ที่มา Thai E-News
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
22 เมษายน2553หมายเหตุ:พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งมใจความสำคัญว่า เขาเป็นหัวหน้าขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ เพื่อต่อสู้เอาชนะขบวนการเผด็จการรัฐสภา เผด็จการรัฐประหาร และเผด็จการทุกชนิด มิใช่หัวหน้าผู้ก่อการร้ายตามที่มีผู้ป้ายสีไว้แต่ประการใดทั้งสิ้น
แถลงการณ์ระบุในตอนหนึ่งว่า เมื่อรัฐบาลสั่งให้ทหารปฏิบัติมาตรการแก้ปัญหาม็อบที่ผิด จนเกิดการบาดเจ็บล้มตายทั้ง 2 ฝ่าย รัฐบาลกลับไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น แต่เตรียมการที่จะดำเนินการเข่นฆ่าประชาชนอีก กระผมจึงไม่มีทางเลือก เพราะเห็นว่าไม่มีสถาบันใดอีกแล้ว ที่จะสามารถหยุดยั้งได้ นอกจากสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันที่ทรงความยุติธรรมทางการเมืองเพียงสถาบันเดียวเท่านั้น และจะต้องยุติยับยั้งให้ทันต่อสถานการณ์ก่อนจะสายเกินการณ์ กระผมจึงตัดสินใจขอพระบารมีปกเกล้าฯให้แก่ประชาชนดังกล่าว อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง และไม่มีทางเลือกใดทั้งสิ้น
ด้วยความเคารพต่อข้อคิดเห็นของทุกฝ่าย คำแถลงฉบับนี้ กระผมมิได้กระทำ ในฐานะนักการเมืองเพื่อตอบโต้ หรือ แสวงหาประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองที่สังกัดแต่ประการใด
ซึ่งเรื่องทางการเมืองยังมีอีกมาก แต่จะไม่ขอนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ ด้วยความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองในฐานะส่วนตัว กระผมได้ทำงานด้านความมั่นคง ของชาติมายาวนาน และนำเสนองานด้านวิชาการอันเป็นหลักวิชาที่เป็นความเห็นถูกแห่งสัมมาทิฐิ เพื่อรักษาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นการให้การศึกษาต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่ความสำเร็จของการสร้างประชาธิปไตยและเป็นการนำเสนอหลักวิชาเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติชาติทั้งปวง ต่อไป
ด้วย เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2553 กระผมได้แถลงโดยสรุปว่า“…คือ หวังในพระมหากรุณาธิคุณที่จะพระราชทานให้พวกเรา เพื่อยุติความขัดแย้งที่มีมานาน และสร้างความเสียหายให้กับบ้านเมืองอย่างมหาศาล...พระอาญามิพ้นเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าขอรับทุกสิ่งทุกอย่างไว้เหนือหัว หากสิ่งที่อยู่ในหัวใจของพวกเราในวันนี้ คือ ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อมให้กับพี่น้องคนไทย ให้กับพวกเราด้วย ผมคิดว่าถ้าไม่มีพระมหากรุณาธิคุณ ก็ไม่แน่ใจต่อการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นภายในวันสองวันข้างหน้านี้ และจะเป็นตราบาปที่คนไทยไม่ต้องการเห็น...
รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบท้าย
ที่ตัดสินใจมาทำงานทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทย เพราะมีภารกิจที่ต้องพิสูจน์ว่า พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อสีนี้และคนที่เกี่ยวข้องมีความจงรักภักดีหรือไม่ วันนี้ก็ได้พิสูจน์ด้วยสายเลือดทหารรักษาพระองค์ จึงขอประกาศว่า บุคคลทุกคนที่กล่าวมาข้างต้น มีความจงรักภักดีอย่างที่สุด สิ่งที่หวัง คือ ให้สังคมไทยเกิดสันติสุข และปัญหาได้รับการแก้ไข จะยืนหยัดทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน โดยเฉพาะการสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ ให้สถิตสถาพรต่อไปให้จงได้...ผู้สื่อข่าวถามว่า...แสดงว่าใน 1-2 วัน ทหารจะใช้กำลังเข้าสลายประชาชน ใช่หรือไม่ กระผมตอบว่า มันคือสิ่งที่ต้องเน้นย้ำ เพราะกลัวว่าทหารจะใช้กำลังเข่นฆ่าประชาชน...”
