ที่มา ประขาไท
แปลและเรียบเรียงจาก “To Our Readers: Technology and Culture” บทบรรณาธิการนิตยสารไทม์ (ฉบับเอเชีย), 15 มิ.ย. 2552 (TIME Asia, Vol. 173, No. 23) น. 4.
stevenbjohnson: “ผมเขียนเรื่องปก TIME สัปดาห์นี้ เรื่อง Twitter กำลังเปลี่ยนวิธีที่เราใช้ชีวิตอย่างไร – และแสดงให้เราเห็นอนาคตของนวัตกรรม. ซื้อหนึ่งฉบับ!”
ถึงผู้อ่านของเรา
เทคโนโลยีและวัฒนธรรม.
รูปแบบการสื่อสารใหม่ ๆ อย่างทวิตเตอร์ กำลังเปลี่ยนวิธีที่เราแต่ละคนสัมพันธ์กัน เป็นความคิดที่ดีที่จะปรับตัวเข้าหามัน
7:45น. วันที่ 4 มิ.ย. สตีเฟ่น จอห์นสัน ส่งข้อความ ‘ทวิต’ (tweet)[1] หาผู้ติดตาม (follower) มากกว่า500,000 คนของเขาบนทวิตเตอร์ (Twitter)[2] แจ้งพวกเขาว่าเขาได้เขียนเรื่องปกให้กับไทม์สัปดาห์นี้ ว่าทวิตเตอร์กำลังเปลี่ยนวิธีที่สังคมติดต่อสื่อสารกันอย่างไร ข้อความทวีตนั้นได้มาเป็นภาพปกไทม์สัปดาห์นี้เช่นกัน[3] ผมทราบว่าทั้งหมดนี้มันออกจะ ‘อธิบายตัวเอง’ ไปหน่อย และเหมือนกับการพยายามจับเอาสายฟ้าดิจิทัลมายัดลงไห, แต่เราคิดว่านี่เป็นวิธีหนึ่งที่จะวาดภาพให้เห็นว่าแพลตฟอร์ม (platform)[4] ใหม่ ๆ และเครือข่ายทางสังคม กำลังเปลี่ยนวิธีที่เราติดต่อสื่อสารและใช้ชีวิตอย่างไร
ในขณะที่ผมไม่สามารถเขียนสิ่งที่ผมอยากจะพูดเกี่ยวกับทวิตเตอร์ได้ในเพียง 140 ตัวอักษร (จำนวนสูงสุดที่คุณสามารถใช้ได้ในหนึ่งทวีต) แต่ความตรงกระชับอันน่าชื่นชมของข้อความทวีตต่าง ๆ นั้น เป็นสิ่งที่พบได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ในวัฒนธรรมของเรา ผมอยากจะให้เหตุผลว่า ทวิตเตอร์เป็นรูปแบบการสื่อสารแบบประชาธิปไตยที่ไม่เหมือนใคร – นั่นคือ มันเปิดสู่ทุกคน ไม่มีศูนย์อำนาจสั่งการกลาง และผู้คนลงคะแนนเลือกคนและสิ่งที่เขาชอบ โดยการลงชื่อเป็นผู้ติดตาม. มันคือปัญญา (หรือความเขลา) ของฝูงชน เหมือนกับที่จอห์นสัน[5]ได้เขียนเอาไว้ในบทความอันยอดเยี่ยมของเขา[6] ทวิตเตอร์ยังเป็นต้นแบบของประสบการณ์ร่วมแบบใหม่: ผู้คนแต่ละคนพูดคุยกัน แบบสด ๆ จริง ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์จริง ๆ
บางคนโต้ว่าทวิตเตอร์คือรูปหนึ่งของความหลงตัวเองแบบดิจิทัล เป็นของเล่นชั่วขณะของวัฒนธรรม ‘สมาธิสั้น’[7] แต่ก็อย่างที่จอห์นสันบันทึก แพลตฟอร์มทวิตเตอร์นั้น ที่สุดแล้วเกี่ยวกับ การค่อย ๆ เติบโตเพิ่มขึ้นของจำนวนทวีต, วิถีที่จุดพิกเซลเล็ก ๆ เป็นหมื่นเป็นแสนจุด ประกอบกันขึ้นเป็นภาพดิจิทัลที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยรายละเอียด ทวิตเตอร์ขีดเส้นใต้ข้อสังเกตที่ท้าทายกาลเวลาของ มาร์แชล แมคลูฮัน[8]ที่ว่า “สื่อคือสาร” (the medium is the message) – ความคิดที่ว่า รูปแบบทางเทคโนโลยีปั้นแต่งและกำหนดวัฒนธรรม แมคลูฮันท้าทายความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า สาร (message) (ไม่ว่าจะเป็นในสิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ หรือโทรทัศน์) นั้น โดยอัตโนมัติแล้ว สำคัญมากกว่าสื่อหรือสื่อกลาง (medium) ที่มันถูกส่งผ่าน สิ่งที่เรายอมรับกันในขณะนี้ก็คือ สื่อกลางเปลี่ยนธรรมชาติในการสื่อสารของเรา ทั้งสิ่งที่เราสื่อสารและวิธีที่เราสื่อสาร ทวิตเตอร์ก็ทำสิ่งนั้นเช่นกัน
