมเป็นสิ่งที่มนุษย์มีอย่างเท่าเทียมกัน ในบางเวทีเราอาจจำเป็นต้องกีดกันคนบางประเภท เช่น เวทีการเมืองในสภาฯ เรามีข้อกำหนดที่กีดกันคนทุจริตเลือกตั้งไม่ให้เข้าไปเป็นสมาชิกสภาฯ เป็นต้น แต่บน “เวทีเสรีภาพทางความคิด” เราไม่อาจกีดกัน/ขจัดคนประเภทใดๆ ออกไปได้เลย
ไม่ว่าจะเป็นเจ้า ไพร่ นายพล นายทุน นักวิชาการ กรรมกร คนคุก คนดี คนเลว คนฉลาด คนโง่ ฯลฯ เขาย่อมมีเสรีภาพทางความคิดอย่างเท่าเทียม เราไม่อาจอ้างเหตุผลอันชอบธรรมที่จะผลักใครออกไปจาก “เวทีเสรีภาพทางความคิด” เพราะ…
1. เสรีภาพทางความคิดเป็นธรรมชาติของมนุษย์ หรือเป็นเสรีภาพที่มีอยู่ภายในความเป็นมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย การปฏิเสธหรือพยายามกีดกัน ปิดกั้นเสรีภาพดังกล่าวเท่ากับปฏิเสธความเป็นมนุษย์
2. โดยการใช้เสรีภาพทางความคิดในการเรียนรู้จากความคิด ความเชื่อ ความรู้ ประสบการณ์ที่หลากหลาย มนุษย์จึงอาจค้นพบความหมายของชีวิต อุดมคติ หรือสิ่งที่เขาเชื่อว่ามีคุณค่ามากที่สุดสำหรับตัวของเขาเอง
3. โดยการที่สังคมมี “เวทีเสรีภาพทางความคิด” การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างวัฒนธรรมการใช้เหตุผลในการอยู่ร่วมกัน การแสวงหาอุดมการณ์ร่วมกัน การสร้างกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน ฯลฯ จึงเป็นไปได้
ในทางอุดมคติ “เวทีเสรีภาพทางความคิด” ที่สำคัญคือ “สื่อสารมวลชน” แต่ในความเป็นจริงสื่อโดยเฉพาะสื่อกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ กลับทำหน้าที่เป็น “กระบอกเสียง” ของฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐ หรือเป็นเวทีสะท้อนความคิดเห็นของคนชั้นนำ คนดัง ผู้เชี่ยวชาญ คนชั้นกลาง เป็นด้านหลัก
ความเห็นต่างจากฝ่ายยึดกุมอำนาจรัฐ ความคิดที่ท้าทายต่ออำนาจตามจารีตนิยมต่างๆ ปัญหา, ความคิดเห็น, ความต้องการ ของคนเล็กคนน้อย คนชั้นล่าง คนชายขอบ คนไร้ที่ทำกิน คนเร่ร่อน คนไร้สัญชาติ คนที่อยู่ใน “มุมมืด” หรือ “คนนอก” กรอบการยอมรับตามจารีตศีลธรรม แทบไม่มีพื้นที่บนเวทีเสรีภาพทางความคิดของสื่อกระแสหลัก
แต่ทว่าเมื่อมีการดิ้นรนเปิดเวทีเสรีภาพทางความคิดในช่องทางอื่นๆ เช่น วิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์ออนไลน์ เว็บบอร์ด บล็อค ต่างๆ เป็นต้น ปรากฏว่าอำนาจรัฐ โดยเฉพาะอำนาจที่มองเห็น (จนทำให้เราแสบตาราวกับมองแสงไฟสปอร์ตไลท์) แต่มองไม่เห็นตัวผู้รับผิดชอบต่อการใช้อำนาจนั้น เช่น “อำนาจในนามของการปกป้องสถาบัน” กลับตามไปคุกคามหรือสร้างความหวาดกลัวแก่ “เสรีชน” ที่พยายามบุกเบิกเพื่อเปิดพื้นที่เสรีภาพทางความคิดสำหรับคนเล็กคนน้อยจำนวนมากที่ถูกทอดทิ้ง ปิดกั้น กระทั่ง “ถูกเขี่ย” ให้ตกเวทีเสรีภาพทางความคิดของสื่อกระแสหลัก
อย่าหวังว่าความเป็นประชาธิปไตยในมิติอื่นๆ จะเป็นไปได้ ถ้าเรายังไม่ชัดเจน หรือไม่ต่อสู้เพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยในมิติของเสรีภาพทางความคิดเห็น ที่มี “เวทีเสรีภาพทางความคิด” ซึ่งเปิดพื้นที่สำหรับคนทุกคน ทุกความเห็นต่างอย่างกว้างขวาง และอย่างเท่าเทียมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้