ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดการประชาพิจารณ์รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ก่อนเสนอเรื่องเข้าสู่สภาพัฒน์เพื่อนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเดินหน้าโครงการต่อ เชื่อ รัฐบาลใหม่ ไม่รื้อ โครงการรถไฟฟ้าทั้งหมด แต่น่าจะเป็นเพียงการปรับโครงข่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค และ บางซื่อ-ท่าพระ มูลค่าโครงการ 7 หมื่นล้านบาท เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะนำข้อสรุปที่ได้รายงานต่อกระทรวงคมนาคม นำเข้าสู่สภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบดำเนินโครงการต่อไป
โดยนายประภัสร์ กล่าวว่า ผลการฟังความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่คัดค้านต่อการดำเนินโครงการ แม้ว่าก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการพิจารณาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมออกมาแสดงความเห็นคัดค้านการก่อสร้างโครงการบริเวณสถานีสนามชัย ซึ่งคณะอนุกรรมการเกรงว่าจะกระทบต่อทัศนียภาพและความมั่นคงแข็งแรงต่อวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์) พระอารามหลวงและแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของไทย โดยนายประภัสร์ ยืนยันว่า โครงการจะยังคงเดินหน้าต่อตามเส้นทางเดิม เพราะเห็นว่ามีความเหมาะสมแล้ว และมีวิธีการก่อสร้างที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ขั้นตอนการก่อสร้างโครงการ ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีลงความเห็นชอบแล้ว รฟม.จะต้องเข้าหารือเรื่องวงเงินก่อสร้างโครงการกับกระทรวงการคลัง และใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปีครึ่ง ถึง 5 ปี ซึ่งน่าจะทันต่อผลการศึกษาปรับความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าใหม่ของรัฐบาล หากจะมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางในอนาคต
ทั้งนี้เชื่อว่า การปรับเส้นทางรถไฟฟ้าทั้ง 10 สายตามนโยบายของรัฐบาลชุดนี้จะไม่กระทบต่อการเดินหน้าโครงการในส่วนที่ดำเนินการไปแล้ว เพราะเชื่อว่าการปรับโครงข่ายรถไฟฟ้าจะไม่มีการรื้อโครงการใหม่ทั้งหมด ซึ่งในส่วนที่ดำเนินการไปแล้วก็สามารถเดินหน้าต่อได้ แต่อย่างไรก็ตามต้องรอฟังนโยบายที่ชัดเจนจากการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันนี้ก่อน โดยในส่วนของ รฟม.ก็พร้อมที่จะนำเสนอข้อมูลแนวทางและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล หากจะมีการปรับเปลี่ยนโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น