การเมืองมีหลายมิติสูงต่ำลึกตื้นกว้างยาวเบาหนักแข็งอ่อนตรงเอียง
มีทั้งหน้าฉากหลังฉากบนโต๊ะใต้โต๊ะ ใต้ดินบนดิน
มีทั้งรูปธรรมนามธรรมมีทั้ง"มือที่มองเห็น" และ "มือที่มองไม่เห็น" เข้าไปแทรกแซงการเมือง
แต่เมื่อเป็น “มือที่มองไม่เห็น” ย่อมพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นเจ้าของมือ??
อย่ากระนั้นเลย เรามาพูดถึงมือที่มองเห็น แต่ยังไม่ได้ลงมือทำดีกว่านะโยม
การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาถือว่าเป็นไฟต์บังคับตามรัฐธรรมนูญ
เพราะมีแต่นโยบายเป็นตัวหนังสือ ยังไม่ได้ทำตัวหนังสือให้เกิดเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรม
ฉะนั้น การอภิปรายซักไซ้นโยบายรัฐบาลฉลองเทศกาลมาฆบูชา จึงเป็นการประเมินล่วงหน้าว่ารัฐบาลจะทำได้จริงหรือไม่จริง??
ต้องยอมรับว่านโยบายรัฐบาลสมัคร ซึ่งต่อยอดจากนโยบายรัฐบาลไทยรักไทย มีบางโครงการที่ยังทำไม่สำเร็จ และไม่คุ้มงบประมาณที่ลงทุน
แต่ “แม่ลูกจันทร์” เห็นว่าควรให้เวลารัฐบาลใหม่ทำงานพิสูจน์ฝีมือเสียก่อนอย่างน้อย 6 เดือน
โดยเฉพาะโครงการที่ตั้งป้อมคัด ค้านกันตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มลงมือทำ
เช่น...โครงการเมกะโปรเจกต์แสนห้าหมื่นล้านบาท ขยายพื้นที่ชลประทานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อแก้ปัญหาแล้งซ้ำซาก
รวมทั้งโครงการผันน้ำจากแม่น้ำโขง แล้วเจาะอุโมงค์ส่งน้ำเพื่อให้ 19 จังหวัดภาคอีสาน มีน้ำกินน้ำใช้อย่างพอเพียง
ปรากฏว่าบรรดาเอ็นจีโอ และนักวิชาการออกมาคัดค้านกันอึงคะนึง
นักวิชาการบางคนฟันธงว่า การเจาะอุโมงค์ส่งน้ำระบบไฮโดรชิลไม่ได้ผลคุ้มกับเงินที่ลงทุน
“แม่ลูกจันทร์” นึกถึงเมื่อ 30 ปีก่อนที่วิศวกรรุ่นเดอะของไทยยืนยันว่ากรุงเทพฯเป็นดินอ่อน ขุดอุโมงค์ลึกไม่ได้ ไม่ควรเสี่ยงสร้างรถไฟใต้ดิน
นักวิชาการบางคนชี้ว่า ภาคอีสานไม่ได้ ขาดแคลนน้ำ ปริมาณฝนเฉลี่ยในภาคอีสานมีพอเพียง ไม่มีความจำเป็นต้องเจาะอุโมงค์ผันน้ำโขงเข้ามาเพิ่มเติม
ยังไม่ทันศึกษารายละเอียดก็ออกมาค้านกันโครมคราม
การคัดค้านโดยไม่มีข้อมูลที่สมบูรณ์ อาจจะทำให้ประเทศเสียโอกาสในการแก้ ปัญหาระยะยาว??
“แม่ลูกจันทร์” เชื่อว่าภาคอีสานขาดน้ำจริงๆ เพราะพื้นที่เพาะปลูกในภาคอีสานรวมทั้งสิ้น 58 ล้านไร่ มีพื้นที่เขตชลประทานแค่ 7 ล้านไร่เท่านั้นเอง
การแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำจึงต้องจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม
โครงการผันน้ำโขงจึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
เพราะแม่น้ำโขงไหลผ่านประเทศไทยยาว 700 กม. แต่เราได้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงน้อยเหลือเกิน
ในขณะที่ประเทศจีนที่อยู่เหนือเราขึ้นไป สร้างเขื่อนยักษ์ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำคร่อมแม่น้ำโขง 3 เขื่อนซ้อนกัน
ถ้าเราไม่ดึงแม่น้ำโขงมาใช้ประโยชน์ ก็เท่ากับปล่อยให้กระแสน้ำมหาศาลไหลทิ้งทะเลไปฟรีๆ!!
ข้อสำคัญ ถ้าเราไม่ลงทุนแก้ปัญหาน้ำให้ครบวงจร วิกฤติแล้งซ้ำซากก็จะซ้ำเติมพี่น้องประชาชน 19 จังหวัดภาคอีสาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศตลอดไป
แต่เหนือสิ่งอื่นใด...รัฐบาลควรกราบบังคมทูลขอพระราชทานแนวพระ ราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบให้เกิดความชัดเจน
เพราะพระองค์ท่านทรงเชี่ยวชาญปัญหาน้ำอย่างแท้จริง
ปัญหาขัดแย้งก็จะได้ข้อยุติ ไม่ต้องเถียงกันให้วุ่นวาย.
“แม่ลูกจันทร์”
คอลัมน์ นักข่าวหัวเขียว