ในทางประวัติศาสตร์ สื่อกลางใหม่ ๆ ที่ทรงพลังที่สุด เปลี่ยนวิธีที่เรารับรู้โลกและวิธีที่เราสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ โทรศัพท์ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต ได้ทำสิ่งนั้น ในทางที่เราก็ยังใช้และพัฒนามันอยู่เรื่อย ๆ แต่ตัวเทคโนโลยีเองนั้นเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใด มันเป็นเครื่องมือ ไม่มีดีหรือชั่ว. ขึ้นกับว่าเราใช้มันอย่างไร ตัวทวิตเตอร์เองอาจรุ่งต่อหรือจากไป, แต่ลักษณะเฉพาะของมัน – การสนทนาแบบเวลาจริงสด ๆ, ลิงก์ทันใจ, กลุ่มผู้ติดตาม – จะส่งผลต่อแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่จะตามมา มีบทเรียนอยู่ในนั้น สำหรับพวกเราทั้งหมดในวงการสื่อ พวกเราต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีใหม่ และมันไม่ใช่เพียงการกรอกเหล้าเก่าลงในขวดใหม่ เราจำเป็นต้องปรับตัว โดยการสร้างเนื้อหาของเรา ในลักษณะที่ไม่ฝืนธรรมชาติของสื่อกลางใหม่ ๆ เหล่านั้น ไทม์รับเอาความคิดนี้ เมื่อเราประกาศให้เนื้อหาที่สร้างโดยผู้ใช้ หรือ user-generated content (ซึ่งนั่นก็คือ ‘คุณ’) ให้เป็นบุคคลแห่งปีใน ค.ศ. 2006 และเราได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง ว่าผู้คนแต่ละคนต่าง ๆ กำลังเปลี่ยนสื่อและวิธีที่เราสื่อสารกันอย่างไร ในขณะเดียวกัน เรารวมความสนใจโดยเฉพาะลงไปที่การนำข่าวสารที่จำเป็นสำหรับคุณมาสู่คุณ ในลักษณะใหม่ ๆ ที่เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ
ริชาร์ด สเตนเกล (Richard Stengel)
บรรณาธิการบริหารนิตยสารไทม์
ทวิตเตอร์ของนิตยสารไทม์คือ @time เข้าชมและลงชื่อเพื่อติดตามได้ที่ http://twitter.com/time ปัจจุบันทวิตเตอร์ของไทม์มีผู้ติดตามรับทวีตมากกว่า 700,000 ราย และมันส่งข่าวใหม่ ๆ ทุกชั่วโมง
หมายเหตุจากผู้แปล :
[1] ทวีต (tweet) โดยทั่วไปหมายถึง เสียงนกร้อง (คำนาม) หรือ (นก)ส่งเสียงร้อง (กริยา), สำหรับในทวิตเตอร์ หมายถึงได้ทั้ง 1) ข้อความที่ส่งออกมา และ 2) การส่งข้อความ สัตว์สัญลักษณ์ของทวิตเตอร์เป็นรูปนกตัวเล็ก ๆ
[2] ทวิตเตอร์ (Twitter) เป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนสื่อสารด้วยข้อความสั้น ๆ ตัวหนึ่ง บางคนเรียกว่า micro-blogging หรือบล็อกขนาดจิ๋ว ส่งข้อความและลิงก์ได้ง่ายรวดเร็วทันทีทันใด สมัครและเข้าใช้ได้ฟรีที่เว็บไซต์ http://twitter.com/ และสามารถเข้าใช้ได้จากช่องทางอื่น ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ พีดีเอ หรือผ่านปลั๊กอินของเว็บเบราว์เซอร์. ในบางประเทศสามารถใช้ได้ผ่านข้อความสั้น (SMS) อีกด้วย
[4] สตีเฟ่น เบอร์ลิน จอห์นสัน (Steven Berlin Johnson) นักเขียนอเมริกัน เขียนหนังสือหกเล่ม และคอลัมน์ในนิตยสาร Discover, Slate และ Wired โดยมักจะเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า เทคโนโลยีกำลังแปรร่างเปลี่ยนรูปวิธีที่เราโต้ตอบปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร จอห์นสันเขียนหนังสือขายดี Everything Bad is Good for You: How Today's Popular Culture is Actually Making Us Smarter (2005) ซึ่งเสนอเหตุผลว่า วัฒนธรรมประชานิยม (popular culture) เช่น ละครทีวี วีดิโอเกม ในช่วงสามสิบที่ผ่านมานั้น ซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ และช่วยให้มีทักษะการคิดได้อย่างละเอียดลึกซึ้งขึ้น หนังสืออื่น ๆ ที่เขาเขียน เช่น Emergence: The Connected Lives of Ants, Brains, Cities, and Software (2001) และล่าสุด The Invention of Air: A Story of Science, Faith, Revolution, and the Birth of America (2008). http://en.wikipedia.org/wiki/Steven_Berlin_Johnson