ได้ปรากฏว่า วันรุ่งขึ้น 20 เมษายน 2553 ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่เห็นด้วยและไม่บังควรที่นำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมือง” และนายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย กล่าวว่า “...นับว่าเป็นความคิดที่แย่มาก คนแก่มีวุฒิภาวะถึงขนาดนี้ เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว ย่อมรู้ดีว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง และอยู่เหนือการเมือง...เป็นการดึงฟ้าให้ต่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และอยู่เหนือความขัดแย้งมาโดยตลอด ความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่ทุกคนเข้าใจได้ดีว่า เป็นความคิด ที่ทำลายสถาบัน...“ และคำกล่าวของนายศุภชัย ใจสมุทร ว่า “...ก็ควรต้องรู้ว่าอะไรบังควรหรือไม่บังควร เพราะเป็นที่รู้กันตามรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง...” ฯลฯ
กระผมต้องขอขอบคุณทุกท่าน ที่ได้กรุณาให้ความสำคัญต่อปัญหานี้ ที่กระผมได้เสนอขึ้น ซึ่งได้ก่อผลสะเทือนออกไปอย่างกว้างขวาง ลึกซึ้ง แสดงถึงว่าบุคคลเหล่านี้ได้เป็นตัวอย่างอันดียิ่ง สะท้อนภาพว่ามีมิจฉาทิฐิ หรือความเห็นผิด หรือความมืดบอดอวิชชาอย่างหนาแน่น ต่อปัญหาสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองการปกครอง นั่นคือ แสดงว่ามีปัญหาความคิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ยังแก้ไม่ตก คือ มีความรู้ผิดหรือมีความไม่รู้ นั่นเอง ซึ่งมีผลเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และประเทศชาติ ประชาชน อย่างร้ายแรง ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ได้เจตนา
ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดี ที่จะได้สร้างความเห็นถูกสัมมาทิฐิ แก้ไขความคิด ให้ถูกต้อง มีความจงรักภักดีอย่างมีวิชชา เพื่อรักษาความมั่นคงแด่สถาบันพระมหากษัตริย์ที่ถูกต้อง และนำไปสู่ความสำเร็จของการสร้างประชาธิปไตย และ
การแก้ปัญหาของประชาชนทั้งมวล ฉะนั้น จึงขอชี้แจงต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
1. ก่อนอื่นทั้งสิ้น เราจะต้องรู้ให้ถูกต้องเสียก่อนว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมีความจริงแท้เป็นมาอย่างไร ตามกฎหมายระหว่างประเทศได้รับรองสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า “...สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้แทนแห่งอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ ดังนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์จึงทรงเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์” (THE MONARCH APPEARS AS THEREPRESENTATIVE OF THE SOVEREIGNTY OF THE STATE, AND THEREBY BECOMES A SOVEREIGNTY HIMSELF) จากหนังสือINTERNATIONAL LAW A TREATISE VOL.I - PEACH BY H. LAUTERPACHT, Q.C., LL.D., F.B.A.สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ (HEAD OF STATE) ซึ่งเป็นประมุขสูงสุดแห่งองค์กรรัฐ (A HEAD AS ITS HIGHEST ORGAN) หรือเป็นหัวหน้าขององค์กรรัฐ (CHIEF ORGAN) และเป็นตัวแทนของรัฐในความสัมพันธ์และกิจการระหว่างประเทศทั้งสิ้น (REPRESENTATIVE IN THE TOTALITY OF ITS INTERNATIONAL RELATIONS)
สถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะเป็นส่วนสำคัญของชาติไทย ที่เป็นสถาบันที่มีมายาวนานที่สุดและทรงก่อตั้งชาติ ทรงมีพระราชอำนาจตามนิติราชประเพณี ภายใต้พระราชดำริและพระราชวินิจฉัยตามความรับผิดชอบของสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อประเทศชาติ มาตั้งแต่ก่อตั้งชาตินับร้อยปีนับพันปี จึงทรงมีอำนาจมากกว่าสถาบันอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นประมุข
สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นจอมทัพไทย ซึ่งกองทัพไทยประกอบ ด้วยกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ตำรวจ และอาสาต่างๆ ทั้งสิ้น
2. สถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคเปลี่ยนผ่านจากยุคสมัยเก่า ขึ้นสู่ยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ทรงสร้างประชาธิปไตย ตั้งแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (ร.5) สมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ (ร.6) และสมเด็จพระปกเกล้าฯ (ร.7) ที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิ์ จนสามารถรักษาเอกราชของชาติไว้ได้ จากการ ล่าอาณานิคมของประเทศนักล่าอาณานิคม และยกระดับประเทศขึ้นสู่ความทันสมัยศิวิไลซ์ (MODERNIZATION)
อีกทั้งทรงวางรากฐานประเทศด้านความมั่นคง และด้านประชาธิปไตย และสมเด็จพระปกเกล้าฯ กำลังทรงสร้างประชาธิปไตย ขั้นตอนสุดท้ายเกือบสำเร็จ แต่ได้เกิดเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ขึ้นเสียก่อน ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 การสร้างประชาธิปไตยของไทย โดยพระมหากษัตริย์ ก็จะสำเร็จไปแล้วประเทศไทยจะเจริญรุ่งเรืองพร้อม ๆ กับประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว
นี่คือบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อบ้านเมืองไทยในอดีต ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้แม้แต่น้อย และที่สำคัญที่สุด สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในสามสถาบันที่สร้างประชาธิปไตยในโลก คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันกองทัพ สถาบันพรรคการเมือง แต่สำหรับประเทศเอกราชเอเชีย 3 ประเทศ คือ จีน ไทย ญี่ปุ่น มีกฎเกณฑ์พิเศษอยู่ว่า มีเพียงสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่สร้างประชาธิปไตยได้ ถ้าสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกขัดขวาง ก็จะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยได้ ประเทศจีนถูกขัดขวางก็กลายเป็นคอมมิวนิสต์ ญี่ปุ่นไม่ถูกขัดขวางก็สร้างประชาธิปไตยได้สำเร็จ ประเทศไทยสร้างประชาธิปไตยขึ้นในขั้นตอนแรก แต่ถูกขัดขวาง โดยเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 การสร้างประชาธิปไตยขั้นตอนที่ 2 จึงไม่สำเร็จ ประชาธิปไตยของไทยจึงยังสร้างไม่สำเร็จตลอดมาเป็นระยะเวลาถึง 78 ปี ไม่ว่าจะเป็นโดยสถาบันกองทัพ หรือสถาบันพรรคการเมือง
3. สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ ทรงใช้อำนาจผ่าน 3 ทาง คือ ทางคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และศาล ตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 มาตรา 3 ตามธรรมชาติและข้อเท็จจริง สถาบันไดใช้อำนาจ สถาบันนั้นอยู่ในการเมือง ดังนั้น เมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่าน 3 ทาง ดังที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ก็แสดงว่าพระมหากษัตริย์อยู่ในการเมือง ไม่ได้อยู่นอกการเมือง หรือไม่ได้อยู่เหนือการเมืองแต่อย่างใดทั้งสิ้น
