ที่มา ประชาไท
(9 มิ.ย. 52) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ออกแถลงการณ์ “วิกฤติการณ์ความรุนแรงที่ภาคใต้ กรณี 11 ศพที่มัสยิดอัลกูลกร” (บางแหล่งที่มาอ่าน มัสยิดอัลฟุรกอน) จากเหตุการณ์คนร้ายไม่ทราบฝ่ายและสังกัดใช้อาวุธสงครามกราดยิงมัสยิดอัลกูลกร ที่หมู่บ้านไอปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ขณะชาวบ้านกำลังทำพิธีละหมาดตามความเชื่อทางศาสนา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 11 ราย และมีประชาชนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เมื่อเวลาประมาณ 20.30 น. ของวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา
โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ดำเนินการตรวจสอบและสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมให้ได้ เพราะสถานการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายและอาจนำมาสู่สถานการณ์ที่ยากควบคุมในอนาคต ทั้งยังมีหลายเหตุการณ์ในอดีตที่เจ้าหน้าที่รัฐมาเป็นคู่กรณีความขัดแย้งในการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือคุกคามเสียเอง หลายกรณียังไม่ถูกคลี่คลายความเคลือบแคลงความสงสัยหรือได้รับความผิดตามกระบวนการยุติธรรม จนทำให้กระบวนการยุติธรรมล้มเหลวในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เยียวยาผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในพื้นที่ความไม่สงบ ดังเช่นกรณีตากใบ
พร้อมให้รัฐบาลปฏิรูปการทำงานของกองทัพในพื้นที่ เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าในขณะนี้ยังใช้นโยบายการทหารนำการเมือง โดยกองทัพมีอำนาจเด็ดขาดทั้งด้านการทหารและการพัฒนาที่ควรเป็นหน้าที่ของฝ่ายพลเรือน และควบคุม-กำกับการทำงานของกองทัพอย่างใกล้ชิด เพื่อให้นโยบายการแก้ปัญหาของรัฐบาลมีเอกภาพ ไม่มีหน่วยย่อยในการปฏิบัติการตามภารกิจที่สร้างความสับสนและเข้าใจผิด ไม่ให้เกิดข้อครหาว่าบางเหตุการณ์มีเจ้าหน้าที่และกลุ่มผลประโยชน์เกี่ยวข้อง เพราะเหตุการณ์ในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของผู้ก่อการร้ายกลุ่มใดก็ตาม แต่ข้ออ้างของกองทัพก็ยังไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อและความไว้วางในในพื้นที่ได้
ทั้งนี้ การที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้ในพื้นที่ ถือเป็นความบกพร่องอย่างร้ายแรงที่สุด และไม่มีทางที่จะสร้างความน่าเชื่อถือได้เลย หากยังทำงานแบบลูบหน้าปะจมูกในปัจจุบันนี้ หรือปล่อยให้เจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดลอยนวลในอดีตที่ผ่านมา
“คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) เห็นว่า รัฐบาลจะต้องปฏิรูปกองทัพและการทำงานในพื้นที่อย่างเร่งด่วน ภายใต้หลักนิติรัฐ กระบวนการยุติธรรมและหลักการสิทธิมนุษยชน ให้รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจเต็มในการกำกับดูแลกองทัพ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของการปกครองโดยพลเรือน โดยใช้ยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหาร และให้มีการทบทวนและประเมิน พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ดังกล่าวอย่างจริงจัง” แถลงการณ์ระบุ