สองข้างทางที่ พายุตุลาการพิบัติ พัดผ่านไป เหลือทิ้งไว้แต่ร่องรอยความเสียหายอย่างแสนสาหัส ทั้ง ผู้คนในฝ่ายบริหาร หรือ รัฐบาล และ ผู้คนในฝ่ายนิติบัญญัติ หรือ รัฐสภา ต่างก็พากันเข็ดขยาด และ ขนหัวลุก เมื่อต้องเผชิญหน้ากับ พายุตุลาการพิบัติ
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ตุลาการพิบัติ แปลว่า ความพินาศ ฉิบหาย ที่เกิดขึ้นจากน้ำมือตุลาการ
ไม่ได้หมายความว่า ตุลาการทุกคนจะทำให้เกิดสภาพพิบัติขึ้น หากแต่เป็นตุลาการบางคน ที่ยอมตนอยู่แทบเท้าจอมเผด็จการ และก่อร่างขึ้นรูปขบวนการตุลาการภิวัฒน์ เพื่อเป็นเครื่องมือและอาวุธประหัตประหารบุคคล และคณะบุคคล ที่ไม่ทำตามความประสงค์ของจอมเผด็จการ ที่ไม่เคยรู้จักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เพียง 3 วันที่ผ่านมา ตุลาการพิบัติ ย่อยสลายรัฐมนตรีที่ตกเป็นเหยื่อเพราะความไม่รู้เท่าทันไปแล้ว 2 คน คือ นายไชยา สะสมทรัพย์ และ นายนพดล ปัทมะ ในขณะที่มีอีก 1 รัฐมนตรีกำลังรอการถูกเชือด ได้แก่ นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ และ อีก 3 รัฐมนตรี ที่ยังมีคำถามว่าจะต้องเสร็จคามือ ตกเป็นเหยื่อบำบัดความใคร่และกระหายอำนาจของขบวนการตุลาการพิบัติ ด้วยหรือไม่ ประกอบด้วย นพ.สุร พงษ์ สืบวงศ์ลี นายอนุรักษ์ จุรีมาศ และนางอุไรวรรณ เทียนทอง
นับย้อนหลังกลับไป นับแต่ขบวนการตุลาการพิบัติ ปรากฎขึ้นในฐานะเครื่องมือเข่นฆ่าศัตรูทางการเมืองของจอมเผด็จการ มีผู้คนมากหลายที่ต้องดับดิ้นไป เริ่มจาก..
การสั่งให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ ทั้งๆ ที่ประชาชนได้ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งตามวิถีทางแห่งระบอบประชาธิปไตย ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่า มติของประชาชนคนทั้งประเทศ ไม่ได้รับการเคารพจากขบวนการตุลาการภิวัฒน์ ที่ถือตนและอำนาจในมือตนเป็นใหญ่แต่ฝ่ายเดียว
กรรมการเลือกตั้ง 3 คน ต้องคำพิพากษาจำคุก ทั้งๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย แต่กลับถูกขบวนการตุลาการพิบัติ ตีความว่าทำผิดกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ผลของการสั่งจำคุกกรรมการการเลือกตั้ง 3 คน เป็นเหตุให้ การเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้แก่คนไทยทั้งประเทศ เพื่อใช้การเลือกตั้งเป็นแนวทางแก้ปัญหาของชาติ และยุติความขัดแย้ง ตามระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และ กลายเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่นำสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ยังความวิบัติ ฉิบหาย มาแก่ประเทศไทย ไม่หยุดหย่อนจนถึงทุกวันนี้
การยอมตนเข้าไปเป็นผู้รับใช้อำนาจเผด็จการ ทั้งใน คตส. กกต. และร่วมบริหารงานกับรัฐบาลเผด็จการ เพื่อหาทางกำจัดศัตรูทางการเมืองของจอมเผด็จการ ด้วยการหมกเม็ด และซ่อมเงื่อนปมทางกฎหมาย ไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การเมืองไทย กลายเป็นการชำระความแค้นที่ไม่รู้จบสิ้น และหาความสงบไม่ได้ แม้ว่าการเลือกตั้งจะผ่านพ้นไป แม้ว่าประชาชนจะได้ตัดสินใจกำหนดอนาคตของตนเองแล้วก็ตาม