การกล่าวว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่นอกการเมือง หรืออยู่เหนือการเมือง หรือไม่เกี่ยวกับการเมืองนั้น เป็นการกล่าวที่ผิดหลักวิชารัฐศาสตร์ ผิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ผิดข้อเท็จจริงที่ดำรงอยู่ และการกล่าวเช่นนั้น เป็นการลิดรอนพระราชอำนาจ ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไม่รู้ตัว เพราะไม่มีประมุขประเทศใดในโลกไม่มีอำนาจของประมุข ไม่ว่าจะเป็นประเทศราชอาณาจักรหรือไม่ใช่ประเทศราชอาณาจักร ประเทศที่มี รูปของประเทศ (FORM OF COUNTRY) เป็นแบบราชอาณาจักร สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในฐานะประมุขแห่งรัฐ หรือประมุขของประเทศ มีพระราชอำนาจในการทรงแต่งตั้ง ถอดถอน ประมุขทางการเมืองเช่น นายกรัฐมนตรี ประธานสภา และประธานศาลฎีกา อย่างเด็ดขาดสมบูรณ์บริบูรณ์ ถ้าประเทศใดมี รูปของประเทศเป็นแบบอื่น สถาบันที่เป็นประมุขก็จะมีอำนาจเช่นเดียวกัน ไม่ใช่เป็นเพียงตรายาง คือ มีแค่ตำแหน่งแต่ไม่มีอำนาจ ปัจจุบันรัฐธรรมนูญไทย ยังลิดรอนพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะประมุขแห่งรัฐอยู่อย่างมากมาย
4. ประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น ดีกว่าประเทศที่ มีสถาบันอื่นเป็นประมุข ดังเช่น สถานการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนี โดยการนำของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งเป็นทั้งนายกรัฐมนตรี และ เป็นผู้นำสูงสุด หรือประธานาธิบดีจึงนำเยอรมันเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 และทำสงครามจนพ่ายแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร แต่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ยังไม่ยอมแพ้ จึงถูกโจมตีจนกรุงเบอร์ลินแหลกละเอียด ประชาชนล้มตายมหาศาล แม้นายพลรอมเมล สิงห์ทะเลทราย จะลอบสังหารฮิตเลอร์ เพื่อยุติสงคราม กลับถูกจับและสั่งให้กิน ยาตาย เยอรมนีพินาศย่อยยับ ฮิตเลอร์ยิงตัวตายในห้องใต้ดิน เยอรมนีย่อยยับ เพราะไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ญี่ปุ่นพ่ายแพ้แล้วโดยถูกทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ นายกรัฐมนตรีจอมพลโตโจไม่ยอมแพ้จะสู้ต่อ ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นถูกระเบิดปรมาณู จนจมหายไปในมหาสมุทรแปซิฟิก คนญี่ปุ่นจะล้มตายมหาศาล แต่สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น ทรงมีพระบรมราชโองการปลดนายพลโตโจ แล้วทรงตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทน สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงยุติลง ญี่ปุ่นจึงยังไม่พังพินาศ ย่อยยับ เพราะมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อิตาลีก็แพ้แล้วเช่นกัน มุสโสลินีนายกฯจะไม่ยอมแพ้ จึงถูกปลดโดย พระเจ้า วิคเตอร์ เอ็มมานูเอล และทรงตั้งนายพลทหารเรือ คนหนึ่งเป็นนายกฯ จึงสามารถ ยุติสงครามโลกลงได้ อิตาลีไม่ย่อยยับเพราะมีสถาบันพระมหากษัตริย์
