บ้านเมือง ฟ้าหลังฝน แต่ละสถาบันก็เร่งปรับกระบวนการบริหารเพื่อการพัฒนาไปข้างหน้า เช่นเดียวกับ สถาบันตุลาการ กระบวนการยุติธรรมได้เน้นนโยบายการบริหารที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากขึ้น เพื่อให้เป็นที่พึ่งหลักของประชาชนอย่างทั่วถึงและเที่ยงธรรม
ดังนั้น สำนักงานศาลยุติธรรม โดย คุณพินิจ สุเสารัจ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมได้วางแนวนโยบายในการปฏิบัติงานของบุคลากร เพื่อปลุกจิตสำนึกที่ดีในการบริการประชาชน ภายใต้ แนวนโยบาย 5 ส. คือ สำนึก สามัคคี สนับสนุน ส่งเสริมและสัมฤทธิผล
กับคำขวัญที่ว่า “สำนึกในหน้าที่ เอื้ออารีประชาชน”
นอกจากนี้ ยังประกอบไปด้วยยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรม 5 ยุทธศาสตร์ด้วยกันที่จะต้องเร่งผลักดัน เริ่มจากยุทธศาสตร์ที่ 1 ได้แก่ การรักษาความเข้มแข็งและมุ่งสู่ความเป็นเลิศในการอำนวยความยุติธรรม
ทั้งนี้ ก็เพื่อรักษาความสงบสุขของสังคม ผ่านภารกิจ 3 ประการคือ การพิจารณาคดี การไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย
จุดประสงค์แนวทางการดำเนินงานมีทั้งการปฏิรูประบบการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลสูง สร้างความพร้อมและความเข้มแข็ง ให้แก่ศาลฎีกาในการพิจารณาคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและคดีเลือกตั้ง เสริมสร้างความเข้มแข็งของศาลชั้นต้น เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา รวมถึงการรักษามาตรฐานของคำพิพากษา
พัฒนาระบบงานในศาลชั้นต้น ทั้งกรอบเวลาและความชัดเจนในการดำเนินงาน พัฒนาแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นหมายจับ หมายค้น จะต้องมีความรวดเร็ว ถูกต้อง เสมอภาคและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ จะให้มีบุคลากรของศาล ดูแล กลุ่มคนเหล่านี้เป็นพิเศษเช่นเด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ สร้างโอกาส ให้ประชาชนเข้าถึงความเป็นธรรมได้ด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือการเพิ่มศักยภาพระบบการสนับสนุนการอำนวย ความยุติธรรม อาทิ การปฏิรูประบบบริหารบุคคลข้าราชการศาลยุติธรรม ระบบการคัดเลือกคน การพัฒนากลไกและกระบวนการรักษาและปกป้องระบบคุณธรรมเพื่อขวัญและกำลังใจ จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนา ทำแผนพัฒนากฎหมาย เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การประสานความร่วมมือกับยุทธศาสตร์ชาติด้าน ข้อพิพาท ในเชิงเศรษฐกิจภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อให้ เกิดกระบวนการยุติธรรมที่สอดคล้องไปในทางเดียวกับการพัฒนาประเทศ
การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ พัฒนากระบวนการพิจารณาคดีของศาลชำนาญพิเศษ เช่น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ สรุปง่ายๆก็คือกฎหมายที่มีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศนั่นเอง
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสนับสนุนและพัฒนาความร่วมมือด้านการยุติธรรม ทั้งในและระหว่างประเทศ ที่มุ่งขยายขอบข่ายการประสานการยุติธรรมเต็มรูปแบบ
และยุทธศาสตร์ที่ 5 การให้บริการประชาชนและสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกที่จะเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเข้าใจ และเข้าถึงในกฎหมายพอที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของตัวเองได้ เป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรมนำไปสู่ความเชื่อมั่นในระบบศาลยุติธรรมอย่างยั่งยืน.
หมัดเหล็ก
คอลัมน์ คาบลูกคาบดอก