WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, February 18, 2008

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 09.40 น. ณ อาคารรัฐสภา
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้กระผมเป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 29 มกราคม พุทธศักราช 2551 และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2551 นั้น
บัดนี้ คณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว โดยยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และครอบคลุมถึงแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามบทบัญญัติในหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คณะรัฐมนตรีจึงขอแถลงนโยบายดังกล่าวต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อให้ทราบถึงเจตนารมณ์ ยุทธศาสตร์ และนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นที่จะสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงก้าวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง และสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชนชาวไทยทุกคน
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเป็นปีที่ต้องเผชิญกับปัญหาจากเศรษฐกิจโลกที่มีความรุนแรง อย่างน้อยสองประการ คือ ปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบถึงตลาดเงินและเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในโลก และปัญหาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและก่อให้เกิดแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อในโลกและในประเทศไทย
นอกจากปัญหาเฉพาะหน้าดังกล่าวแล้ว รัฐบาลยังมีภารกิจสำคัญอื่น ๆ ในการวางรากฐานการเจริญเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน และส่งเสริมภาคการผลิตและบริการให้สามารถปรับตัวไปสู่การผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นปัญหาโครงสร้างระยะยาวของประเทศ ส่วนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม สังคมไทยจะเริ่มเข้าสู่จุดเริ่มต้นของสังคมผู้สูงอายุในปี 2552 และประชากรไทยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุอยู่ในภาวะที่ต้องปรับตัวเข้าสู่สังคมฐานความรู้ในยุคโลกาภิวัตน์ ในขณะที่ภาวะโลกร้อน ภัยธรรมชาติ และปัจจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
ในช่วง 4 ปีต่อไป รัฐบาลจะดูแลปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว และมุ่งมั่นที่จะบริหารประเทศ ภายใต้หลักการสำคัญสองประการ ซึ่งรัฐบาลเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างความยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจและสังคมไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนไทยและต่างประเทศ และประชาคมโลก
ประการแรก คือ การสร้างความสมานฉันท์ให้แก่คนไทยทุกภาคส่วนที่จะต้องร่วมมือกันในการนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์ต่าง ๆ และสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับประเทศในอนาคต การสร้างความสมานฉันท์นี้รวมถึงเรื่องที่สำคัญ คือ การแก้ไขและเยียวยาปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่แนวทางของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและสามัคคีของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศให้เป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ
ประการที่สอง คือ การสร้างความสมดุลและภูมิคุ้มกันให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายในทุกด้าน ตั้งแต่การพัฒนาคนให้มีคุณธรรมนำความรู้ การสนับสนุนการออมระยะยาว การส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ที่เหมาะสม การพัฒนาชุมชนให้พึ่งตนเองได้และเชื่อมโยงกับตลาดอย่างเป็นขั้นตอน จนถึงการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน การดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุน และการเพิ่มความสามารถในการใช้ประโยชน์และต่อยอดเทคโนโลยีให้เข้ากับภูมิปัญญาไทยเพื่อนำไปสู่นวัตกรรมและสร้างรายได้ให้แก่ระบบเศรษฐกิจตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางหลักในการดำเนินงานของรัฐบาลตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
นอกจากหลักการทั้งสองประการแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ให้ความสำคัญแก่บทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศ และกลไกการตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐ เพื่อให้อยู่ในกรอบแนวทางของการบริหารประเทศตามหลักธรรมาภิบาล รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว และจะยึดเป็นแนวทางในการดำเนินงานของรัฐบาล
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
รัฐบาลได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินที่สำคัญ โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนที่ต้องเริ่มดำเนินการในปีแรก และระยะการบริหารราชการ 4 ปีของรัฐบาล ดังต่อไปนี้
1. นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก
รัฐบาลถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในสังคม ปราบปรามยาเสพติด สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ฟื้นฟูให้เศรษฐกิจมีความเข้มแข็ง แก้ไขปัญหาความยากจน โดยพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อเพิ่มศักยภาพการหารายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาสในอาชีพอย่างยั่งยืนให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร แรงงาน และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญเร่งด่วน โดยมีนโยบายที่สำคัญ คือ
1.1 สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยการเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันของประชาชนในชาติให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ และสร้างเสถียรภาพทั้งทางด้านการเมือง การปกครอง สังคม และเศรษฐกิจ โดยมุ่งถึงประโยชน์สุขของประชาชนส่วนรวมเป็นสำคัญ ซึ่งจะเป็นรากฐานที่มั่นคงในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
1.2 แก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยน้อมนำแนวทางพระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" มาดำเนินภารกิจในด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนา โดยให้มีความสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของพื้นที่ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อของประชาชน ตลอดทั้งอำนวยความเป็นธรรมและความยุติธรรม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สร้างความสมานฉันท์และสันติสุขในพื้นที่โดยเร็วที่สุด
1.3 เร่งรัดแก้ไขปัญหายาเสพติดและปราบปรามผู้มีอิทธิพล โดยยังคงยึดหลักการ "ผู้เสพ คือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษา ส่วนผู้ค้า คือผู้ที่ต้องได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม" ทั้งนี้ รัฐบาลจะเร่งรัดปราบปรามการค้ายาเสพติด ลดปริมาณผู้เสพยา และป้องกันมิให้กลุ่มเสี่ยงเข้าไปเป็นเหยื่อของยาเสพติด โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนควบคู่กับมาตรการปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม และใช้มาตรการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตัดช่องทางการหาเงินทุจริตของผู้มีอิทธิพลในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การค้ามนุษย์ และการเป็นเจ้ามือการพนัน เป็นต้น
1.4 ดำเนินมาตรการในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการ โดยดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท ระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคและผู้ผลิต พร้อมทั้งจัดหาสินค้าราคาประหยัดจำหน่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้มีรายได้น้อย
1.5 เพิ่มศักยภาพของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ให้เป็นแหล่งเงินหมุนเวียนในการลงทุน สร้างงานและอาชีพ สร้างรายได้และลดรายจ่ายให้แก่ประชาชนในชุมชนและวิสาหกิจขนาดเล็กในครัวเรือน พัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่มีการบริหารจัดการที่ดี ให้สามารถยกระดับเป็นธนาคารหมู่บ้านและชุมชน
1.6 จัดสรรงบประมาณตามขนาดประชากร (Small Medium Large: SML) ให้ครบทุกหมู่บ้านและชุมชน เพื่อสร้างโอกาสให้ชุมชนสามารถแก้ไขปัญหาของชุมชนด้วยตนเอง และพัฒนาโครงการที่จะก่อให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืน พัฒนาสินทรัพย์ชุมชน อนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการใช้ทรัพยากรของรัฐ ท้องถิ่น และจังหวัด อย่างมีประสิทธิภาพ
1.7 สานต่อโครงการธนาคารประชาชน เพื่อกระจายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย สร้างทางเลือกและลดการพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีโอกาสในการสร้างงาน สร้างรายได้ด้วยตนเอง
1.8 สนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างโอกาสในการลงทุนและสร้างรายได้ ผ่านสถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
1.9 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อให้แต่ละชุมชนสามารถใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาสินค้า โดยรัฐพร้อมที่จะสนับสนุนให้ชุมชนเข้าถึงองค์ความรู้สมัยใหม่ แหล่งเงินทุน และพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการและการตลาด เพื่อเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
1.10 พักหนี้ของเกษตรกรรายย่อยและยากจน ที่ผ่านกระบวนการจัดทำแผนฟื้นฟูอาชีพ เพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคง
1.11 สร้างระบบประกันความเสี่ยงให้เกษตรกร เพื่อลดความเสี่ยง อันเนื่องมาจากผลกระทบความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และสร้างกลไกในการสร้างเสถียรภาพราคาของสินค้าเกษตรที่เป็นธรรม
1.12 ขยายบทบาทของศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix-it Center) และสถาบันอาชีวศึกษา เพื่อให้คำแนะนำและถ่ายทอดความรู้ในการใช้ การดูแลรักษาและซ่อมบำรุงเครื่องมืออุปกรณ์การประกอบอาชีพ เครื่องใช้ในครัวเรือน รวมทั้งสร้างเครือข่ายศูนย์ฯ กับชุมชนและวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ระบบรับรองและตรวจสอบคุณภาพในขั้นต้นของสินค้าชุมชน
1.13 สร้างโอกาสให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยอย่างทั่วถึง เช่น โครงการ "บ้านเอื้ออาทร" "บ้านรัฐสวัสดิการ" และ "ที่อยู่อาศัยของตนเองเป็นครั้งแรก" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ซึ่งสามารถเดินทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วยระบบขนส่งมวลชนได้อย่างสะดวก
1.14 เร่งรัดการลงทุนที่สำคัญของประเทศ เช่น การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 9 สาย รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟชานเมือง และรถไฟก้างปลาเชื่อมโยงจังหวัดที่ยังไม่มีรถไฟขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า และการพัฒนาขีดความสามารถของท่าอากาศยานสากล เป็นต้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
1.15 ดำเนินมาตรการลดผลกระทบจากราคาพลังงาน โดยเร่งรัดโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากก๊าซธรรมชาติและผลผลิตทางการเกษตร เช่น แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล รวมทั้งเร่งรัดมาตรการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดภาระการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ
1.16 ฟื้นความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยประกาศให้ปี 2551 - 2552 เป็น "ปีแห่งการลงทุน" และ "ปีแห่งการท่องเที่ยวไทย"
1.17 วางระบบการถือครองที่ดินและกำหนดแนวเขตการใช้ที่ดินให้ทั่วถึงและเป็นธรรม โดยใช้ข้อมูลระบบภูมิสารสนเทศ ภายใต้กระบวนการที่ชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อให้ประชาชนมีที่ดินทำกินและประกอบอาชีพอย่างทั่วถึงและพอเพียง
1.18 ขยายพื้นที่ชลประทานและเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน โดยฟื้นฟูและขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งพัฒนาแหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน โดยดำเนินการก่อสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เพื่อประโยชน์ในการปรับโครงสร้างภาคการเกษตร การบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง ทั้งในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม รวมทั้งระบบประปาที่ถูกสุขอนามัย เพื่อการอุปโภคและบริโภคแก่ประชาชนให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพการกระจายน้ำโดยการพัฒนาระบบชลประทานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ชลประทานระบบท่อ
1.19 เร่งรัดมาตรการและโครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติโลกร้อน โดยส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน ธุรกิจเอกชน และชุมชน ให้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการปลูกและฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ รวมทั้งสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในระดับครัวเรือน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
ในส่วนของนโยบายที่จะดำเนินการภายในช่วงระยะ 4 ปีของรัฐบาลชุดนี้ รัฐบาลจะดำเนินนโยบายหลักในการบริหารประเทศซึ่งปรากฏตามนโยบายข้อที่ 2 ถึงข้อที่ 8 ดังต่อไปนี้
2. นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
รัฐบาลให้ความสำคัญแก่การให้หลักประกันขั้นพื้นฐานของบริการสาธารณะของรัฐภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ การพัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพ การมีสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในชีวิต และประชาชนมีความสุข โดยจะดำเนินการ ดังนี้
2.1 นโยบายการศึกษา
2.1.1 ยกระดับคุณภาพการศึกษาของคนไทยอย่างมีบูรณาการและสอดคล้องกันตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษาทั้งในและนอกระบบการศึกษา และสร้างระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต
2.1.2 พัฒนาหลักสูตร ปรับระบบการผลิตและพัฒนาครูให้มีคุณภาพและคุณธรรมอย่างทั่วถึง ต่อเนื่อง และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์
2.1.3 ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียน การสอน และการเรียนรู้อย่างจริงจัง จัดให้มีการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งจัดหาอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประกอบการเรียนการสอนให้โรงเรียนอย่างทั่วถึง
2.1.4 ดำเนินการให้บุคคลมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษา 12 ปีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งสนับสนุนผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรืออยู่ในสภาวะยากลำบาก ให้ได้รับการศึกษา และเพิ่มโอกาสให้แก่เยาวชนในการศึกษาต่อผ่านกองทุนให้กู้ยืมที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต และเชื่อมโยงกับนโยบายการผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถของประเทศ รวมทั้งต่อยอดให้ทุนการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ
2.1.5 สนับสนุนการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาคการผลิตและบริการ และเร่งผลิตกำลังคนระดับอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพเพื่อสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศในสาขาต่าง ๆ เช่น ปิโตรเคมี ซอฟต์แวร์ อาหาร สิ่งทอ บริการสุขภาพและการท่องเที่ยว และการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการ เป็นต้น ด้วยความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการ สถาบันการศึกษา และสถาบันเฉพาะทาง ตลอดจนให้มีการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพตามมาตรฐานสากล
2.1.6 ขยายบทบาทของระบบการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ผ่านองค์กรต่าง ๆ เช่น สำนักงานบริหารจัดการองค์ความรู้ ระบบห้องสมุดสมัยใหม่ หรืออุทยานการเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ศูนย์พัฒนาด้านกีฬา ดนตรี ศิลปะ ศูนย์บำบัดและพัฒนาศักยภาพของบุคคลออทิสติก เด็กสมาธิสั้น และผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ ศูนย์การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
2.2 นโยบายแรงงาน
2.2.1 เร่งฝึกอบรมและพัฒนาคนที่ทำงานแล้วและคนที่ถูกเลิกจ้าง เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าสู่ภาคการผลิตและบริการที่มีระดับเทคโนโลยีที่สูงขึ้น
2.2.2 จัดให้มีระบบเตือนภัยและติดตามสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อการจ้างงาน การเลิกจ้างอื่นเนื่องจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ พร้อมทั้งจัดให้มีการจ้างงานใหม่โดยเร็ว
2.2.3 ให้การคุ้มครองแรงงานตามมาตรฐานแรงงานไทย ซึ่งให้ความสำคัญแก่ความปลอดภัยในการทำงานและสวัสดิการแรงงาน พร้อมทั้งจัดระบบการคุ้มครองแก่แรงงานนอกระบบให้ครอบคลุมมากขึ้น
2.3 นโยบายการพัฒนาสุขภาพของประชาชน
2.3.1 เพิ่มคุณภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างไม่เป็นอุปสรรค พร้อมทั้งปฏิรูประบบบริหารจัดการสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพทั่วถึงและครบวงจร ทั้งการรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสุขภาพ การป้องกันโรค และการส่งเสริมสุขภาพ
2.3.2 จัดให้มีมาตรการลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพและภาวะทุพโภชนาการที่นำไปสู่การเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต และอุบัติเหตุจากการจราจร พร้อมทั้งนำมาตรการภาษีการบริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาใช้กระตุ้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบุคคลให้ลด ละ และเลิก พฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพ
2.3.3 ดำเนินการระบบเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคเชิงรุก เพื่อป้องกันปัญหาการป่วยและตายด้วยโรคอุบัติใหม่และระบาดซ้ำในคน พร้อมทั้งสร้างขีดความสามารถในการเฝ้าระวัง วินิจฉัย และดูแลรักษาพยาบาลอย่างเป็นระบบที่ประสานเชื่อมโยงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
2.3.4 เพิ่มแรงจูงใจและขยายงานอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้ชุมชนในการดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ การดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลและการเฝ้าระวังโรคในชุมชน รวมทั้งเชื่อมโยงการดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2.3.5 ส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับมีโอกาสออกกำลังกาย และเล่นกีฬาเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและพลานามัยที่ดี รวมทั้งพัฒนาทักษะทางด้านกีฬาสู่ความเป็นเลิศที่จะนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ สร้างนิสัยรักการกีฬาและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เพื่อหลีกเลี่ยงการหมกมุ่นและมั่วสุมกับอบายมุขและยาเสพติด
2.4 นโยบายศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม
2.4.1 อุปถัมภ์ คุ้มครอง และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ เพื่อให้มีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังให้ประชาชนเข้าใจและนำหลักธรรมของศาสนา มาใช้ในการเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
2.4.2 ฟื้นฟูและสืบสานคุณค่าความหลากหลายของวัฒนธรรมไทยทั้งที่เป็นวิถีชีวิต ประเพณี ค่านิยมที่ดีงาม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการดูแลรักษาแหล่งอุทยานประวัติศาสตร์ โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อการศึกษาเรียนรู้และใช้ประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตบนพื้นฐานความรู้และความเป็นไทย รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาโบราณสถานให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมระดับโลก
2.4.3 พัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและการนันทนาการ เพื่อส่งเสริมให้ วัยรุ่นไทยเกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีคุณธรรมเอื้ออาทรต่อผู้อื่น และเกิดการเรียนรู้ศิลปะอย่างสร้างสรรค์ เข้าใจถึงคุณค่า ซาบซึ้งในความสุนทรีย์ของศิลปะ
2.4.4 ขยายบทบาทสภาวัฒนธรรมทุกจังหวัดให้เป็นกลไกเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมที่ครอบคลุมทั้งวิถีชีวิตและสื่อทุกประเภทที่มีผลกระทบต่อการเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรม และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน พร้อมทั้งขจัดสื่อที่เป็นภัยต่อสังคม ขยายสื่อดีเพื่อนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมอย่างเท่าทันสถานการณ์
2.5 นโยบายความมั่นคงของชีวิตและสังคม
2.5.1 ประสานเชื่อมโยงการดำเนินงานและใช้ประโยชน์จากกองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนผู้สูงอายุ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กองทุนพัฒนาชุมชน และกองทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อให้เป็นพลังร่วมในการสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ
2.5.2 สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการพัฒนาให้มีความรู้และจริยธรรม เริ่มตั้งแต่เด็กแรกเกิดและเยาวชนทุกช่วงวัย โดยให้ความสำคัญแก่การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ครอบครัวที่อบอุ่น และสถานศึกษาที่เอาใจใส่ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดด้วยการปลูกฝังความรู้ที่ทันโลกและคุณค่าที่ดีของวัฒนธรรมไทย สร้างความเข้าใจให้แก่พ่อแม่ถึงวิธีการดูแลบุตรที่ถูกต้องตามระดับการพัฒนาของสมอง
2.5.3 สร้างหลักประกันความมั่นคงและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ให้เด็ก สตรี และคนพิการที่ด้อยโอกาส โดยจะขจัดขบวนการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป ขจัดการเลือกปฏิบัติและการละเมิดลิทธิเด็ก สตรี และคนพิการในทุกรูปแบบและอย่างเด็ดขาด รวมทั้งเสริมสร้างสวัสดิการทางสังคมแก่คนพิการและผู้ด้อยโอกาสอย่างเหมาะสม และส่งเสริมความรู้และอาชีพให้สตรีและคนพิการให้สามารถพึ่งพาตนเองได้
2.5.4 เตรียมความพร้อมให้แก่สังคมผู้สูงอายุ โดยยึดหลักการให้ผู้สูงอายุเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี ทั้งร่างกายและจิตใจ โดยสร้างหลักประกันด้านรายได้และระบบการออมในช่วงวัยทำงานที่เพียงพอสำหรับช่วงวัยชรา สร้างพฤติกรรมด้านสุขภาพที่เหมาะสมกับช่วงวัย สนับสนุนครอบครัวให้เข้มแข็งสามารถดูแลสมาชิกได้อย่างมีคุณภาพ ขยายฐานการให้เบี้ยยังชีพแก่คนชราที่ไม่มีรายได้ และส่งเสริมการใช้ประสบการณ์ของผู้สูงอายุในกระบวนการพัฒนาประเทศโดยระบบคลังสมอง
