กระแสการกลับมาก่อหวอดของกลุ่มพันธมิตรฯ โดยแก้ตัวว่ากลุ่มตนไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร และออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านทักษิณ ถูกกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ซึ่งเป็นองค์กรประชาชนผู้รวมตัวคัดค้านการรัฐประหารที่ผ่านมา ออกแถลงการณ์ตอบโต้ ดังนี้
ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์ตอบโต้การแถลงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ระบุว่า ในอดีตรัฐบาลไทยรักไทยปฏิบัติตนเสมือนเชื้อเชิญการรัฐประหาร และคัดค้านการกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย แถลงการณ์ตอบโต้คัดค้านการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ โดยระบุเหตุผล 6 ประการ คือ
หนึ่ง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีส่วนสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อมในการสร้างสถานการณ์การเมือง จนนำมาสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นผู้ให้การสนับสนุนการรัฐประหาร สนับสนุน คมช. และองค์กรที่เกิดจากการรัฐประหาร กระทั่งดำรงตำแหน่งสำคัญใน สนช. และใน ครม. การรวมตัวเคลื่อนไหวออกมาต่อต้านรัฐบาลในครั้งนี้ จึงเสมือนหนึ่งการสร้างเงื่อนไข หรือออกบัตรเชื้อเชิญ นำมาสู่การรัฐประหารได้อีกครั้งหนี่ง เป็นการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับกลุ่มอำนาจเก่าหรือมือที่มองไม่เห็น และเป็นการสร้างการกลียุคขึ้นมาเสียเอง
สอง แกนนำที่เคยร่วมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และส่วนหนึ่งได้รับเลือกตั้ง เช่น นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ การปรากฏตัวออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ทำให้เข้าใจได้ว่า พรรคการเมืองฝ่ายค้านต้องการสร้างสถานการณ์การเมืองให้วุ่นวาย และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
สาม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคยผลักดันให้มีการดำเนินคดีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยเรียกร้องให้รัฐบาลและ คตส. เร่งรัดสอบสวนการทุจริต โดยพนักงานอัยการได้เคยทำเรื่องเพื่อนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศไทย มาสู่กระบวนการทางกฎหมาย ดังนั้นการออกมาคัดค้านของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องแปลกประหลาด ส่อให้เห็นถึงเจตนาซ่อนเร้นทางการเมือง ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ
สี่ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ควรนำเรื่องการเดินทางกลับประเทศของอดีตนายกฯ มาเป็นเงื่อนไขเพื่อสร้างสถานการณ์การเมืองให้วุ่นวาย เกิดความสับสน และนำมาสู่ความแตกแยกในหมู่ประชาชนอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางเข้ามาประเทศไทยในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง และเข้ามาเพื่อต่อสู้ในกระบวนการทางยุติธรรม เป็นไปตามความต้องการของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ห้า ควรเปิดโอกาสให้รัฐบาลพลเรือนที่เริ่มเข้ามาบริหารประเทศมีเวลาบริหารงาน สร้างการสมานฉันท์ในสังคม แก้ไขความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาน ไม่ใช่การออกมาสร้างสถานการณ์ที่อาจนำมาสู่การรัฐประหารโดยทหาร
หก ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เร่งรัดแก้ไขความเดือดร้อนของกรรมกร ชาวนา ชาวไร่ คนยากจนในเมือง ในเรื่องสินค้าราคาแพง การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้สูงขึ้น การสร้างรัฐสวัสดิการ การประกันราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ การสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การส่งออกและความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ เป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป