คอลัมน์: ดับไฟใต้
สองข้างทางเกือบ 30 กิโลเมตรจากตัว อ.นาทวี จ.สงขลา ไปถึง "อุโมงค์เขาน้ำค้าง" ร่มรื่นไปด้วยสวนยางพาราใหญ่น้อย สลับกับชุมชนและสวนผลไม้อันอุดม ถนนเรียบสะดวกสบาย มีหลายโค้งให้ทดสอบและวัดใจจนถึงที่หมาย
5 ปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกที่ได้ไปเยือน "อุโมงค์เขาน้ำค้าง" ด้วยคำชักชวนของเพื่อนรักซึ่งเป็นชาวนาทวี ครั้งนั้นมีรถบัสขนาดใหญ่หลายคันบรรจุลูกทัวร์มาเที่ยวชมกันครึกครื้น พร้อมด้วยรถเก๋งและรถอื่นๆ อีกเยอะที่ตั้งใจไปเยือนอุโมงค์แห่งนี้ หากแต่วันนี้ที่ได้กลับไปเยือนอีกครั้ง...ความเงียบเหงากลายเป็นสิ่งที่เห็นและสัมผัสได้
ในสมัยโบราณ...คนที่ขึ้นไปบนยอดเขาลูกนี้ซึ่งมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี จะพบน้ำค้างเป็นเกล็ดเกาะอยู่ตามยอดหญ้า ทำให้แลดูคล้ายใยแมงมุม แม้แต่ตอนเที่ยงวันก็ยังมีน้ำค้างประปรายอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่หาชมไม่ง่ายนัก และนั่นคือที่มาของคำเรียกขาน "เขาน้ำค้าง"
ในอดีต...อุโมงค์แห่งนี้เป็นขุมกำลังทางปัญญาและอาวุธของผู้ที่มีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ โดยการขุดอุโมงค์เกิดจากความจำเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา หรือ พคม. (Communist Party of Malaya : CPM) ที่ปฏิบัติการในเขต อ.นาทวี อ.สะเดา และ อ.สะบ้าย้อย ต้องการหาที่หลบภัยจากการถูกโจมตีทางอากาศ เพื่อเอาชีวิตรอดในช่วงที่ต้องต่อสู้ในราวปี พ.ศ.2517 พวกเขาที่ถูกทางการไทยเรียกว่า "โจรจีนคอมมิวนิสต์" หรือ จคม. จึงระดมพล 200 คน ขุดเจาะอุโมงค์เป็นเวลา 2 ปีเศษๆ และใช้เป็นฐานที่มั่นในการสู้รบช่วงปี พ.ศ.2520
เมื่อการขุดอุโมงค์สำเร็จเสร็จสิ้น เขาน้ำค้างได้กลายเป็นที่ตั้งค่ายของกองกำลังติดอาวุธ และป้องกันการโจมตีทางอากาศ มี นายอี้เจียง หรือ นายบุญชาย แซ่อิ้ว อดีตผู้นำกรม 8 เป็นหัวหน้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความคิดทางการเมืองตรงกันข้ามกับรัฐบาลไทย จึงทำให้เกิดการสู้รบต่อเนื่องเรื่อยมา
พวกเขาใช้อุโมงค์แห่งนี้หลบซ่อนพรางตัวในคราวที่ถูกโจมตี ได้อย่างปลอดภัยนานนับเดือน ทั้งยังถูกถล่มด้วยปืนใหญ่อีกนับครั้งไม่ถ้วน วิธีการหลบซ่อนของพวกเขา จะใช้วิธีการขุดอุโมงค์เข้าไปอยู่ในภูเขาทั้งลูก สร้างเป็นที่พัก ห้องประชุม ห้องนั่งเล่น ห้องพักผ่อน ห้องผ่าตัด ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในอุโมงค์เหมือนเป็นค่ายพักแรม ถ้าขึ้นไปบนสุดของเทือกเขาที่ถูกขุดเป็นอุโมงค์ จะเป็นโรงครัว และมีสนามกีฬาอยู่บนยอดสูงสุด
การสู้รบจบลงด้วยนโยบาย 66/23 สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมี พล.ท.หาญ ลีนานนท์ (ยศในขณะนั้น) เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 โดยนโยบาย 66/23 คือชื่อเรียกขานคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ออกเมื่อปี พ.ศ.2523 เรื่องการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ มียุทธศาสตร์สำคัญคือ การเปิดโอกาสให้ผู้หลงผิดกลับตัวกลับใจเข้าร่วมพัฒนาชาติไทย
คำสั่งครั้งประวัติศาสตร์ที่พลิกโฉมสถานการณ์รุนแรงให้กลายเป็นสันติในครั้งนั้น ระบุว่า ถ้าใครเข้ามอบตัวกับทางการ จะให้ที่ดินทำกินครอบครัวละ 15 ไร่ ที่อยู่อาศัยอีกครอบครัวละ 1 ไร่ หากใครไม่ออกมามอบตัวตามเวลาที่กำหนด จะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด คือ ใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยน้ำมันเบนซินลงมา แล้วจุดไฟเผาทั้งอุโมงค์
ในที่สุด จคม. ทั้งหมดยอมเข้ามอบตัว และตกลงใจปักหลักทำมาหากินด้วยการทำสวนยางพารา ทำสวนผลไม้ และขายยาสมุนไพรจีนตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ในหมู่บ้านที่ชื่อว่า "ปิยมิตร 5"