ประเทศไทย เพราะมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จึงสามารถรักษา เอกราชชาติบ้านเมืองให้รอดพ้นมาได้จนถึงทุกวันนี้ จากภัยลัทธิล่าอาณานิคม ลัทธิคอมมิวนิสต์ และภัยทุกชนิด โดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2
ดังนั้น จึงต้องพิทักษ์และเทิดทูน สถาบันพระมหากษัตริย์ ไว้เป็นประมุขของประเทศไทยตลอดไป และต้องทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ มีพระราชอำนาจอย่างสมบูรณ์ ตามหลักวิชาการเมืองการปกครองที่ถูกต้อง
5. สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในฐานะประมุขแห่งรัฐ มีคุณูปการ ต่อประชาชนอย่างยิ่ง คือ เพราะประเทศไทยมีการปกครองระบอบเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการรัฐสภาหรือเผด็จการรัฐประหาร เป็นธรรมดาที่เมื่อฝ่ายใดได้อำนาจ ก็จะเผด็จการอย่างเต็มที่ ซึ่งจะก่อความเดือดร้อน และความเสียหายต่อประเทศชาติ แต่พระมหากษัตริย์ทรงคานและคัดค้านการใช้อำนาจเผด็จการ ให้ลดความรุนแรงเลวร้ายน้อยลง เช่น ทรงยุติวิกฤติชาติ ยุติการฆ่าฟันประชาชน ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และพฤษภาทมิฬ นี่เป็นการเมืองที่ถูกต้องใช่หรือไม่
6. สถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นสถาบันแห่งความยุติธรรมทางการเมือง จึงทรงสามารถยุติความแตกแยก ขัดแย้ง ฆ่าฟันกันทางการเมือง ในขณะที่ไม่มีสถาบันใดจะยุติสถานการณ์ได้อีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าสถาบันกองทัพ สถาบันรัฐบาล และสถาบันรัฐสภา ดังเช่นเหตุการณ์ 14 ตุลา และพฤษภาทมิฬ
โดยเฉพาะในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทรงแสดงความเป็นสถาบันที่ทรงความยุติธรรมทางการเมือง โดยทรงรับสั่งให้ทั้งฝ่าย พล.อ.สุจินดา คราประยูร และฝ่าย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าพร้อมกัน แล้วทรงตรัสให้ทั้งสองฝ่าย ร่วมกัน ยุติวิกฤตการณ์ จึงสามารถยุติสถานการณ์วิกฤติ ลงได้อย่างเบ็ดเสร็จสิ้นเชิง นี่คือ บทบาททางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ใช่หรือไม่ ถ้าไม่มีบทบาทดังกล่าวแล้วจะเกิดอะไรขึ้น จะไม่เกี่ยวกับการเมืองได้อย่างไร
7. ในอดีตพรรคประชาธิปัตย์เคยเรียกร้องรัฐบาลพระราชทาน ตามมาตรา 7 และพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 7 ไม่ได้บัญญัติไว้ให้อำนาจพระมหากษัตริย์ ในการพระราชทานรัฐบาลพระราชทาน แต่การที่กระผมได้ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ พระบารมีปกเกล้าฯให้กับประชาชนทั้งประเทศ โดยที่ยังไม่ได้มีพระราชวินิจฉัยใด ๆ ทั้งสิ้น ว่าเป็นเช่นไร แล้วทำไมจึงมีการออกมาวิพากษ์วิจารณ์กระผมก่อน มิเป็นการละเมิดพระบรมราชวินิจฉัย และพระราชอำนาจหรือ
ฯพณฯ อภิสิทธิ์ และ ฯพณฯ สุเทพ ได้เคยเสนอจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เมื่อครั้งซาวเสียงผู้ควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับ ฯพณฯ สมัคร สุนทรเวช แต่ต่อมาก็ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ตามพระราชดำรัส “รู้รักสามัคคี” และต่อมายังได้ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงว่าไม่ได้เคยเสนอรัฐบาลแห่งชาติ ทำให้เห็นว่าท่านไม่มีจุดยืน เพื่อประโยชน์ชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง สองมาตรฐานหรือไม่ครับ ท่านสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์
8. การทรงรับฎีกาจากราษฎรเป็นธรรมเนียมอันมีมายาวนาน ของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย และการถวายฎีกาเป็นเสรีภาพของประชาราษฎรตลอดมา ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามฯจนถึงปัจจุบัน เป็นสัมพันธภาพระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ และพสกนิกรของพระองค์ที่ดีงามสูงส่งตลอดมา นั่นคือ สะท้อนภาพถึงทศพิธราชธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์ และสะท้อนภาพความจงรักภักดีอย่างยิ่งของประชาราษฎร
การถวายฎีกาที่เป็นประวัติศาสตร์ คือ การถวายฎีกาขอพระราชทาน การปกครองแบบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2428 โดยเจ้านายและ ขุนนาง นำโดยกรมพระนเรศวรฤทธิ์ ดังจะยกมาเป็นตัวอย่าง เพื่อเทียบเคียงกับของกระผม ดังนี้
“...ข้าพระพุทธเจ้า ผู้มีชื่อในท้ายหนังสือนี้ ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ด้วยอำนาจความกตัญญูต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแลความรักชาติบ้านเมือง ซึ่งเป็นของไทยมาหลายร้อยปี จึงทำให้ข้าพระพุทธเจ้าตั้งใจเอาร่างกายและชีวิตเข้าฉลองพระเดชพระคุณ ทำราชการให้บ้านเมืองเจริญ ได้เป็นที่ลำนักร่มเย็นเป็นเอกราชในประเทศของตน และอำนาจน้ำพระพัฒน์ ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าถือเอาเป็นที่หมายว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท มีพระราชหฤทัยเชื่อถือในความสัตย์ของข้าพระพุทธเจ้า แลตั้งพระราชหฤทัยที่จะ ทำนุบำรุงข้าราชการแลราษฎรทั้งหลายในพระราชอาณาเขต ให้มีความสุขความเจริญทั่วไป ทั้งสัญญาซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้แสดงทูลเกล้าฯ ถวายว่า ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีใจซื่อสัตย์กตัญญู คิดทำราชการฉลองพระเดชพระคุณโดยเต็มกำลัง และปัญญาข้าพระพุทธเจ้า จึงได้สามารถกราบบังคมทูลพระกรุณาในสมัยกาลปัตยุบัน ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าเป็นเวลาอันตรายจะมาถึงกรุงสยามได้ ด้วยเหตุภัยต่าง ๆ และซึ่งข้าพระพุทธเจ้าถือว่า ถ้ามิได้กราบบังคมทูลพระกรุณาความรู้เห็นแล้วก็จะเป็นการขาดจากความกตัญญูและน้ำพระพัฒน์ ทั้งความรักใคร่ ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท แลทั้งพระราชอาณาเขต ซึ่งเป็นของข้าพระพุทธเจ้า ชาวสยามทั่วกันหมด
ความซึ่งข้าพระพุทธเจ้า จะได้กราบบังคมทูลพระกรุณาต่อไปนี้ มีอยู่สามข้อเป็นประธาน คือ 1. คือภัยอันตรายซึ่งจะมีมาถึงกรุงสยามได้ด้วยความปกครองของกรุงสยาม ดังเป็นอยู่ในปัตยุบันนี้ จะเป็นไปได้ด้วยเหตุต่าง ๆ ดังมีตัวอย่างของชาติ ที่มีอำนาจใหม่ได้กระทำต่อชาติ ซึ่งหาอำนาจป้องกันมิได้ 2. คือการจะรักษาบ้านเมืองให้พ้นภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ ด้วยการปกครองของชาติบ้านเมืองอย่างมีอยู่ ในปัตยุบันนี้ โดยทางยุติธรรมฤาอยุติธรรมของศัตรูก็ดี ต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงในทางทะนุบำรุงรักษาบ้านเมือง ตามทางญี่ปุ่น ที่ได้เดินทางยุโรปมาแล้ว และซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีศิวิไลซ์ นับกันว่าเป็นทางอันเดียวที่จะรักษาบ้านเมืองได้ 3. ที่จะจัดการตามข้อสองให้สำเร็จได้จริงนั้น อาจเป็นไปได้อย่างเดียวแต่จะตั้งพระราชหฤทัยว่า สรรพสิ่งทั้งปวงต้องจัดการให้เป็นไปโดยจริงอย่างอุกฤษฏ์ ทุกสิ่งทุกประการไม่ว่างเว้น...”
เมื่ออ่านดูเนื้อหาแล้ว ปรากฏว่า แรงและแหลมคมกว่าของกระผมอย่างเทียบกันไม่ติด ทั้งที่ในอดีตอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ปัจจุบันอยู่ในระบอบรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การกล่าวหาต่างๆ และการว่ากล่าวโจมตีกระผมดังกล่าวข้างต้น นอกจากจะเป็นการลิดรอนพระราชอำนาจและทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ยังทำลายหรือปิดกั้นธรรมเนียมฎีกาอันเก่าแก่ ดีงามสูงส่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ และยังเป็นการปิดกั้นเสรีภาพของพสกนิกรในการถวายฎีกา อย่างไม่ได้เจตนาหรือโดยไม่รู้ตัว หรือไม่ได้ตั้งใจอีกด้วย
9.การขอพระบรมราชานุญาต กราบบังคมทูลขอพระบารมีปกเกล้าฯ ต่อปวงชนชาวไทย มิให้ถูกเข่นฆ่าโดยทหารบางคนในกองทัพ โดยคำสั่งที่ ไม่ถูกต้องชอบธรรมของรัฐบาลนั้น มิได้ตีตนไปก่อนไข้แต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่ทหารบางคนโดยคำสั่งของรัฐบาล ได้เกิดการเข่นฆ่าประชาชนแล้วนับสิบ ๆ ศพ และด้วยคำสั่งรัฐบาลที่ผิดนี้ ยังเป็นเหตุให้ทหารเสียชีวิตประมาณ 5-6 ศพ และมีผู้บาดเจ็บทั้งสิ้นกว่า 800 คน ซึ่งขัดต่อพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ในฐานะพระองค์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ และองค์รัฏฐาธิปัตย์ และจอมทัพไทย ที่ทั้งรัฐบาลและทหารจะต้องขึ้นต่อพระองค์
และเมื่อเกิดการบาดเจ็บล้มตายเสียเลือดเนื้อแล้ว รัฐบาลยังไม่หยุด ยังจะมีการเดินหน้าเข่นฆ่าปราบปรามประชาชนต่อไปอีก เพราะใช้มาตรการปราบปรามซึ่งเป็นมาตรการที่ผิด คือ แทนที่จะไม่ใช้มาตรการทางการเมืองเป็นหลัก พร้อมกับการใช้มาตรการปราบปรามและมาตรการกฎหมาย เป็นมาตรการประกอบ แต่รัฐบาลกลับใช้มาตรการกฎหมายและปราบปรามเป็นหลัก ไม่สนใจมาตรการทางการเมือง โดยสร้างประชาธิปไตยเป็นหลักในการแก้ปัญหาม็อบอันเป็นปรากฏการณ์ของระบอบเผด็จการรัฐสภา เช่นเดียวกับนโยบาย 66/23 ที่แก้ปัญหาสงครามกลางเมืองสำเร็จในอดีต เมื่อรัฐบาลสั่งให้ทหารปฏิบัติมาตรการแก้ปัญหาม็อบที่ผิด จนเกิดการบาดเจ็บล้มตายทั้ง 2 ฝ่าย รัฐบาลกลับไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น แต่เตรียมการที่จะดำเนินการเข่นฆ่าประชาชนอีก กระผมจึงไม่มีทางเลือก เพราะเห็นว่าไม่มีสถาบันใดอีกแล้ว ที่จะสามารถหยุดยั้งได้ นอกจากสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันที่ทรงความยุติธรรมทางการเมืองเพียงสถาบันเดียวเท่านั้น และจะต้องยุติยับยั้งให้ทันต่อสถานการณ์ก่อนจะสายเกินการณ์ กระผมจึงตัดสินใจขอพระบารมีปกเกล้าฯให้แก่ประชาชนดังกล่าว อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง และไม่มีทางเลือกใดทั้งสิ้น
ใครคือผู้รับผิดชอบและใครกันแน่ที่ไม่รับผิดชอบ ใครผิดใครถูก ลองคิดดูด้วยจิตใจที่เที่ยงธรรมและมีคุณธรรม อย่ายึดแต่หลักนิติรัฐ แต่ไม่มีหลักนิติธรรม หรือจงถือธรรมเป็นอำนาจ อย่าถืออำนาจเป็นธรรม และขอยืนยันว่า กระผมเป็นหัวหน้าขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ เพื่อต่อสู้เอาชนะขบวนการเผด็จการรัฐสภา เผด็จการรัฐประหาร และเผด็จการทุกชนิด มิใช่หัวหน้าผู้ก่อการร้ายตามที่มีผู้ป้ายสีไว้แต่ประการใดทั้งสิ้น
ลงชื่อ
พลเอก (ชวลิต ยงใจยุทธ)
22 เมษายน 2553