การยุบพรรคไทยรักไทย และ ลงโทษกรรมการบริหาร 111 คน เหมารวมกันไปหมดทั้งคนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และคนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง รู้เห็น ต้องได้รับโทษถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ซึ่งเป็นบรรทัดฐานใหม่ของคำวินิจฉัยที่ท้าทายต่อจริยธรรมของสถาบันตุลาการ และ ความเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อศาล อย่างหนักหน่วง
แม้แต่ ประธานศาลฎีกา ที่เป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ ก็ไม่เห็นด้วยกับการลงโทษผู้ไม่ได้กระทำผิด แต่เสียงข้างน้อยที่ปลอดจากการครอบงำของเผด็จการทหาร ไม่สามารถต้านทานเสียงข้างมากที่ยอมสยบอยู่แทบเท้าเผด็จการ ไปแล้ว ได้
คำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย และ ลงโทษตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 111 คน นั้นจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครกล้ายืนยัน หรือ เรียกว่าเป็นคำพิพากษา และเป็นคำพิพากษาของศาลภายใต้พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือไม่ เนื่องจาก คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่สั่งยุบพรรคไทยรักไทย ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ และไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยพระบาทสม เด็จพระเจ้าอยู่ หัว หากแต่ได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญชั่ว(ถาวร) ของเผด็จการทหารคมช. ทั้งไม่ได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เช่นเดียวกับตุลาการของศาลยุติธรรม และศาลปกครอง อีกด้วย
หลังคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย ลงโทษตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 111 คน จอมเผด็จการผู้บงการขบวนการตุลาการภิวัฒน์ กระหยิ่มยิ้มย่อง คิดว่ากุดหัวศัตรูได้แล้ว แต่สถานการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน และอำนาจของตุลาการภิวัฒน์ จึงแสดงออกด้วยการสนับสนุนพรรคพลังประชาชน อย่างท่วมท้น ส่งให้พรรคพลังประชาชนได้เป็นรัฐบาล แทนที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นตัวแทนของจอมเผด็จการ และ ได้รับการสนับสนุน อุ้มชูดูแลอย่างดีจากผู้คนในขบวนการตุลาการภิวัฒน์ ที่กระจายไปอยู่ในองค์กร คณะ กรรมการ ที่มีหน้าที่ชี้เป็นชี้ตายการเลือกตั้ง และทุกองค์กร
การเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2551 กว่าที่พรรคพลังประชาชน และ ประชาชน จะเอาชนะจอมเผด็จการ ได้ ก็ต้องลุยแหลกแล้วแหกด่านทหารปฏิวัติ และ ด่านตุลาการภิวัฒน์ ชนิดที่ต้องเอาชีวิตเข้าแลก โดยเฉพาะ สมาชิกตุลาการภิวัฒน์ที่อยู่ใน กกต. ทั้ง อภิชาติ สุขัคคานนท์ ประธานกกต. เพื่อนรัก ของ ประธานคมช. สนธิ บุญยรัตกลิน และ สุเมธ อุปนิสากร กับ ประพันธ์ นัยโกวิท สองกกต.ที่ก้มหัวให้กับอำนาจเผด็จการ และหันหลังให้กับอำนาจธรรมตามกฎหมาย
มาตรฐานการชี้เป็นชี้ตาย ให้ใบเหลือง ใบแดง แก่สมาชิกพรรคพลังประชาชน กับ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว หากเป็นพรรคพลังประชาชน เชื่อไว้ก่อนว่าทุจริตและรู้เห็น ที่เบา จึงกลายเป็นหนัก แต่หากเป็นพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อได้ว่าไม่มีเจตนาทุจริต และไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แม้หนักก็กลายเป็นเบา
