ที่มา ไทยรัฐ ยุทธการเขากิสาน ครั้งที่ 6 ทัพจกก๊กตั้งทัพยันทัพวุยก๊กอยู่ที่แม่น้ำอุยสุย ขงเบ้งแม่ทัพวุยก๊กตรากตรำสงครามจนล้มป่วย จนสิ้นลม กิเลน ประลองเชิง
หลอก้วนจงเขียนไว้ในตำนานสามก๊กว่า ก่อนสิ้นลม ขงเบ้งเรียกเอียวหงีเข้าไปสั่งความว่า
"เมื่อเราตายแล้ว อย่าให้ทหารไว้ทุกข์ ทัพเราให้ส่วนหลังถอยไปก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยๆถอยไปทีละค่าย หากสุมาอี้ไล่ตามมา ท่านจงตั้งทัพเป็นหน้ากระดาน ชูธงลั่นกลองรบ หันหน้าเข้าสู้
เมื่อเขามาถึง ก็ให้เอาหุ่นไม้ของเราที่มีอยู่เดิมวางบนรถ ลากออกไปหน้าทัพพร้อมกับให้บรรดาขุนพลน้อยใหญ่เรียงรายอยู่สองข้าง
สุมาอี้เห็นเข้าก็คงจะถอยไปเอง"
การณ์เป็นไปดังที่ขงเบ้งคาด เมื่อสุมาอี้รู้ว่าทัพจกก๊กถอยไปหมด ก็แน่ใจว่าขงเบ้งตาย
"สุมาอี้กับสุมาเจียวเร่งทัพให้รีบไป สุมาอี้ออกหน้าทหารไปก่อนเมื่อไปถึงตีนเขา เห็นทหารจกก๊กอยู่ไม่ไกล จึงรีบไล่ตามไป ทันใดนั้นก็มีเสียงประทัดดังขึ้นที่หลังเขา พร้อมกับมีเสียงโห่ร้องกึกก้อง
ก็เห็นทหารจกก๊กชูธงลั่นกลองหันหลังกลับมา ในเงาไม้ ก็มีธงแม่ทัพชูตระหง่านขึ้น มีอักษรเขียนไว้ว่า "ขงเบ้งแม่ทัพจกก๊ก" สุมาอี้ตกใจขวัญหนีดีฝ่อ
พอตั้งสติได้ก็เห็นขุนพลทัพกลางหลายสิบคน ห้อมล้อมมารอบๆรถสี่ล้อ บนรถขงเบ้งนั่งอยู่เป็นสง่า มือถือพัดนก มีเสื้อคลุมดำ สุมาอี้ เห็นดังนั้นยิ่งตกใจ ร้องว่า
"ขงเบ้งยังไม่ตาย ตัวเราถลำลึกเข้ามา ต้องกลขงเบ้งแล้ว" รีบชักม้าถอยหลังกลับ
เกียงอุยตะโกนลั่นอยู่ข้างหลังว่า "สุมาอี้จะไปไหน เจ้าต้องกลของมหาอุปราชแล้ว" ทหารวุยก๊กยิ่งขวัญเสีย ทิ้งเกราะทิ้งอาวุธ ต่างหนีเอาตัวรอด เหยียบกันตายเองนับจำนวนไม่ถ้วน
สุมาอี้หนีมาไกลถึง 50 ลี้ ขุนพลวุยก๊กสองคนควบม้าตามหลังมา ยุดม้าสุมาอี้ไว้ว่า ท่านแม่ทัพไม่ต้องกลัวแล้ว สุมาอี้
ยกมือขึ้นคลำศีรษะของตัวเองว่า "เรายังมีหัวอยู่หรือเปล่า"
บุญศักดิ์ แสงระวี อธิบายนี้ไว้ใน (หนังสือ) กลศึกสามก๊ก บทที่ 88 ว่า การออกศึกเขากิสานทั้ง 6 ครั้ง แต่ละครั้งมีลักษณะ พิเศษแตกต่างกัน ไม่ดำเนินการอย่างตายตัว
ศึกเขากิสานครั้งที่ 1 ขงเบ้งใช้ยุทธวิธี ทำให้ข้าศึกฉงน ถอนตัวออกมาอย่างปลอดภัย ศึกครั้งที่ 2 ใช้การซุ่มตี แทงสวนกลับแล้วจึงถอย ครั้งที่ 3 ใช้กลยุทธ์ ถอยให้สามช่วง ตีข้าศึกพ่ายยับ ถอยออกจากสนามรบอย่างราบรื่น
ครั้งที่ 4 ใช้วิธีเพิ่มเตา ถอยอย่างมีจังหวะ ครั้งที่ 5 ดักซุ่มตี ที่บอกบุ๋น ทำลายกำลังข้าศึกที่ไล่ตาม ถอยไปอย่างสะดวกง่ายดาย
จนถึงการถอยทัพครั้งที่ 6 ถือเป็นการถอยหลังครั้งสุดท้าย ที่ร่ำลือกันถึงวันนี้ว่า "ขงเบ้งตายขู่สุมาอี้จนขวัญบิน"
ในการทำศึกทุกครั้ง ขงเบ้งยึดหลัก เมื่อคิดถึงประโยชน์ ต้อง คำนึงถึงผลเสีย เมื่อคิดถึงความสำเร็จ ต้องคำนึงถึงความล้มเหลว ดังเช่นศาลา 9 ชั้น แม้สูงก็ต้องพัง ฉะนั้น ผู้เงยหน้ามองสูง อย่าละเลยเบื้องล่าง มองไปข้างหน้า อย่าละเลยข้างหลัง
และคำสอนที่สำคัญ...ผู้สันทัดในการแพ้ จะไม่มีวันล่มสลาย
บุญศักดิ์ แสงระวี ทิ้งท้ายว่า ใน 36 กลยุทธ์ หนีเป็นกลยุทธ์สุดท้าย นับเป็นยอดกลยุทธ์
ผมตั้งใจอ่านสามก๊กตอนนี้ เมื่อได้ยินแว่วๆว่า ในสงครามเผชิญ หน้าถึงเลือดถึงเนื้อ ฝ่ายที่กล้าถอยได้จะเป็นฝ่ายชนะ แต่ไม่แน่ใจว่า ชัยชนะที่ว่า เป็นชนะสงครามหรือชนะใจประชาชน.