อุณหภูมิการเมือง เริ่มลดลง
เสถียรภาพรัฐบาล เบาตัวขึ้น
หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้มีการทบทวนโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน มูลค่า 64,000 ล้านบาท ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กระทรวงคมนาคม เป็นรอบที่สอง
โดยมอบให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเจ้าภาพพิจารณาหาข้อสรุปที่ชัดเจนในเวลา 1 เดือนว่า การจัดซื้อหรือการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี อย่างไหนจะคุ้มค่ากว่ากัน
นั่นก็เท่ากับเป็นการยื้อเวลาที่จะนำไปสู่จุดแตกหักระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ แกนนำรัฐบาล กับพรรคภูมิใจไทย ต้นสังกัดของนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม
ปัญหาการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาล ที่มองกันว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเสถียรภาพของรัฐบาล
ต้องรอไปอีกอย่างน้อย 1 เดือนถึงจะมาว่ากันใหม่
ในขณะเดียวกัน ปัญหาการเมืองที่ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ทิ้งทุ่นใส่รัฐบาลตั้งแต่ช่วงก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภา
ด้วยการยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีที่รัฐบาลออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญได้ลงมติชี้ขาดด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ การออกพระราชกำหนดกู้เงินดังกล่าว ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
ไม่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
โดยรัฐบาลจะนำพระราชกำหนดกู้เงิน 400,000 ล้านบาท ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ รวมทั้งจะเสนอร่างพระราชบัญญัติกู้เงินอีก 400,000 ล้านบาท ให้ที่ประชุมสภาฯพิจารณาในวันที่ 16 มิถุนายน
เพื่อเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจตามแผนไทยเข้มแข็ง
งานนี้ แม้ฝ่ายค้านและ ส.ว. บางส่วน ขู่ว่า ถ้ารัฐบาลไม่ สามารถชี้แจงรายละเอียดการใช้จ่ายเงินกู้ได้ชัดเจน จะไม่ให้ ความเห็นชอบพระราชกำหนดและร่างพระราชบัญญัติกู้เงินดังกล่าว
แต่สุดท้ายก็ต้องไปวัดเสียงสนับสนุนกันในสภา ช่วงกลางเดือนมิถุนายน
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ทุกฝ่ายในสังคมกำลังรอความชัดเจนจากฝ่ายการเมือง ทั้งเรื่องโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี และการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ว่าจะมีคำตอบสุดท้ายออกมาในรูปใด
อีกด้านหนึ่ง ในห้วงที่รัฐสภาอยู่ระหว่างปิดสมัยประชุม ก็ได้ปรากฏพฤติกรรมของบรรดา ส.ส.และ ส.ว. ที่ทำให้สังคมไม่สบายใจ
เบื่อหน่าย ถึงขั้นเกิดอาการคลื่นเหียน
ซึ่งพฤติกรรมที่ว่านี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นพฤติกรรมแบบเดิมๆ ที่ทำกันมาช้านาน ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
นั่นก็คือ การเดินทางไปดูงานต่างประเทศ
เกือบทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา เมื่อถึงช่วงปิดสมัยประชุมรัฐสภา คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา
ต้องมีโปรแกรมเดินทางไปดูงานต่างประเทศ โดยใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร พร้อมเบิกเบี้ยเลี้ยงอีกต่างหาก