ใบเหลือง ใบแดง จึงสะพัดว่อนใส่พรรคพลังประชาชน ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ แม้จะถูกจับได้คาหนังคาเขา เงินสดๆ คามือทีมงานหัวคะแนนส.ส. ก็ยังได้รับเมตตา แค่ใบเหลือง เปรียบเทียบกับใบแดงของยงยุทธ ติยะไพรัช ที่ผู้สมัครไม่เกี่ยวข้อง แล้ว ก็เห็นได้ถึงความผิดปกติ และไร้จริยธรรม ขาดมาตรฐานของกกต. อย่างยิ่ง
ตุลาการภิวัฒน์ ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เป็นอาวุธ เข่นฆ่าทำร้ายผู้คน หาได้ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมืออำนวยความยุติธรรม พิทักษ์รักษาความถูกต้อง และความสงบเรียบร้อยให้แก่สังคมไม่
หลังคำพิพากษา คำตัดสิน คำวินิจฉัยของตุลาการภิวัฒน์ สังคมไทยจึงแตกแยก ร้าวลึก ประชาชนขัดแย้ง ลุกฮือ โหมไฟแห่งความเกลียดชังเข้าใส่กัน ที่เคยหวังว่าตุลาการภิวัฒน์จะทำให้คนไทยหันหน้าเข้าหากัน กลับกลายเป็นว่า ที่หันหน้าเข้าหากัน ก็เพื่อรบราฆ่าฟัน นอกนั้นก็หันหลังให้แก่กันและกันอย่างถาวร
เมื่อผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปดังคาด รัฐบาลใหม่ที่เกิดขึ้นมาไม่เป็นดังคิด จอมเผด็จการแห่งระบอบอำมาตยาธิปไตย จึงต้องวางแผนการใหม่ เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากชัยชนะที่เคยกระหยิ่มยิ้มย่อง ดีใจ กลับกลายเป็นการชนะชั่วประเดี๋ยวเดียว
มาบัดนี้ ผู้พิพากษา ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของขบวนการตุลาการภิวัฒน์ ที่ก่อให้เกิดพายุตุลาการพิบัติ และมารับใช้เป็นไม้มือแก่เผด็จการคมช. เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองของจอมเผด็จการอำมาตยาธิปไตย ได้กลับคืนสู่สถานะผู้พิพากษาอีกครั้ง ทั้งในศาลยุติธรรม และ ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่สานต่อภารกิจที่ได้รับจ้างและรับใช้มา แต่ยังทำไม่แล้วเสร็จ เพราะติดขัดที่ประชาชนลงคะแนนเลือกตั้งให้พรรคพลังประชาชน ได้เป็นรัฐบาล และ มีศัตรูหมายเลขหนึ่งของจอมเผด็จการ คือ สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี
เมื่อภารกิจที่รับมายังไม่แล้วเสร็จ ยังไม่สามารถปิดเกม ปิดฉาก และปลิดชีวิตฝ่ายตรงข้ามได้ และทหารไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือให้แก่จอมเผด็จการอีกต่อไป ตุลาการภิวัฒน์ จึงถูกกำหนดให้เป็นแนวหน้า แนวรุก และแนวสุดท้ายในการสู้รบ ทำศึกสงคราม สนองตัณหาแก่จอมเผด็จการ ในคราครั้งนี้
รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ถูกถักทอร้อยเกี่ยวกันขึ้นมาเพื่อเป็นตาข่าย เป็นกับดักไว้จับเหยื่อที่หลงทางเข้ามา โดยฝีมือของหัวขบวนตุลาการภิวัฒน์ ที่วันนี้ไปนั่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักประกันว่า ผู้ที่ยืนฝ่ายตรงข้ามกับจอมเผด็จการ จะไม่มีทางรอดชีวิตออกไปในสภาพปกติ เป็นแน่ หากเดินเข้ามาในปริมณฑลของอำนาจตุลาการ ที่มีสมาชิกขบวนการตุลาการภิวัฒน์ นั่งเป็นใหญ่อยู่ ณ ที่แห่งนั้น
นี่จึงเป็นเหตุที่มาว่า ทำไม อำนาจตุลาการ จึงยิ่งใหญ่ และสามารถหยุดยั้ง การบริหารงานของรัฐบาล และ รัฐสภา ได้ จนทำให้รัฐบาล กลายเป็นเป็ดง่อยอยู่ในเวลานี้
เมื่อคำสั่งศาล (ที่ไม่ใช่คำพิพากษา) สามารถหยุดและยับยั้งการตัดสินใจ การบริหารประเทศ ของรัฐบาล ได้ ก็เท่ากับว่ารัฐบาล ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและการชี้นำของศาล ทันที ทั้งๆ ที่ การบริหารประเทศ เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่อง เกี่ยวข้องกับฝ่ายต่างๆ มากมาย ทั้ง ประชาชน ข้าราชการ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ทั้งในประเทศ และ ต่างประเทศ รวมไปถึงความสัมพันธ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ผูกพันกับศาสตร์ทุกศาสตร์ที่ต้องคำนึงถึง มิใช่เพียงแต่ นิติศาสตร์ หรือ รัฐศาสตร์ เพียงสองแขนงเท่านั้น
