ในวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาลเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ได้เกิด "ประเด็นร้อน" นอกเหนือจากสาระของนโยบายที่รัฐบาลประกาศเป็นพันธสัญญาต่อรัฐสภาและประชาชนคนไทยทั้งประเทศ "เหตุการณ์ 6 ตุลา 19" ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง อันเนื่องมาจาก "สมัคร สุนทรเวช" นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปพูดกับสื่อนอกอย่าง ซีเอ็นเอ็นว่ามีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์วิปโยคเพียง 1 ราย
"วิวาทะ" กลางสภาได้จบลงด้วย "คำสาบาน" ที่นายสมัครประกาศไว้ว่าถ้ามีส่วนเกี่ยวข้อง ขอให้มีอันเป็นไป !
วันรุ่งขึ้น "มโนมัย สุนทรเวช" น้องชายนายสมัคร โทรศัพท์ถึง "มติชน" โดยประโยคแรกที่เอ่ยคือ "คุณอยากรู้ต้นเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือเปล่า"
"มโนมัย" ย้อนถึงเหตุการณ์เมื่อ 32 ปีก่อน ณ มุมหนึ่งของบ้านพักในหมู่บ้านเสนานิเวศน์ ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ที่เขาเล่าเคยมีบันทึกไว้ในเอกสารทางวิชาการแล้ว แต่ความแตกต่างอยู่ที่การบรรยายความรู้สึกจากก้นบึ้งของจิตใจในฐานะ "น้องชาย" ของบุรุษผู้มี "แผลเป็น" ติดตัว
"ผมต้องออกมาพูด ไม่ได้มาออกรับหรือแก้แทนคุณสมัคร ผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่สดับตรับฟังข่าวทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมาตั้งแต่คุณสมัครเข้ามาเล่นการเมือง ผมไม่ทราบว่าใครบิดเบือนกันแน่ เพราะสาเหตุของ 6 ตุลา มันเกิดขึ้นจากอะไร เกิดขึ้นยังไง มีใครเคยพูดให้ฟังบ้างไหม หา... ไม่ว่าจะเป็นไอ้พวกฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ชอบคุณสมัคร หรือพวกนักวิชาการที่บอกว่าไม่มีใครเขียนไว้เพื่อเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ ไม่อยากเขียนหรือไม่กล้าเขียน"
มโนมัยบอกว่า วันเกิดเหตุนายสมัครไปนั่งอยู่ที่ห้องของนายมงคล (สิมะโรจน์ รองผู้ว่าฯกทม.ในขณะนั้น) ทั้งวัน ทั้ง 2 คนสนิทกันเพราะเป็นก๊วนคนหนุ่มของพรรคประชาธิปัตย์มาด้วยกัน นายสมัครไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยเพราะไม่มีตำแหน่ง เริ่มต้นจากนายสมัครหนุนให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกฯอีกครั้ง ซึ่ง ม.ร.ว.เสนีย์ก็จะให้นายสมัครเป็น รมช.อุตสาหกรรม แต่นายสมัครไม่ยอม เพราะไม่ใช่งานถนัด จนมีการโต้เถียงกันที่สระน้ำโรงแรมเอเชีย วันนั้นพูดกันแรงมาก แรงขนาดนายสมัครพูดว่า"ผมพูดภาษาคน นี่อาจารย์ไม่เข้าใจหรือไงว่าผมไม่ต้องการเป็น" ...นั่นคือสิ่งที่พูดจากันก่อนที่นายสมัครจะลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 30 กันยายน 2519
แล้วทำไมหลายฝ่ายถึงอ้างว่าคุณสมัครคือผู้ปลุกระดมฝ่ายขวาผ่านสถานีวิทยุยานเกราะ จนนำมาสู่เหตุการณ์นองเลือด "มโนมัย" บอกว่า มีฝ่ายขวาหลายคนเข้าไปจัดรายการ เช่น พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ และทมยันตี ส่วนนายสมัครก็เคยได้รับเชิญให้ไปพูดทางวิทยุยานเกราะเกี่ยวกับเรื่องที่นักศึกษาออกมาชุมนุมเพื่อให้ทำลายเรดาร์ ที่ค่ายรามสูร จ.อุดรธานี ซึ่งนายสมัครไม่เห็นด้วย ก็เลยพูดออกอากาศทางวิทยุว่ามันไม่ถูกต้อง ก็พูดแค่นี้ ไม่ได้ปลุกระดมอะไรเลย นายสมัครยืนยันมาตลอดว่าไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19
เหตุใดในความทรงจำของคุณสมัคร ทำไมจึงมีผู้เสียชีวิตเพียง 1 ราย ในขณะที่ประวัติศาสตร์ที่เขียนไว้ชัดเจนว่ามีมากกว่า 30 ราย ?