2.5.5 สร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ในสังคมเมือง โดยมีการวางผังเมืองอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยสาธารณะและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด รวมทั้งจัดให้มีบริการขั้นพื้นฐานอย่างเหมาะสม มีโรงเรียนใกล้บ้าน มีการสื่อสารคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
3. นโยบายเศรษฐกิจ
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
รัฐบาลจะบริหารจัดการเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีความสมดุลและเข้มแข็ง ทั้งในภาคเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศ มีภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกทั้งด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยวางโครงสร้างพื้นฐานด้านองค์ความรู้ มีระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริการ รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม การเกษตร ระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการ พลังงาน และระบบโครงข่ายสารสนเทศและการสื่อสาร โดยจะดำเนินการ ดังนี้
3.1 นโยบายการเงินการคลัง
3.1.1 ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ โดยดูแลเงินเฟ้อและค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและกลไกตลาด ส่งเสริมประสิทธิภาพและความมั่นคงของภาคการเงินในประเทศ และส่งเสริมศักยภาพในการบริหารความเสี่ยงของภาคเอกชน
3.1.2 รักษาวินัยการคลังเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว ซึ่งครอบคลุมถึงเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ งบประมาณของท้องถิ่น ฐานะการเงินของรัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ปฏิรูประบบงบประมาณแผ่นดินทั้งระบบ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศอย่างบูรณาการ ปรับปรุงระบบภาษีและการจัดเก็บภาษีให้มีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และเพียงพอกับรายจ่ายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต
3.1.3 ส่งเสริมให้มีระบบการออมระยะยาว เพื่อให้มีเงินออมเพียงพอกับการดำรงชีพในยามชรา รวมทั้งเป็นการสร้างฐานเงินออมเพื่อการระดมทุนของประเทศในอนาคต
3.1.4 วางระบบการดูแลและส่งเสริมการเคลื่อนย้ายเงินทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ส่งเสริมการลงทุนของไทยในต่างประเทศ ทั้งการลงทุนของผู้ประกอบการและนักลงทุนที่เป็นสถาบัน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการแข่งขัน เป้าหมายการส่งเสริมศักยภาพของสาขาการผลิตที่จำเป็น และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
3.1.5 ปรับปรุงประสิทธิภาพของตลาดทุนให้ทัดเทียมกับตลาดหลักในภูมิภาคและตลาดโลกทั้งด้านธรรมาภิบาล ราคา และคุณภาพ โดยให้ความสำคัญแก่การปรับปรุงมาตรการสิ่งจูงใจเพื่อสนับสนุนการออมของประเทศ การเพิ่มบทบาทของตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ในการเป็นแหล่งทุนสำหรับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ และการจัดให้มีกลไกเพื่อกำกับดูแลการพัฒนาตลาดทุนให้ประสานสอดคล้องกับการพัฒนาตลาดเงิน
3.1.6 พัฒนารัฐวิสาหกิจให้สามารถเป็นกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาและการลงทุนของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างฐานรายได้และมูลค่าให้แก่ทรัพย์สินของรัฐ มีการบริหารงานอย่างมืออาชีพ ตลอดจนกำกับดูแลการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจภายใต้หลักธรรมาภิบาล ทั้งการจัดทำและแยกบัญชีเชิงสังคม ความโปร่งใส และการวัดประสิทธิภาพของการดำเนินงานในมาตรฐานไม่น้อยกว่าเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งเร่งฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาฐานะการเงิน
3.2 นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
3.2.1 ภาคเกษตร
3.2.1.1 เร่งปรับโครงสร้างการผลิตทางการเกษตรให้สอดคล้องกับโอกาสทางการตลาดและการเปลี่ยนแปลงรสนิยมของผู้บริโภค ทั้งที่เป็นตลาดเดิมและตลาดใหม่ โดยกำหนดยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารของโลก เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของการทำประมง ปศุสัตว์ และพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศให้ครบวงจร รวมทั้งสนับสนุนการผลิตพืชพลังงาน เช่น ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง เพื่อสนับสนุนนโยบายพลังงานทดแทน และสนับสนุนการผลิตสินค้าใหม่ที่มีโอกาสทางการตลาด เช่น พืชเส้นใย และสมุนไพร เป็นต้น
3.2.1.2 ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตร โดยการแปรรูปที่ได้คุณภาพและมาตรฐานสากลเพื่อเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมการเกษตร โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร ความปลอดภัยอาหารตามมาตรฐานสากล รวมทั้งให้มีระบบป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค ตลอดจนสนับสนุนการแปรรูปสินค้าเกษตรในชุมชน
3.2.1.3 เร่งรัดการเจรจาข้อตกลงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อป้องกันมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และพัฒนาโครงข่ายระบบการขนส่งสินค้าเกษตรทั้งในพื้นที่ชนบทและเมือง เพื่อขยายตลาดของสินค้าเกษตรและอาหารสู่ตลาดโลก
3.2.1.4 ส่งเสริมการทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ในระดับชุมชนตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้ครัวเรือนเกษตรกรมีความมั่นคงทางด้านอาหาร ส่งเสริมการขยายกระบวนการเรียนรู้ระบบเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร โครงการอาหารกลางวัน และธนาคารโคกระบือตามแนวพระราชดำริ โดยเกษตรกรและชุมชนเป็นผู้กำหนดทิศทางและแนวทางด้วยตนเอง
3.2.1.5 ส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันเกษตรกรทั้งในด้านการรวมกลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนสภาเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการวางแนวทางพัฒนาการเกษตรและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้วยตนเอง
3.2.2 ภาคอุตสาหกรรม
3.2.2.1 พัฒนาประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาค อุตสาหกรรม รวมทั้งสร้างมูลค่าให้กับสินค้าอุตสาหกรรม ด้วยการยกระดับความสามารถ ทักษะแรงงาน การบริหารจัดการของผู้ประกอบการ และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร ระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการภายในกลุ่มอุตสาหกรรม บนพื้นฐานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา

3.2.2.2 พัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูงและมีความได้เปรียบ เช่น อาหาร เหล็ก ยานยนต์ ปิโตรเคมี พลังงาน และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ให้เป็นฐานการผลิตในระดับภูมิภาคและระดับโลก ด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือให้สิทธิพิเศษกับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ รวมทั้งจัดหาและพัฒนาพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะ 20 ปีข้างหน้า โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่
3.2.2.3 สร้างสินค้าที่มีคุณภาพและมาตฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่สินที่ผลิตในประเทศไทย โดยสนับสนุนการพัฒนาทักษะฝีมือผสมผสานกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น กลุ่มสินค้าแฟชั่น อัญมณี และเครื่องประดับ และสินค้าอื่น ๆ พร้อมทั้งใช้มาตรการด้านการตลาดและสร้างตราสัญลักษณ์สินค้าของไทยให้เป็นที่นิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ
3.2.2.4 สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เพื่อเป็นฐานการผลิตของระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าและศักยภาพในการแข่งขัน ด้วยการสนับสนุนด้านองค์ความรู้และนวัตกรรม รวมถึงการสร้างธรรมาภิบาลในการประกอบการและความรับผิดชอบต่อสังคม
3.2.2.5 ส่งเสริมและขยายบทบาทศูนย์บ่มเพาะสำหรับผู้ประกอบการที่มุ่งสร้างสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ออกแบบให้มีความเหมาะสมตามศักยภาพในพื้นที่ต่าง ๆ พร้อมทั้งสร้างศูนย์พัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ตลอดจนสนับสนุนให้มีการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
3.2.2.6 จัดตั้งกองทุนพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและการลงทุนเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมให้มีการปรับตัว และสนับสนุนการลงทุนของอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงและใช้พลังงานน้อย รวมทั้งขยายบทบาทของกองทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันให้สามารถสนับสนุนการปรับโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.2.3 ภาคการท่องเที่ยวและบริการ
3.2.3.1 เร่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยฟื้นฟู พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน และสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในเชิงกลุ่มพื้นที่ที่มีศักยภาพ สามารถเชื่อมโยงธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชุมชน รวมถึงการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ควบคู่กับการส่งเสริมตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มดูแลรักษาสุขภาพ กลุ่มประชุมและแสดงสินค้า และกลุ่มที่มีความสนใจด้านระบบนิเวศ วัฒนธรรมท้องถิ่น แหล่งประวัติศาสตร์และโบราณสถาน เป็นต้น และดูแลให้นักท่องเที่ยวปลอดภัยจากอาชญากรรม การฉ้อฉล และอุบัติเหตุที่เกิดจากความบกพร่องของผู้ประกอบการ
3.2.3.2 พัฒนาธุรกิจบริการที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างโอกาสการขยายฐานการผลิตและการตลาดในระดับภูมิภาค เช่น ธุรกิจบริการสุขภาพ ธุรกิจ การประชุมและแสดงสินค้า การศึกษานานาชาติ การก่อสร้าง ธุรกิจภาพยนตร์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกีฬาและนันทนาการ เป็นต้น โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ การเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน มาตรฐานธุรกิจและการพัฒนาบุคลากรให้พร้อมรับการขยายตัวของธุรกิจ และการส่งเสริมด้านการตลาด
3.2.3.3 ส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือของกลุ่มอุตสาหกรรมการค้าและบริการที่เน้นความสำคัญของศักยภาพพื้นที่และเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรม รวมทั้งความสามารถทางด้านบุคลากรเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและการแพทย์ที่เชื่อมโยงกับการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์
3.2.4 การตลาด การค้า และการลงทุน
3.2.4.1 ส่งเสริมนโยบายการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอน และคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
3.2.4.2 ดำเนินการตลาดเชิงรุกเพื่อรักษาตลาดเดิมและสร้างตลาดใหม่ เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปตลาดหลัก โดยส่งเสริมการส่งออกในตลาดใหม่ ได้แก่ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปตะวันออก พร้อมทั้งรักษาส่วนแบ่งในตลาดหลักไม่ให้ลดลง โดยมุ่งเน้นการส่งออกสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวสูงในตลาดใหม่
3.2.4.3 ขยายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าภายใต้กรอบความร่วมมือและข้อตกลงทางด้านการค้าในระบบพหุภาคีและทวิภาคี เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศและการค้าชายแดน
3.2.4.4 ทบทวนการจัดตั้งสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศและปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการด้านการค้าของประเทศให้เป็นไปอย่างบูรณาการ โดยเชื่อมโยงกลไกในระดับนโยบายและหน่วยงานปฏิบัติที่มีภารกิจเกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนให้แก่ธุรกิจภาคเอกชนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
3.2.4.5 สนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศในสาขาที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพ ทั้งในการลงทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้า การทำสัญญาสินค้าเกษตรตามข้อตกลง การเปิดสาขา การหาตัวแทนและหุ้นส่วนในต่างประเทศเพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจไทยในต่างประเทศ
3.2.4.6 ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุน เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ
3.3 นโยบายโครงสร้างพื้นฐาน และระบบบริหารจัดการขนส่งมวลชน สินค้าและบริการ
3.3.1 พัฒนาบริการโครงสร้างพื้นฐานให้กระจายไปสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึงและเพียงพอ โดยเฉพาะการจัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค บริการสื่อสารโทรคมนาคม และที่อยู่อาศัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
3.3.2 พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและเชื่อมโยงโครงข่ายการบริหารจัดการขนส่งมวลชนสินค้าและบริการ ทั้งพื้นที่ชนบท เมือง และระหว่างประเทศ โดยให้ความสำคัญแก่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการขนส่งระบบรางให้เชื่อมโยงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เพื่อลดต้นทุนสินค้าและบริการเพื่อการส่งออก
3.3.3 พัฒนาการขนส่งทางน้ำและกิจการพาณิชยนาวี ทั้งภายในและระหว่างประเทศ ตลอดจนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกบริเวณพื้นที่ภาคใต้ พัฒนาท่าเรือชุมชน และกองเรือไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงานในภาคขนส่ง เชื่อมโยงประตูการค้าใหม่และสนับสนุนการท่องเที่ยว
3.3.4 พัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูมิภาค และอุตสาหกรรมการบินของไทย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าทางอากาศชั้นนำของเอเชียและโลก
3.4 นโยบายพลังงาน
3.4.1 สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ด้วยการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน โดยเร่งรัดให้มีการลงทุนสำรวจและพัฒนาพลังงานทั้งจากในประเทศ เขตพื้นที่พัฒนาร่วม และจากประเทศเพื่อนบ้านให้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานกับต่างประเทศ
3.4.2 ส่งเสริมให้มีการกำกับดูแลกิจการพลังงานให้มีราคาพลังงานที่เหมาะสม เป็นธรรม และก่อให้เกิดการแข่งขันลงทุนในธุรกิจพลังงาน โดยมีมาตรฐาน คุณภาพการให้บริการและความปลอดภัยที่ดี
3.4.3 พัฒนาและวิจัยพลังงานทดแทนทุกรูปแบบเพื่อเป็นทางเลือกแก่ประชาชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในการตัดสินใจพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและพลังงานที่สอดคล้องกับท้องถิ่น
3.4.4 ส่งเสริมการอนุรักษ์และประหยัดพลังงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคประชาชน โดยมีมาตรการจูงใจที่เหมาะสม
3.4.5 ส่งเสริมการพัฒนา ผลิต และใช้พลังงานควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมกลไกการพัฒนาพลังงานที่สะอาด รวมทั้งให้ความสำคัญกับการจัดการก๊าซเรือนกระจกเพื่อช่วยบรรเทาสภาวะโลกร้อน
3.5 นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศ
3.5.1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น โครงข่ายสื่อสารความเร็วสูงให้ทั่วถึง เพียงพอ ในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม และแข่งขันได้ เพื่อเป็นโครงข่ายหลักสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยไปสู่สังคมแห่งภูมิปัญญา ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเขตเมืองและชนบท และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ
3.5.2 พัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้านบริการความรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และจัดให้มีกลไกสนับสนุนแหล่งทุนสำหรับผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพได้มาตรฐานและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในภูมิภาค
3.5.3 สนับสนุนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการและบริการภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ การเชื่อมโยงข้อมูล การบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการ การเตือนภัยและความมั่นคงของรัฐ บริการการศึกษาและสาธารณสุข ตลอดจนการพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศและเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ
4. นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
รัฐบาลให้ความสำคัญแก่บทบาทของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการสร้างความสุขของประชาชนและสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยให้ความสำคัญแก่การบริหารจัดการอย่างบูรณาการระหว่างมิติของเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเพิ่มการมีบทบาทร่วมของประชาชนและชุมชน โดยจะดำเนินการ ดังนี้
4.1 อนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญแก่การใช้ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ตลอดจนความปลอดภัยทางชีวภาพเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารและสุขภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มสู่เศรษฐกิจระดับประเทศและสากลในระยะต่อไป
4.2 เร่งรัดการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ให้มีความสมดุลของการใช้ประโยชน์ การถือครอง และการอนุรักษ์ฐานทรัพยากร ที่ดิน ป่าไม้ สัตว์ป่า ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และทรัพยากรธรณี โดยการใช้ระบบภูมิสารสนเทศ ควบคู่กับการปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายตลอดจนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยเร่งรัดปราบปรามการทำลายป่า สัตว์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง รวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
4.3 อนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ โดยการยุติการเผาไร่นาและทำลายหน้าดิน การลดการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร รวมทั้งการฟื้นฟูดินและป้องกันการชะล้างทำลายดิน โดยการปลูกหญ้าแฝกตามแนวพระราชดำริ รวมทั้งมีการกระจายและจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดินอย่างเป็นธรรม อนุรักษ์และป้องกันรักษาป่าที่สมบูรณ์ สนับสนุนให้มีการปลูกและฟื้นฟูป่าตามแนวพระราชดำริ สนับสนุนการจัดการป่าชุมชนและส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจในพื้นที่ที่เหมาะสมตามหลักวิชาการ และการสนับสนุนบทบาทของชุมชนในการบริหารจัดการน้ำ เช่น การทำฝายต้นน้ำลำธารหรือฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ
4.4 จัดให้มีมาตรการป้องกันและพัฒนาระบบข้อมูลและเตือนภัยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง ธรณีพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และดำเนินมาตรการลดผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ
4.5 เร่งรัดการควบคุมมลพิษทางอากาศ ขยะ น้ำเสีย กลิ่น และเสียง ที่เกิดจากการผลิตและบริโภค โดยเฉพาะเร่งรัดการสร้างระบบบำบัดน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากสังคมเมืองและการผลิตในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม การจัดทำระบบกำจัดขยะโดยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสีย
4.6 ส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคเอกชนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การผลิตวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ การหมุนเวียนการใช้วัตถุดิบและเทคโนโลยีที่สะอาด และการใช้หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลดการก่อมลพิษและลดภาระของสังคมตามธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม
4.7 ส่งเสริมการสร้างความตระหนักทางด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมและการปรับพฤติกรรมการผลิตและการบริโภค เพื่อบรรเทาผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่จะนำมาสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5. นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และการยกระดับคุณภาพชีวิต โดยรัฐบาลจะดำเนินการ ดังนี้
5.1 ส่งเสริมการนำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาระบบวิจัยและพัฒนาเชิงนวัตกรรมที่มีอยู่ให้สนองความต้องการของภาคการผลิตและบริการ โดยให้ความสำคัญแก่การเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชน สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัย ตลอดจนพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การวิจัย และพัฒนาต่อยอดและมีการใช้ประโยชน์องค์ความรู้และเทคโนโลยีในเชิงพาณิชย์
5.2 สร้างเสริมความรู้ความคิดของประชาชนทางด้านวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งเร่งผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพและคุณธรรมให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของภาคการผลิตและบริการ ตลอดจนพัฒนาเส้นทางอาชีพเพื่อรักษาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไว้ในระบบ รวมทั้งจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ขั้นสูงจากต่างประเทศเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่บุคลากรไทย
5.3 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้มีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการ และสนับสนุนการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยเพื่อป้องกันมิให้ไทยถูกเอาเปรียบทางเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยพัฒนาระบบการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาระบบรับรองมาตรฐานให้ทันสมัย รวมทั้งพัฒนาศูนย์บ่มเพาะธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ และศูนย์แห่งความเป็นเลิศในสาขาเทคโนโลยีที่สำคัญ
5.4 ปรับปรุงระบบการวิจัยของประเทศให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยพัฒนามาตรการจูงใจ และกฎหมายให้เอื้อต่อการลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาคธุรกิจเอกชน และส่งเสริมการลงทุนจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์จากต่างประเทศมาใช้ประโยชน์
6. นโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
รัฐบาลจะดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อตอบสนองผลประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน โดยจะดำเนินบทบาทเชิงรุกในการส่งเสริมความร่วมมือและขยายความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และยึดมั่นในพันธกรณีที่มีอยู่กับต่างประเทศตามสนธิสัญญาและความตกลงต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งกฎบัตรสหประชาชาติและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พร้อมกับการสร้างภูมิคุ้มกันและพัฒนาเศรษฐกิจไทยทุกสาขาให้ได้รับประโยชน์จากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และสานต่อนโยบายทีมประเทศไทย (Team Thailand) เพื่อให้การดำเนินงานด้านต่างประเทศมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีเอกภาพ โดยจะดำเนินการ ดังนี้
6.1 ส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยส่งเสริมความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีและความใกล้ชิดระหว่างกัน อันจะนำไปสู่การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การส่งเสริมการท่องเที่ยว การขยายการคมนาคมขนส่ง และความร่วมมือด้านอื่น ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาค เช่น ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) และความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) เป็นต้น
6.2 ส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศในเอเชีย กรอบความร่วมมือเอเชีย และเพิ่มบทบาทในการสร้างความแข็งแกร่งของอาเซียนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการจัดตั้งประชาคมอาเซียน และผลักดันบทบาทอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศในวาระที่ไทยเป็นประธานอาเซียน
6.3 มีบทบาทที่สร้างสรรค์ในองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเวทีสหประชาชาติและองค์กรระดับภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อรักษาสันติภาพ ความมั่นคง ส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม ตลอดจนร่วมมือในการแก้ไขประเด็นปัญหาข้ามชาติทุกด้านที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์
6.4 กระชับความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับประเทศและกลุ่มประเทศที่มีบทบาทสำคัญของโลก จัดทำข้อตกลงการค้าเสรีในกรอบพหุภาคีและกับประเทศต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศโดยรวม สร้างกลไกเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวรับผลกระทบและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี
6.5 ดำเนินงานเชิงรุกทางการทูตเพื่อประชาชน วัฒนธรรม และการศึกษา ตลอดจนการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชนกับนานาประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการกับประเทศกำลังพัฒนา และสานต่อความร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อความเข้าใจอันดีกับองค์กรทางศาสนาอื่น ๆ
6.6 คุ้มครองผลประโยชน์ของคนไทย ดูแลคนไทยและแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะคนไทยที่ประกอบอาชีพและมีถิ่นฐานในต่างประเทศ ส่งเสริมบทบาทของชุมชนชาวไทยในการรักษาเอกลักษณ์และความเป็นไทย
7. นโยบายความมั่นคงของรัฐ
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
รัฐบาลจะรักษาความมั่นคงของประเทศ สถาบันพระมหากษัตริย์ และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ เตรียมความพร้อมในการเผชิญภัยคุกคามทุกรูปแบบ ทั้งภัยธรรมชาติและความขัดแย้งที่อาจส่งผลกระทบถึงประเทศไทย แก้ไขความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้และสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขสามัคคี สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ และต่อต้านภัยสังคมในทุกรูปแบบ โดยจะดำเนินการ ดังนี้
7.1 เทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ดำรงรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดได้ รวมทั้งเสริมสร้างจิตสำนึกประชาชนในชาติให้มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนสร้างบรรยากาศให้เกิดความรัก ความสามัคคี และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของคนในชาติ
7.2 เสริมสร้างระบบป้องกันประเทศให้มีความมั่นคง มีศักยภาพในการรักษาเอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ และผลประโยชน์ของชาติ โดยมุ่งพัฒนาความทันสมัยของอาวุธยุทโธปกรณ์ และเตรียมความพร้อมของกำลังพลในกองทัพ ตลอดจนการผนึกกำลังประชาชนให้มีส่วนร่วมในการรักษาความมั่นคงของประเทศ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนภารกิจในการพัฒนาประเทศและการรักษาสันติภาพภายใต้กรอบกติกาของสหประชาชาติ
7.3 เร่งพัฒนาระบบการจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และบุคคลที่ยังไม่มีสถานะที่ชัดเจน เน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับขบวนการลักลอบเข้าเมืองที่ผู้มีอิทธิพลให้การสนับสนุน เพื่อลดขนาดและผลกระทบของปัญหาความมั่นคงระยะยาวให้เหลือน้อยที่สุด ควบคู่ไปกับการจัดการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลที่ไม่มีสถานภาพที่ชัดเจนภายใต้ความสมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคงของชาติกับการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐาน
7.4 พัฒนาและเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งมุ่งพัฒนาระบบบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาความมั่นคง ตลอดจนการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และเร่งขจัดเงื่อนไขความไม่เข้าใจกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านความมั่นคง
7.5 ปฏิรูประบบข่าวกรองให้เกิดประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงและการเสริมสร้างผลประโยชน์ของชาติ โดยจัดระบบบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานพลเรือน ตำรวจ ทหาร และให้ความสำคัญแก่ข้อมูลเชิงลึกด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาของชาติได้อย่างแท้จริง
7.6 พัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติ โดยเน้นการบริหารวิกฤติการณ์ทั้งที่เกิดจากภัยธรรมชาติและภัยที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยมุ่งระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนให้สามารถดำเนินงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกัน แก้ไข บรรเทา และฟื้นฟูความเสียหายของชาติที่เกิดจากภัยต่าง ๆ
8. นโยบายการบริหารจัดการที่ดี
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
รัฐบาลจะพัฒนาและปรับปรุงระบบการบริหารงานภาครัฐเพื่อให้ส่วนราชการมีความพร้อมและกำลังคนที่มีขีดความสามารถในการปฏิบัติงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล มีความคุ้มค่า และเกิดความเป็นธรรมในการให้บริการสาธารณะ และจะปรับปรุงกฎหมายและการยุติธรรม สนับสนุนการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินนโยบายสาธารณะ เพื่อให้เกิดการบริหารราชการแผ่นดินที่ดี โดยจะดำเนินการดังต่อไปนี้
8.1 ประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน
8.1.1 ปรับปรุงการให้บริการประชาชน ด้วยการสร้างนวัตกรรมและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการให้บริการรูปแบบต่าง ๆ เพื่อลดภาระและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
8.1.2 พัฒนาระบบและกำหนดมาตรการเพื่อดึงดูดผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามารับราชการ ด้วยการปรับปรุงระบบค่าตอบแทนและสิ่งจูงใจให้เทียบเคียงหรือแข่งขันได้ในตลาดแรงงาน เพื่อให้ระบบราชการเป็นนายจ้างอันเป็นที่หมายปองของผู้สมัครงาน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการเคลื่อนย้ายถ่ายโอนกำลังคนทั้งภายในระบบราชการและระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคส่วนอื่น ๆ
8.1.3 พัฒนาระบบงานและสมรรถนะของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีขีดความสามารถในการปฏิบัติราชการและการส่งมอบบริการสาธารณะ โดยจะเน้นการพัฒนาข้าราชการในตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระบบราชการ รวมทั้งจะวางมาตรการสำหรับประเมินผลการปฏิบัติงานและจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรมตามผลงาน เพื่อให้เกิดขวัญกำลังใจและแรงจูงใจในการพัฒนาผลงาน
8.1.4 พัฒนาคุณภาพชีวิตของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ดีขึ้นเพื่อให้สามารถดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี โดยการเพิ่มเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการให้เหมาะสมกับสภาพการทำงานและสถานการณ์ค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งปรับปรุงสวัสดิภาพการทำงานและภาระหนี้สิน เพื่อให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัว
8.1.5 เสริมสร้างมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และพัฒนาความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ พร้อมทั้งป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างจริงจัง เพื่อให้ภาคราชการเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจแก่ประชาชน
8.1.6 ส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง โดยสร้างดุลยภาพระหว่างการกำกับดูแลและความเป็นอิสระของท้องถิ่น โดยไม่กระทบความสามารถในการตัดสินใจดำเนินงานตามความต้องการของท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งและขีดความสามารถในการบริหารจัดการงบประมาณและบุคลากรของท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ตลอดจนพึ่งพาตนเองด้วยฐานรายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเองได้มากขึ้น
8.1.7 สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดบริการสาธารณะของท้องถิ่นเพิ่มขึ้น โดยคำนึงถึงความจำเป็นและความเหมาะสมตามศักยภาพของท้องถิ่น รวมทั้งความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนขยายการให้บริการที่ครอบคลุมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เชื่อมโยงและบูรณาการกับแผนชุมชนและแผนระดับต่าง ๆ ในพื้นที่
8.1.8 เร่งรัดดำเนินการถ่ายโอนภารกิจของราชการส่วนกลางให้องค์กรปกครองวนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการจัดสรรรายได้ให้ท้องถิ่นแต่ละประเภทอย่างเหมาะสม
8.1.9 สนับสนุนระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการของผู้ว่าราชการจังหวัด ผ่านกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด และการจัดทำงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด เพื่อให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดวางยุทธศาสตร์การพัฒนาและทิศทางการพัฒนาพื้นที่ในอนาคตที่สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ศักยภาพของพื้นที่ และความต้องการของประชาชน
8.2 กฎหมายและการยุติธรรม
8.2.1 ดูแลให้มีการปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และทั่วถึง และส่งเสริมการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่มีผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจ รวมตลอดถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน
8.2.2 พัฒนากฎหมายให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงและความจำเป็นของสังคม รวมทั้งจัดให้มี "องค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมาย" และ "องค์กรเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม" ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศและกระบวนการยุติธรรม
8.2.3 ส่งเสริมและพัฒนาระบบงานยุติธรรมทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันอาชญากรรมและสร้างความเป็นธรรมในสังคม การพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม การใช้เครื่องมือและหลักวิชาการนิติวิทยาศาสตร์ การส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอำนวยความยุติธรรม เช่น การพัฒนาระบบยุติธรรมชุมชนและยุติธรรมจังหวัด การพัฒนาและจัดให้มีกระบวนการยุติธรรมทางเลือก (ซึ่งเป็นกระบวนการชะลอการลงโทษ เช่น ใช้วิธีการทำงานบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม เป็นต้น) ควบคู่กับกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก รวมทั้งการพัฒนาระบบและวิธีปฏิบัติเพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้เหมาะสมต่อกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรม
8.2.4 เสริมสร้างความยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมุ่งพัฒนากฎหมายและระบบงานยุติธรรมที่สอดคล้องกับพื้นที่ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมท้องถิ่น บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ขจัดเงื่อนไขความไม่ยุติธรรม และพัฒนาระบบการพิสูจน์การกระทำความผิดที่มีประสิทธิภาพ
8.3 ส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทางราชการและสื่อสาธารณะอื่นได้อย่างกว้างขวาง ถูกต้อง เป็นธรรม และรวดเร็ว
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลขอชี้แจงว่า การกำหนดนโยบายของรัฐบาลที่ได้กราบเรียนมาแล้วนี้ จะเป็นแนวทางดำเนินการในระยะเวลา 4 ปี ตามความเร่งด่วนของการแก้ไขปัญหาของประเทศ รวมทั้งจะเป็นการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามบทบัญญัติในหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นอกจากนี้ เพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และดำเนินนโยบายจนบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ได้ รัฐบาลจะดำเนินการปรับปรุงหรือกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ พัฒนาระบบการบริหารจัดการ เสนอร่างกฎหมาย ตลอดจนดำเนินการทุกประการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพ และสามารถบรรลุผลในทางปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่การพัฒนาประเทศ โดยถือเป็นนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนี้ด้วย
ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ
การกำหนดนโยบายบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีตามที่กล่าวมา ได้วางอยู่บนพื้นฐานข้อมูลตามความเป็นจริงของประเทศ และความต่อเนื่องกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา ตลอดจนการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมใหม่ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการแถลงนโยบายนี้เสร็จสิ้นแล้ว รัฐบาลจะได้เร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรม โดยจัดทำรายละเอียดของแผนปฏิบัติการ ประกอบด้วยแผนการบริหารราชการแผ่นดิน แผนปฏิบัติราชการของส่วนราชการต่าง ๆ และแผนการตรากฎหมาย ที่จะใช้เป็นคู่มือและแนวทางการทำงานต่อไป
อนึ่ง รัฐบาลขอเรียนว่า รัฐบาลนี้ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยถือว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นรากฐานสำคัญในการวางระบบการบริหารประเทศให้เกิดความมั่นคงและสร้างเสริมหลักประชาธิปไตยที่ถูกต้องและเหมาะสมเป็นที่ยอมรับของชนในชาติ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติให้ความเห็นชอบ แต่โดยที่ยังปรากฏว่ามีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่มาก รัฐบาลนี้จึงจะสนับสนุนให้มีการศึกษาทบทวนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและเป็นประโยชน์ต่อการบริหารประเทศให้ดียิ่งขึ้นในเวลาอันควรต่อไป
รัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นแก่รัฐสภาอันเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินว่า จะบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีความมุ่งมั่นที่จะบริหารประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า ทัดเทียมอารยประเทศ สร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมที่มีความสมดุลมากขึ้น และให้คนไทยมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ทั้งนี้ โดยยึดประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริง


จาก hi-thaksin