อย่างไรก็ตาม การกลับใจของ จคม. ออกมาเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2530 ทำให้อุโมงค์เขาน้ำค้างถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง และชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ในปี พ.ศ.2538 นายเหลียงยี่ซิง และ นายหมิงเซิน อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ได้ร่วมมือกันลงทุนนำคนงานมาฟื้นฟูซ่อมแซมอุโมงค์ขึ้นใหม่ เพื่อทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ให้ผู้คนได้เห็นและศึกษาประวัติศาสตร์ 60 ปี ของอดีตพรรคคอมมิวนิสต์มลายา โดยมีพิธีเปิดอุโมงค์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2540
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเยี่ยมชมภายในอุโมงค์ได้อย่างสะดวก โดยก่อนเข้าต้องเสียค่าธรรมเนียมคนละ 20 บาท ใกล้กับทางเข้ามีนิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมา รวมทั้งข้อมูลและภาพถ่ายให้ได้ชมกัน ถัดไปเป็นการแสดงข้าวของต่างๆ ที่พรรคคอมมิวนิสต์มลายาใช้ในสมัยนั้น
ในห้องแสดงนิทรรศการ มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมป้ายข้อความด้านล่างเขียนเอาไว้ว่า “พวกเราสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เราพร้อมตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน และตอบสนองพระราชประสงค์ของล้นเกล้าทั้งสองด้วยเลือดและชีวิต”
ภายในอุโมงค์มีไฟฟ้าส่องสว่างตลอดทาง เมื่อได้สัมผัสจะพบว่า ผนังอุโมงค์เป็นดินเหนียว และจัดเป็นอุโมงค์ดินเหนียวที่มีขนาดใหญ่และยาวที่สุดในประเทศไทย ข้างในแบ่งออกเป็น 3 ชั้น มีช่องทางเข้า-ออก 16 ช่องทาง รวมความยาวคดเคี้ยวภายในอุโมงค์ประมาณ 1 กิโลเมตร และมีป้ายอธิบายเรื่องราวต่างๆ เป็นภาษาไทยและภาษาจีนติดตั้งเป็นระยะๆ ทั้งห้องประชุม ห้องพยาบาล ห้องวิทยุ ห้องครัว และสนามซ้อมยิงปืน ทุกส่วนสามารถเดินเชื่อมถึงกันได้หมด
สภาพของอุโมงค์ค่อนข้างสมบูรณ์ การเข้าไปเที่ยวชมจะทำให้ได้ศึกษาวิถีชีวิตของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาในอดีต เพราะเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ก็ยังจัดแสดงอยู่อย่างครบถ้วน ทางออกด้านหนึ่งของอุโมงค์มีบันได 108 ขั้น เปรียบเหมือนการเดินขึ้นภูเขาเหลียงซาน มีชื่อของวีรบุรุษติดอยู่ทุกขั้นบันได
นายเหลียนเซิน ผู้ดูแลอุโมงค์ประวัติศาสตร์เขาน้ำค้าง เล่าว่า ยังอยู่ได้เพราะที่นี่เป็นของเอกชน แต่ยอมรับว่าเงียบเหงาไปมาก มีนักท่องเที่ยวมาเยือนบางตา สาเหตุสำคัญคือ สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลกระทบให้นักท่องเที่ยวเกิดความกลัว ไม่กล้ามาเที่ยว ทั้งที่ที่นี่ไม่เคยเกิดเหตุอะไร
“ที่นี่เป็นของเอกชนจึงไม่ส่งผลกระทบอะไรกับชาวบ้านทั่วไป เรายังเปิดทุกวันไม่มีวันหยุด ทุกวันนี้ยังเปิดอยู่ไปเรื่อยๆ 5 โมงเย็นก็ปิด มีนักท่องเที่ยวมาทุกวัน แต่น้อยมาก อย่างคนมาเลย์ที่เคยมากันเป็นรถบัสหลายๆ คัน เขาไม่กล้าเข้ามา เพราะกลัวในเรื่องของสถานการณ์ ทั้งที่ในความเป็นจริง ไม่มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นแถวนี้เลย แถมยังมีของป่า ยาจีน และน้ำผึ้งขายเหมือนเดิม ส่วนร้านอาหารหยุดให้บริการมา 2 ปีแล้ว" เหลียนเซิน บอก
แม้วันนี้อุโมงค์เขาน้ำค้างจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปแล้ว และไม่ไกลจากอุโมงค์นักก็ยังมีน้ำตกอีกหลายแห่ง ทั้งโตนลาด โตนดาดฟ้า และพรุชิง รอให้แวะชม แต่ความเป็นแหล่งท่องเที่ยวของเขาน้ำค้างก็พิเศษกว่าที่อื่นๆ เพราะผู้คนที่มาเยือนจะได้สัมผัสทั้งความรื่นรมย์ และได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์กลับไปพร้อมกัน ทั้งยังได้เห็นความอดทน ความวิริยอุตสาหะ และปัญญาในการเอาชีวิตรอดของมนุษย์เรา...น่าเสียดายที่สถานการณ์ความไม่สงบทำให้เขาน้ำค้างถูกปกคลุมไปด้วยความเงียบงัน
หากสันติภาพและสันติสุขกลับคืนสู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมือนเมื่อครั้งที่ จคม. ตัดสินใจออกมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และยุติการสู้รบอันแสนยาวนาน...เขาน้ำค้างคงกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง และจะเป็นเพชรน้ำงามของการท่องเที่ยวในภาคใต้ตอนล่างสืบไป
เลขา เกลี้ยงเกลา
สมศักดิ์ หุ่นงาม
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา