ที่มา Thai E-News
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
๒๐ เม.ย.๕๓
ณ สถานการณ์เดือนเมษายน ๒๕๕๓ ท่ามกลางความมืดหน้าตามัวของผู้ที่กำลังต่อสู้กันอย่างเมามัน เพื่อเอาแพ้เอาชนะทางการเมือง จนถึงขนาดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพียงเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ทางการเมืองของตน โดยแกนนำฝ่ายเสื้อแดงและผู้ที่อยู่เบื้องหลังที่ทำทุกอย่างเพื่อให้เป็นไปตาม ข้อเรียกร้องของตนเอง คือ การยุบสภาและเป้าหมายที่มากกว่าการยุบสภา ไม่ว่าจะเป็น การดำเนินการอย่างสันติวิธีและไม่ใช่สันติวิธี ทั้งใต้ดินและบนดิน
ส่วนฝ่ายรัฐบาลอภิสิทธิ์และผู้สนับสนุนก็ทำทุกวิถีทางที่จะรักษาอำนาจไว้ให้นานที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต ๒๕ รายและบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนเกือบพันคน มี การใช้มาตรการต่างๆ เช่น การเรียกผู้คนให้เข้าไปรายงานตัวในค่ายทหาร จนดูเหมือนว่าประเทศอยู่ในสถานการรัฐประหารไปแล้ว มิหนำซ้ำสถานที่ราชการและตามถนนหนทางต่างๆก็เต็มไปด้วยกองทหารและเครื่องกีดขวางต่างๆประหนึ่งว่ามีศึกสงครามกับอริราชศัตรู
ทั้งสองฝ่ายต่างทุ่มเทสรรพกำลังและสารพัดวิชามารต่างๆเพื่อนำมาเข่นฆ่าฝ่ายตรงกันข้ามให้ดับดิ้นและสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปจากโลกนี้ โดยต่างฝ่ายต่างลืมไปว่าชีวิตมนุษย์นั้นมีค่ายิ่งนัก กว่าจะเกิด กว่าจะเจริญเติบโต แต่กลับต้องมาถูกจับให้เป็นเบี้ยของแกนนำของฝ่ายการเมืองที่โสมม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเสื้อแดงหรือฝ่ายรัฐบาล
ไม่ว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้จะจบลงอย่างไร บทเรียนประวัติศาสตร์ตอนนี้จะถูกจารึกไว้ว่าในครั้งหนึ่งสังคมไทยเราไร้สติ ถึงกับฆ่าฟันกันเพียงเพื่อสนองตัณหาทางการเมืองของคนไม่กี่คน สังคมไทยเราไร้สติจนถึงกับเข่นฆ่ากันโดยไม่คำนึงผลอันเลวร้ายที่จะตามมาจนยากต่อการเยียวยา เพียงเพราะคำๆเดียงคือคำว่า “อำนาจ”นั่นเอง
นอกจากการออกมาห้ำหั่นเพื่อเอาชีวิตของฝ่ายตรงข้ามแล้ว กลไกของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่างแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น “ทหารแตงโม(เขียวนอกแดงใน)” “ทหารสับปะรด-ทหารทุเรียน(เขียวนอกเหลืองใน)” “ตำรวจมะเขือเทศ(แดงทั้งนอกและใน)” ตำรวจฟักทอง(เหลืองทั้งนอกและใน) ฯลฯ จนทำให้สภาพของรัฐในปัจจุบันตกอยู่ในสภาวะของการเป็นรัฐที่ล้มละลาย(failed state) เพราะกลไกของรัฐตั้งแต่หัวหน้ารัฐบาลลงมาไม่สามารถบริหารและรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้
สภาวการณ์ของไทยเราในปัจจุบันติดอันดับ ๗ ประเทศที่อันตรายที่สุดในโลกรองจาก อิรัก อัฟกานิสถาน เชชเนีย แอฟริกาใต้ จาเมกา และซูดาน เท่านั้นเอง ซึ่งสภาวการณ์ของความขัดแย้งของไทยในปัจจุบันเราก้าวเข้าสู่ภาวะของการสูญเสียอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นสภาวการณ์ในขั้นที่สองของความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งมีอยู่ ๓ ระดับ คือ
๑) จลาจล(Riot) มีความวุ่นวายเกิดขึ้นแผ่ซ่านไปทั่วประเทศ กลไกของรัฐทำงานไม่ได้ สถานที่ราชการและสถานที่สำคัญเต็มไปด้วยกองทหารและด่านสกัดฯลฯ ซึ่งไทยเราเริ่มเข้าสู่ขั้นที่ ๑ นี้ ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา
๒) สงครามกลางเมือง(Civil War) เมื่อมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นก็มีการจัดตั้งกองกำลังเป็นของตัวเอง เช่น กองกำลังเสื้อดำ เป็นต้น มีพื้นที่ที่ฝ่ายตนเองยึดครองเป็นสัดส่วน เช่น ย่านราชประสงค์ หรือ พื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานของเสื้อแดง ฯลฯ ซึ่งสภาวะทางการเมืองของไทยเราเริ่มเข้าสู่สภาวการณ์นี้ภายหลังจากการสลายการชุมนุมที่ผ่านฟ้าตั้งแต่ ๑๐ เมษายน เป็นต้นมา หากปัญหาในขั้นที่ ๒ นี้ไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็วก็จะเข้าสู่ขั้นที่ ๓ ซึ่งก็คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
๓) การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) ในขั้นที่รุนแรงที่สุดก็คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดังเช่นที่เกิดขึ้นในรวันดา หรือที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือในกัมพูชายุคเขมรแดงครองเมือง ซึ่งเหตุการณ์ในกัมพูชานี้ เราสามารถนำมาเป็นเป็นอุทาหรณ์ได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่มีสาเหตุมาจากเหตุผลทางการเมืองล้วนๆ เหมือนของไทยในปัจจุบันโดยไม่มีปัจจัยทางศาสนา เช่น สงครามครูเสด และไม่เหมือนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวโดยนาซีหรือที่รวันดาที่มีเหตุผลเรื่องชาติพันธุ์
ความขัดแย้งขยายตัวออกอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ดังปรากฏให้เห็นจากการเข่นฆ่าและการทำร้ายกันระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านเสื้อแดง และจนบัดนี้ก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะยุติลงได้อย่างไร แต่มีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาวะความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาของหน่วยงานรัฐ รวมถึงการเพิกเฉยของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทำให้สังคม ตกอยู่ในสภาวะของการทำสงครามระหว่างผู้คน หากยังปล่อยให้สภาพดังกล่าวดำเนินต่อไปก็จะมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความ มั่นคงปลอดภัยในชีวิตของผู้คน
ท้ายที่สุดอาจเลวร้ายจนถึงกับการที่ประเทศต้องแยกเป็นเสี่ยงๆ ดังเช่นอินเดียที่แยกเป็นปากีสถานตะวันตกและปากีสถานตะวันออก(บังคลาเทศ)ภายหลังจากที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ซึ่งก็ไม่แน่นักว่าหากเหตุการณ์ยังคงดำรงอยู่อย่างนี้ คนเชียงใหม่หากจะเดินทางไปกรุงเทพหรือคนกรุงเทพหากจะเดินทางไปเชียงใหม่ในอนาคต อาจจะต้องใช้วีซ่าเหมือนคนอินเดียกับปากีสถานก็เป็นได้
ในห้วงเวลาแห่งความขัดแย้งที่ผ่านมาได้มีการปลุกเร้าและสร้างความหมายให้ฝ่ายที่คิดต่างจากตนกลายเป็นศัตรูที่ต้องกำจัด จึงทำให้สามารถที่จะลงมือต่ออีกฝ่ายอย่างป่าเถื่อนได้เมื่อเผชิญหน้ากัน สังคมไทยเคยมีบทเรียนของการแบ่ง “ซ้าย/ขวา” จากเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ มาแล้ว เมื่อมาถึงบัดนี้การแบ่งแยกระหว่าง “แดง/รัฐบาล” กำลังนำพาสังคมไทยย้อนกลับไปสู่โศกนาฏกรรมแบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง เพียงแต่เปลี่ยนจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์(ตามคำนิยามของรัฐบาลขณะนั้น)กับรัฐบาล ในอดีต เป็น ผู้ก่อการร้าย(ตามคำนิยามของรัฐบาลขณะนี้)กับรัฐบาล
เราควรตระหนักว่าไม่ว่าจะมีความเห็นไปในทิศทางใดก็ตาม ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตนก็เป็นมนุษย์ คนหนึ่งเฉกเช่นเดียวกับเรา อุดมการณ์ทางการเมืองที่ทั้งสองฝ่ายกำลังยึดมั่นและปลุกปั่นอยู่ ในขณะนี้ ล้วนแต่ไม่มีคุณค่าพอต่อชีวิตและเลือดเนื้อของผู้คน เราควรหวนกลับมาตระหนักถึง ความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมสังคมให้มากขึ้น รวมทั้งประณามการกระทำที่มีผลต่อการสร้าง ความเป็นศัตรูให้เกิดขึ้นระหว่างผู้คนในสังคมไทยด้วยกันไม่ว่าการกระทำนั้นจะมาจากฝ่ายใดก็ตาม
สมควรแล้วล่ะหรือที่เราจะต้องเอาชีวิตที่มีค่าของเรามาสังเวยเพื่อสนองความบ้าอำนาจของแกนนำและผู้ที่อยู่เบื้องหลังทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเสื้อแดงหรือฝ่ายรัฐบาล เราควรหยุดคิดสักนิดว่า “ทุกชีวิตมีค่า หยุดบ้ากันได้แล้ว” ก่อนที่เราจะเข้าสู่ภาวะของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และนำไปสู่การสิ้นชาติในที่สุด
หมายเหตุ ผู้ที่อ่านบทความนี้จบแล้วยังคิดว่าเฉพาะฝ่ายที่คิดไม่ตรงกับตนเองนั้น “บ้า”และควรเป็นฝ่ายหยุด แสดงว่าท่านกำลัง “บ้า” เช่นกัน
เพื่อไทย
Wednesday, April 21, 2010
ชำนาญ จันทร์เรือง: ทุกชีวิตมีค่า หยุดบ้ากันได้แล้ว
โดย ชำนาญ จันทร์เรือง