[5] อ่านบทความดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ TIME.com http://www.time.com/time/business/article/0,8599,1902604,00.html
[6] แพลตฟอร์ม (platform) แปลตามตัวว่า ‘เวที’ ‘ยกพื้น’ หรือ ‘แท่น’, ในทางเทคโนโลยี หมายถึงสิ่งประดิษฐ์หรือเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้กิจกรรมอื่น ๆ เกิดขึ้นบนนั้นได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในขณะที่สิ่งประดิษฐ์ทั่วไปกำหนดว่า มันจะทำอะไรได้บ้าง, แพลตฟอร์มกลับทำกลับกันคือ กำหนดสิ่งที่ทำไม่ได้ และปล่อยให้ผู้คนอื่น ๆ ที่ยืนบนแพลตฟอร์มนั้น ทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามแต่ที่พวกเขาจะจินตนาการได้ ในข้อกำจัดดังกล่าว ลักษณะสำคัญนี้ของแพลตฟอร์ม อำนวยให้นวัตกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นได้. แพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์อันหนึ่ง ที่เราอาจจะคุ้นเคยกันมากที่สุดก็คือ ‘เครื่องเกมแพลตฟอร์ม’ อย่าง นินเทนโด แฟมิคอม, เกมบอย, หรือเพลย์สเตชั่น ที่ผู้ผลิตเครื่องเล่น สร้างเพียงตัวแพลตฟอร์มสำหรับสร้างเกม และเปิดให้บริษัทเกมต่าง ๆ สร้างเกมบนนั้น ผลคือมีเกมถูกสร้างอย่างมากมาย หลากหลาย และพลิกความคิดเกินกว่าที่ตัวผู้ผลิตเครื่องเกมจะสร้างได้เอง อินเทอร์เน็ตที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเปิดโอกาสให้สร้างเว็บไซต์และซอฟต์แวร์มาใช้บนอินเทอร์เน็ตได้อย่างหลากหลาย ก็เป็นแพลตฟอร์มเช่นกัน สตีเฟ่น จอห์นสัน เขียนถึงลักษณะแพลตฟอร์มของทวิตเตอร์ในบทความยาว 4 หน้า ในนิตยสารไทม์ฉบับเดียวกันกับบทบรรณาธิการนี้ (น. 24-29 ในฉบับกระดาษ หรืออ่านออนไลน์ที่ลิงก์ใน [5])
[7] “Twitter is a form of digital narcissism, the toy of the moment for an attention-deficit-disordered culture.” ผู้แปลทราบว่าเกินปัญญาจะเก็บความได้ถูกถ้วน จึงขออนุญาตยกประโยคต้นฉบับมาไว้ตรงนี้ด้ว
[8] มาร์แชล แมคลูฮัน (Marshall McLuhan) (21 ก.ค. 1911 - 31 ธ.ค. 1980) นักวิพากษ์วรรณกรรมและนักทฤษฎีการสื่อสารชาวแคนาดา งานของเขาถูกมองว่าเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของการศึกษาทฤษฎีสื่อ. แมคลูฮันเป็นที่รู้จักจากคำพูด “สื่อคือสาร” (the medium is the message) และ “หมู่บ้านโลก” (global village) งานสำคัญของเขา เช่น The Gutenberg Galaxy: The Making of Typographic Man (1962), Understanding Media (1964), และ The Medium is the Massage: An Inventory of Effects (1967) (ใช่แล้ว ‘massage’ ที่แปลว่า ‘นวด’ นั่นแหละ) http://en.wikipedia.org/wiki/Marshall_McLuhan
ตัวอย่างทวิตเตอร์สื่อ/บล็อกเกอร์ภาษาไทย: @astv, @blognone, @ch7, @jiggaban, @kom_chad_luek, @lefanzine, @luisanam, @mcot, @mgrnews, @positioningmag, @posttoday, @prachatai, @suthichai, @tcdcconnect, @thainetizen, @thaipost, @traffy (รายงานสภาพจราจร)
ตัวอย่างทวิตเตอร์สื่อ/บล็อกเกอร์ภาษาอังกฤษ: @bangkok_post, @bangkokpundit, @barackobama, @bbcbreaking, @cnetnews, @cnnbrk, @facthai, @financialtimes, @guardiannews, @globalvoices, @huffingtonpost, @iht, @nation_business, @nationnews, @nowpublic, @nytimes, @nytimesbits, @ohmynews, @prachatai_en, @reuters, @risingvoices, @slashdot, @stevenbjohnson, @techmeme, @techreview, @theeconomist, @time, @wired, @wise_kwai, @wsj
หมายเหตุ แก้ไขล่าสุด โดยผู้แปล เมื่อ 23.55น. วันที่ 10 มิ.ย. 52