นี่จึงเป็นเหตุที่มาว่า ทำไม ฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล และ พรรคพลังประชาชน จึงเปิดทาง กรุยทางให้อำนาจตุลาการเข้ามายุ่มย่าม ก้าวก่ายการทำงานของรัฐบาล และ รัฐสภา ไปเสียทุกเรื่อง ด้วยการยื่นฟ้องศาลปกครอง ยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ เกือบทุกเรื่องที่รัฐบาลตัดสินใจ และ แทบทุกครั้งที่สภาผู้แทนราษฎร มีมติ
นี่จึงเป็นเหตุที่มาว่า ทำไม ฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล จึงวิ่งเข้าหา และขออำนาจตุลาการภิวัฒน์ คุ้มหัว คุ้มครอง เมื่อกระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง และหลายครั้งก็มักจะได้รับการคุ้มครอง ดูแลอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย จากขบวนการตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งเกี่ยวกระหวัดรัดร้อยเข้าด้วยกันระหว่าง ตัวแทนฝ่ายตุลาการที่ชื่อ จรัญ ภักดีธนากุล และ สนธิ ลิ้มทองกุล ตัวแทนฝ่ายตรงข้ามกับพรรคพลังประชาชน และรัฐบาล ในงานฉลองความสำเร็จที่ร่วมกันโค่นล้มรัฐบาลไทยรักไทย ลงได้ด้วยการรัฐประหาร โดยมี พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นตัวแทนเผด็จการคมช. เข้าร่วมด้วย
ภาพสามประสาน ตัวแทนตุลาการภิวัฒน์ จับมือกับ ตัวแทนทหารปฏิวัติ และ ตัวแทนแกนนำม็อบพันธมิตร น่าจะอธิบายปรากฎการณ์ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และ อนาคต ได้เป็นอย่างดี ว่า ความยุติธรรม ความเป็นธรรม ความเที่ยงธรรม ยังมีอีกไหม ในเขตปริมณฑลที่อำนาจตุลาการภิวัฒน์ ยื่นมือเข้าไปถึง
นี่จึงเป็นเหตุที่มาว่า ทำไม หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สมาชิกของตุลาการภิวัฒน์ จึงเข้าไปแทรกตัวอยู่ในองค์การต่างๆ มากมาย ทั้ง กกต. ปปช. คตส. ดีเอสไอ กระทรวงยุติธรรม และสุดท้าย เมื่อพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง สมาชิกบางส่วนก็กลับไปรวมตัวกันอยู่ที่ศาลอีกครั้งหนึ่ง เพื่อรอลงดาบแก่ศัตรูของตนเอง ที่จะถูกส่งมาจาก กกต. ปป.ช. คตส. ด้วยการสรุปสำนวนของสมาชิกตุลาการภิวัฒน์ ที่ยังคงแทรกซึมและทำงานเพื่อการเข่นฆ่าฝ่ายตรงข้าม อย่างขมักเขม้น เอาจริงเอาจัง และเร่งวันเร่งคืน
เพราะเหตุที่ สังคมไทย เชื่อถือ อำนาจตุลาการ ว่าเป็นตัวแทนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากคำตัดสิน คำพิพากษาของศาล กระทำการในพระปรมาภิไธย จึงเป็นช่องโหว่ ช่องว่าง ที่มักจะมีการแอบอ้างว่า ว่าผู้พิพากษา ก็คือ ศาล การหมิ่นผู้พิพากษา ก็คือ การหมิ่นศาล และเท่ากับเป็นการไม่ยอมรับอำนาจที่กระทำการภายใต้พระปรมาภิไธย
ไม่ได้แตกต่างจากที่ จอมเผด็จการเคยใช้เครื่องไม้เครื่องมือทางสื่อสารมวลชน แอบอ้าง บิดเบือน ว่าการวิพากษ์วิจารณ์องคมนตรี เป็นการละเมิดพระราชอำนาจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากองคมนตรี ได้รับการโปรดเลก้าฯ แต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย และสร้างภาพว่า เผด็จการคมช.คือ กลุ่มคนที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มากที่สุด มากกว่าทุกคน ทุกกลุ่มในประเทศไทย จากนั้นก็ผูกมัดความคิดประชาชน ว่า เผด็จการคมช.และองคมนตรี คือ ตัวแทนความจงรักภักดี หากใครมาเผชิญหน้า หรือ ท้าทาย เผด็จการคมช. และ องคมนตรี เท่ากับ เป็นผู้ไม่จงรักภักดี
การสร้างตรรกะแบบเข้าข้างตัวเอง แอบอ้างใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือเพื่อแสวง หาอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง ให้แก่ตนเองของจอมเผด็จการแห่งระบอบอำมาตยาธิปไตย มีลักษณะเฉกเช่นเดียวกับพฤติกรรมของสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ถูกศาลสั่งลงโทษจำคุก ไม่รอลงอาญา มาแล้ว
แต่เนื่องจาก แอบอ้างบ่อย และ นานเกินไป จนถูกประชาชนจับได้ไล่ทันว่า ทั้งองคมนตรี และ เผด็จการคมช. ไม่ใช่ตัวแทนความจงรักภักดี หากแต่นำความจงรักภักดี ไปแสวงหาประโยชน์ และข่มขู่ประชาชนคนทั่วไป ให้เกรงกลัว และตกอยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของตนเอง จึงทำให้ทั้งองคมนตรี และเผด็จการคมช. เสื่อมอย่างรวดเร็ว ทั้งยังลุกลามความเสื่อมและนำความแตกแยกเข้าไปยังสถาบันองคมนตรี และสถานบันกองทัพ จนแหลกลาญย่อยยับไปตามๆ กัน
มาวันนี้ จอมเผด็จการแห่งระบอบอำมาตยาธิปไตย จึงต้องหยิบศาล มาใช้เป็นเครื่องมือ เป็นอาวุธ เนื่องจากเป็นสถาบันเดียวที่ประชาชนยังเชื่อถือ และ ไม่กล้าขัด ไม่กล้าท้าทาย ไม่กล้าเผชิญหน้า เพราะเกรงกลัวความผิด และโทษทัณฑ์ ที่กฎหมายบัญญัติไว้
ด้วยความที่อยู่บนเก้าอี้แห่งอำนาจชี้เป็นชี้ตายให้คุณให้โทษแก่คนทุกคน อยู่บนบัลลังก์แห่งความถูกต้องที่กฎหมายรับรอง อยู่บนยอดสุดของความเชื่อถือ ความเคารพ ความเกรง และความกลัว ของประชาชนคนทั่วไป จึงทำให้ตุลาการบางคน ผู้พิพากษาบางส่วน หลงไปกับสถานะและอำนาจที่อยู่ในมือตัวเอง ทั้งขณะนั่งอยู่บนบัลลังก์ และ อยู่นอกศาล ว่า กู คือ ความ ถูก ต้อง
หากไม่ใช่ดังที่กูคิด หากผิดไปจากที่ปากกูว่า สิ่งนั้น ย่อมจะผิดเป็นแน่แท้
เมื่อมาเจอลาภ ยศ สรรเสริญ ผลประโยชน์ ที่จอมเผด็จการ และเครือข่ายบริวารหยิบยื่นให้แลกกับการใช้อำนาจที่อยู่ในมือ กระทำการบางประการ ซึ่งตรงกับใจตนที่เลือกข้างไว้นานแล้ว ก็ยิ่งทำให้ กู คือ ความ ถูก ต้อง หนักแน่น และ มากมายขึ้นไปอีก
นี่จึงเป็นเหตุแห่งที่มาของขบวนการตุลาการภิวัฒน์ ภาค 2
ขบวนการที่ก่อให้เกิดความวิบัติ ฉิบหาย ขึ้นแล้วทั่วทุกหย่อมหญ้า ทั่วทุกภาคส่วนของสังคมไทย และทั่วทุกหัวใจของคนไทย ที่เคยเชื่อถือ เชื่อมั่นต่อ อำนาจตุลาการ
อำนาจตุลาการที่เคยศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เกรงขาม เพราะ ถือ ธรรม เป็นอำนาจ ต้องมาบั่นทอน กัดกร่อนกลืนกินความศักดิ์สิทธิ์ของตนเอง เพื่อสนองตัณหาของคนบางคน ด้วยการใช้ อำนาจ เป็นธรรม ของขบวนการตุลาการภิวัฒน์
ขบวนการตุลาการภิวัฒน์ ที่ตัดสินทุกคดี ทุกความ ไว้ล่วงหน้าว่า "กู คือ ความ ถูก ต้อง"
ขบวนการตุลาการภิวัฒน์ ที่ไม่ได้ยึดหลัก Judge by Rule หากแต่เป็น Judge by กู
ได้ยินไหม "กู คือ ความ ถูก ต้อง"
ลงชื่อ ตุลาการภิวัฒน์
หมายเหตุ : ตุลาการมิใช่ศาล และ ไม่ใช่ผู้พิพากษาคนหนึ่งคนใด หากแต่เป็นขบวนการทางความคิดของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ใช้ผู้พิพากษาบางคน เป็นเครื่องมือทางการเมือง บทความชิ้นนี้ ไม่มีเจตนาหมิ่นศาล หากแต่ต้องการเล่าเรื่องพฤติกรรมของผู้พิพากษาบางคน โดยการลำดับย้อนหลัง เป็นสำคัญ
ฟ้าฟื้น
จาก thai-grassroots