"คุณสมัครก็เหมือนกับผมนั่นแหละ ไม่ได้เข้าร่วมเหตุการณ์ ดูข่าวจากหนังสือพิมพ์ ซึ่งดาวสยามถ่ายรูปมา ก็มีคนถูกเผานั่งยางตาย 1 คน คุณสมัครก็ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นไปว่าเท่าที่เห็นมีคนเดียว ไอ้ที่มีบอกว่าคุณสมัครบิดเบือนประวัติศาสตร์ หาว่ามีคนตายแค่ 1 คน ก็เขาไม่เห็นไม่รู้ แต่ที่รู้คือผมได้ดูซีเอ็นเอ็น มันเอารูปคุณสมัครกำลังยืนเท้าเอวแล้วมีการลากศพผ่านไป ไอ้ภาพนี้เป็นภาพตัดต่อทั้งนั้น พุทโธ่! ผมดูก็รู้ อาจจะเอามาจากตอนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ก็ได้ ซึ่งตอน 14 ตุลาน่ะจริงที่มีคนตายแล้วก็มีการลากศพ แต่ตอน 6 ตุลา และวันต่อๆ มาไม่เคยเห็นภาพเหล่านี้นะไอ้ที่จะมาลากศพคน ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่าฝรั่งที่สัมภาษณ์น่ะ มันรู้จริงๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์หรือเปล่า หรือไปเอาขี้ปากจากคนไทยไปถาม ใครที่ไม่ชอบคุณสมัครแล้วก็ตั้งคำถามขึ้นมา เอาภาพให้ฝรั่งมาประกอบข่าว อยากถามว่าอย่างนี้ใครบิดเบือนประวัติศาสตร์กันแน่"
หลังให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็น มีหลายคนออกมาเตือนว่าอย่าล้อเล่นกับประวัติศาสตร์ รวมทั้งนายอดิศร เพียงเกษ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และแกนนำนักศึกษา ก็เรียกร้องให้ขอโทษประชาชน?
"ก็นั่นสิ ผมอ่านแล้วเอ๊ะ! มันเรื่องอะไรเนี่ย หา... คุณสมัครไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวด้วย เท่าที่เขาเห็นคืออย่างนั้น บางครั้งพวก 111 บางคนก็ไม่ชอบคุณสมัคร หาว่าเข้ามาชุบมือเปิบ จู่ๆ ก็กระโดดเข้มาหยิบชิ้นปลามันไปเลย ก็มองกันได้" มโนมัยให้ความเห็น
อย่างไรก็ดี เมื่อมหามิตรอย่าง "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" ช่วยออกมาสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ โดยระบุว่าชนวนเหตุมาจาก ร.ต.ท.ขี้เมาทำปืนลั่นนั้น น้องชายนายกฯสมัครกลับบอกว่า "ก็คิดเหมือนกันว่า ที่คุณเฉลิมให้สัมภาษณ์คนเขาจะเชื่อเหรอที่บอกว่า ร.ต.ท.เมาแล้วทำปืนลั่น เขาคงคิดว่าพูดแล้วจะได้เครดิต แต่ผมว่า โอ้ย! ตายเลย เรื่องอย่างนี้ ปัดโธ่! ก็แล้วทำไมนักว่านักประวัติศาสตร์ หรือคนที่รู้จริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่กล้าพูดความจริงซะที คุณเฉลิมเขาคงอยากจะดีเฟนด์ (ปกป้อง) ให้ แต่ดีเฟนด์แบบที่คุณเฉลิมนั้นถามว่าพูดแล้วคนเชื่อไหม ผมอ่านดูแล้วไอ้อย่างนี้จะเรียกว่าบิดเบือนประวัติศาสตร์หรือเปล่าก็ไม่รู้ล่ะ ลองคิดดูก็แล้วกัน"
"ที่มีใครมองว่าคุณสมัครเป็นพวกขวาจัด ผมเองก็ยอมรับ แต่มันไม่ถึงกับชนิดที่เรียกว่าถ้าอั๊วเป็นขวาจัด ลื้อเป็นซ้ายจัด อั๊วต้องหาทางซัดลื้อ ต้องหาทางกำจัดกัน มันไม่ใช่อย่างนั้น กอปรกับตอนนั้นเหตุการณ์รอบบ้าน ลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังรุกหนัก เขาบอกไทยเป็นโดมิโนตัวที่ 4 ตอนนั้นก็มีการปลุกระดมกัน ผมยืนยันได้ว่าคุณสมัครไม่เคยไปร่วมกับเขาเลย มาถึงตอนนี้พวกซ้าย พวกขวาไม่มีอีกแล้ว คุณสมัครยังนั่งทำงานร่วมกับหมอเลี้ยบ (นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) หมอมิ้ง (นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) หรือคุณอดิศรได้"
แล้วมองว่าขณะนี้แนวคิดแบบซ้าย หรือขวาหมดไปแล้วหรือ ...
"ผมคิดว่าฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาไม่มีแล้วล่ะ แต่สื่อพยายามจะเสี้ยมให้กินใจกัน แต่ผมก็ประหลาดใจว่าทุกครั้งที่คุณสมัครได้ตำแหน่งสำคัญ ก็จะมีเรื่องขึ้นมาทุกที ตอนสมัครผู้ว่าฯกทม. ก็ถูกโจมตีเรื่องนี้ มีคนกล่าวหาว่าคุณสมัครเป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือด สั่งยิงนักศึกษา จนคุณสมัครได้ยื่นฟ้องศาล แล้วยังไงล่ะ คนกรุงเทพฯ ลงคะแนนให้ล้านกว่าเสียง ตอนหลังมีการเกลี่ยไกล่กัน คุณสมัครเป็นผู้ว่าฯแล้ว ก็ไม่อยากต่อความยาวสาวความยืดเลยถอนฟ้อง มาคราวนี้ท่านได้เป็นนายกฯก็เอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นอีก"
"มโนมัย" ทิ้งท้ายว่า แม้จะเจอหนักหนาแค่ไหน นายสมัครไม่เคยระบายความทุกข์ใจออกมาให้พี่น้องในครอบครัวได้ฟัง ในขณะที่ทุกคนก็ปลงแล้วว่า อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด และทุกคนต่างเห็นถึงความอดทนและอดกลั้นของนายสมัครที่ยังเฉยอยู่ได้
"หากเป็นผมคงทนไม่ไหวที่มีคนมาด่า มาว่าร้ายในเรื่องที่ไม่ได้ทำ กับข้อกล่าวหาที่ว่า คุณสมัครเป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือดนั้น พวกเราไม่เคยคิดว่าเรื่องนี้จะกลายมาเป็นตราบาปของครอบครัวของเรา" !!