ที่สำคัญในห้วงที่ผ่านๆมา เคยมีกรรมาธิการบางคณะเดินทางไปดูงานต่างประเทศ จนกลายเป็นข่าวอื้อฉาวให้เห็นกันมาแล้ว
ทั้งประเภทหอบหิ้วลูกเมียติดสอยห้อยตามร่วมคณะไปเที่ยวช็อปปิ้ง เหมือนไปทัวร์ท่องเที่ยว เข้าบ่อนกาสิโน เล่นการพนัน เมากร่าง ลวนลามแอร์โฮสเตส
ภาพพจน์รัฐสภาไทยเสียหายป่นปี้
เมื่อเกิดเรื่องฉาวโฉ่ขึ้นมาก็จะมีการดูแลจัดระเบียบเกี่ยวกับการเดินทางไปดูงานต่างประเทศกันพักหนึ่ง แต่พอเรื่องซาลงไปก็เข้ารอยเดิม
สังคมเบื่อหน่าย เอือมระอาเต็มทน
มาถึงยุคนี้ ก็อย่างที่เห็นๆกันอยู่ว่าประเทศกำลังเผชิญปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจอย่างหนัก ที่เป็นผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก
การค้า การลงทุน การส่งออกตกต่ำ การท่องเที่ยวซบเซา การจัดเก็บภาษีรายได้เข้ารัฐต่ำกว่าเป้า
ฐานะการเงินการคลังของประเทศอยู่ในสภาพถังแตก
รัฐบาลต้องรีดภาษีบาป ขึ้นภาษีสรรพสามิต เหล้า เบียร์ บุหรี่ขึ้นภาษีน้ำมัน เอามาโปะปิดหีบงบประมาณ
ล่าสุดสถานการณ์รุนแรงถึงขั้นต้องออกพระราชกำหนด และพระราชบัญญัติกู้เงิน 8 แสนล้านบาท เอามาฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
ขณะเดียวกัน ทางรัฐบาลยังได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการต่างๆ ในเรื่องการเดินทางไปดูงานต่างประเทศให้พิจารณาเฉพาะเท่าที่จำเป็นจริงๆ
เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณ ในห้วงที่ประเทศเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ
เหนืออื่นใด นอกจากประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆแทรกเข้ามาอีก อาทิ ปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ระบาดไปทั่วโลก
การเดินทางไปต่างประเทศที่เป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงของโรค ถือเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อกลับเข้ามาระบาดในประเทศไทย
รวมไปถึงปัญหาสถานการณ์การเมืองในประเทศ ที่ยังมีความแตกแยกขัดแย้ง มีปัญหาการชุมนุมของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง
และกลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาที่ดินทำกิน ก่อหวอดชุมนุมประท้วงกันไม่เว้นวัน
ท่ามกลางปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ โรคระบาด และสถานการณ์ ปั่นป่วนทางการเมือง
คนที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย สมควรที่จะต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี ในเรื่องของการประหยัด การป้องกันโรคระบาด รวมถึงการทำหน้าที่ดูแลปัญหาการชุมนุมและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน
แต่ปรากฏว่าทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ในฐานะกรรมาธิการสามัญของแต่ละสภา ยังดันทุรังที่จะเดินทางไปดูงานต่างประเทศ
โดยไม่สนใจสถานการณ์ปัญหาวิกฤติต่างๆที่ประเทศกำลังเผชิญ
อย่างในช่วงปิดสมัยประชุมรัฐสภาคราวนี้ คณะกรรมาธิการสามัญวุฒิสภาหลายคณะ มีโปรแกรมเดินทางไปดูงานต่างประเทศ อาทิ
คณะกรรมาธิการคมนาคมจะไปฮ่องกง-มาเก๊า คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ และคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมฯ ไปสหรัฐอเมริกา คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯไปสเปน
คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ฯไปจีน คณะกรรมาธิการสาธารณสุขไปโครเอเชีย คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติฯไปอิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์ คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญฯไปแอฟริกาใต้และซิมบับเว
ส่วนคณะกรรมาธิการสามัญสภาผู้แทนราษฎร เพิ่งมีการเลือกประธานคณะกรรมาธิการคนใหม่ ทำให้กรรมาธิการส่วนใหญ่ต้องชะลอเรื่องการดูงานต่างประเทศออกไปก่อน
ในขณะที่กรรมาธิการบางคณะได้วางโปรแกรมไปดูงานไว้แล้ว อาทิ คณะกรรมาธิการกิจการชายแดนจะเดินทางไปประเทศจีน คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวและกีฬาจะเดินทางไปกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย
แต่ล่าสุดได้ถูกนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร สั่งระงับ เพราะเสนอเรื่องกระชั้นชิดเกินไป ไม่เป็นไปตามระเบียบ ไม่ใช่เพราะเกิดจากสำนึกรับผิดชอบ
ทั้งนี้ กรรมาธิการที่ต้องการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ ส่วนใหญ่พยายามอ้างเหตุผลว่าจำเป็นต่อการทำหน้าที่ของกรรมาธิการฯ
เป็นการเปิดหูเปิดตา ศึกษาเรื่องต่างๆ เพื่อนำกลับมาใช้ในการแก้ปัญหาพัฒนาประเทศ
แต่ในความเป็นจริงที่ผ่านๆมาแทบมองไม่เห็นว่า กรรมาธิการได้นำความรู้ที่ได้รับกลับมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า
ที่สำคัญ การไปดูงานของกรรมาธิการบางคณะไม่ต่างจากไปทัวร์ เพราะเน้นไปตามสถานที่ท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ การดูงานที่เป็นชิ้นเป็นอันเป็นเพียงรายการแทรก
ทำให้การไปดูงานต่างประเทศมีสภาพไม่ต่างจากทริป ทัวร์ท่องเที่ยว
ที่สำคัญ สภาผู้แทนราษฎรมีคณะกรรมาธิการสามัญ 35 คณะ ได้งบฯดูงานคณะละ 3 ล้านบาท รวม 105 ล้าน วุฒิสภามีคณะกรรมาธิการสามัญ 22 คณะ ได้งบฯดูงานคณะละ 2-3 ล้านบาท รวม 55 ล้านบาท
จ้องผลาญงบประมาณแผ่นดิน ภาษีอากรของประชาชน แบบไม่แยแสอะไรทั้งสิ้น
นอกจากนี้เมื่อมีการหอบหิ้วลูกเมียไปด้วย ก็มักอ้างว่าควักกระเป๋าออกเงินเอง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นที่รู้กันว่าเป็นเงินที่ไปขอจากหัวหน้ากลุ่มก๊วน
หัวหน้ากลุ่มก๊วนไปเอาเงินจากไหน ก็เอามาจากเปอร์เซ็นต์ หัวคิวโครงการต่างๆ
กลายเป็นวงจรอุบาทว์ คอรัปชันถอนทุน วนเวียนอยู่อย่างนี้
แน่นอน การไปดูงานต่างประเทศในทางทฤษฎีแนววิชาการ ถือว่าเป็นเรื่องดี ถ้ามีการวางแผน กำหนดเป้าหมายในการดูงานอย่างจริงจัง
แต่จากร่องรอยที่ปรากฏ การเดินทางไปดูงานต่างประเทศของกรรมาธิการส่วนใหญ่ มักเน้นไปในลักษณะทัวร์เมืองนอก อาศัยช่วงปิดสมัยประชุมรัฐสภาไปพักผ่อน
ใช้เงินหลวงเดินทางท่องเที่ยว ผลาญงบประมาณ แบบไม่แคร์อะไรทั้งสิ้น
พฤติกรรมแบบนี้ ขนาดในสภาวะที่ประเทศสบายๆ เศรษฐกิจดี ประชาชนยังไม่ขานรับ
แต่นี่สถานการณ์ของประเทศกำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจสาหัสสากรรจ์ สังคมรับไม่ได้แน่นอน มีแต่เสียงก่นด่าอื้ออึงไปหมด
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ ส.ส. และ ส.ว.กำลังเดินหน้าตั้งแท่นปฏิรูปการเมือง อ้างโน่นอ้างนี่ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่ตัวเองกลับมีพฤติกรรมอย่างหนา ซ้ำเติมประเทศ
ฉะนั้น สมควรปฏิรูปจิตสำนึกตัวเองซะก่อน.
ทีมการเมือง