เมื่อสายวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมาตัวแทนกลุ่มสตรีเพื่อประชาธิปไตย คณะกรรมการสหภาพครูแห่งชาติ กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ และพันธมิตรสหภาพแรงงานไทย ได้ร่วมกันเข้ายื่นหนังสือต่อนายสุทิน คลังแสง ส.ส.สัดส่วนพรรคพลังประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อร้องขอให้ตรวจสอบ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกรรมการ ป.ป.ช.อีก 8 คน ในข้อหากระทำที่จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และมีพฤติการณ์ที่เป็นการเสื่อมเสียต่อเกียรติ ศักดิ์ศรีของการดำรงตำแหน่งอย่างร้ายแรง และกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่รักษาการ
ยื่นตรวจสอบ ป.ป.ช.ที่มาไม่ชอบ
นายเยี่ยมยอด ศรีมันตระ ที่ปรึกษาสหภาพครูแห่งชาติ กล่าวว่า ป.ป.ช. ชุดนี้ถูกแต่งตั้งมาโดยมิชอบ มีการสืบทอดอำนาจมาจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. อย่างชัดเจน จึงอยากให้มีการตรวจสอบการทำงานขององค์กรที่จะมาตรวจสอบผู้อื่น
โดยระบุว่า ป.ป.ช.ชุดนี้ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ และไม่มีการถวายสัตย์ปฏิญาณ เป็นการล่วงละเมิดต่อพระราชอำนาจ เป็นการจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังได้ทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการด้วยการออกระเบียบ ป.ป.ช. ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2549 กำหนดให้มีตำแหน่งที่ปรึกษา เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการของประธานและกรรมการป.ป.ช.แต่ละคน และยังได้กำหนดค่าตอบแทนลักษณะเป็นเงินเดือน เงินเพิ่มพิเศษ เป็นรายเดือนถือเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจ จงใจฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เคยวินิจฉัยไว้ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจออกระเบียบ
กระทำผิดตาม รธน.อย่างชัดเจน
ดังนั้นการกระทำของ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คนจึงเป็นการทำผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการ ขัดมาตรา 249 ของรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 16 และมาตรา 17 ขอให้ประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญฯ ตรวจสอบหากพบว่าเป็นจริง ขอให้ถอดถอนประธานและกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป
นอกจากนี้ยังยืนยันว่าที่มายื่นหนังสือในวันนี้เนื่องจากทางกลุ่มของตนมีการตรวจสอบเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 และไม่ได้เป็นการออกมารับลูกคำพูดของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่กล่าวถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด
พร้อมลงชื่อ2หมื่นถอดถอนได้ทันที
นายมงคล สมกระบวน กลุ่มพันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตย กล่าวว่า ตนและตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ได้ไปยื่นหนังสือเพื่อต้องการให้มีการตรวจสอบ ป.ป.ช. ในสองประเด็น คือ ป.ป.ช. มีที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสองคือ ประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ที่อยู่นอกเหนือกว่าที่กฎหมายได้กำหนดไว้ จนอาจทำให้เกิดการสูญเสียรายได้จากการเพิ่มเงินเดือนให้กับเจ้าหน้าที่องค์กรย่อยของตน มองว่าทาง ป.ป.ช. ไม่น่าจะมีอำนาจในการกระทำเรื่องดังกล่าวได้
ซึ่งทางกลุ่มที่ได้ไปยื่นหนังสือในวันนี้ก็ได้ทราบจาก นายสุทิน คลังแสง ว่าในวันพุธนี้จะได้มีการพูดคุยกับทางคณะกรรมการท่านอื่นๆ เพื่อพิจารณาตามเอกสารที่ทางกลุ่มได้ยื่นไป หากทางคณะกรรมการลงความเห็นและมีการตรวจสอบว่าทาง ป.ป.ช. มีความผิดจริง ทางกลุ่มก็จะดำเนินการต่อไป เพื่อเข้ารายชื่อประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 20,000 รายชื่อเพื่อเข้าถอดถอน
นำเข้าหารือในกรรมาธิการวันพุธนี้
ด้านนายสุทิน กล่าวว่า จะบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ เพื่อตรวจสอบถึงอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ซึ่งแม้ว่าจะไม่สามารถถอดถอนได้หากเห็นว่าผิดรัฐธรรมนูญจริง แต่ยังสามารถจะนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงให้สังคมรับรู้ โดยการถอดถอนนั้นก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คือประชาชนต้องเข้าชื่อกันถอดถอน หรือว่าหาก ส.ส. เห็นว่าผิดก็อาจจะเข้าชื่อยื่นถอดถอนเองก็ได้
นายสุทิน กล่าวอีกว่า หลังจากที่ได้ดูเอกสารที่มีคนมายื่นร้องเรียนให้มีการตรวจสอบ ป.ป.ช. นั้นตนมองว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ประเด็นที่หนึ่งคือ การแต่งตั้ง ป.ป.ช. ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหรือไม่ เรื่องนี้ดูไม่ยากถ้าหากศึกษาแล้วพบว่าไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ก็จะไปดูในข้อกฎหมายในรัฐธรรมนูญว่าระบุไว้อย่างไร การแต่งตั้งจะต้องผ่านการโปรดเกล้าฯ หรือไม่
ประเด็นที่สอง คือ มีการถวายสัตย์ปฏิญาณหรือไม่ ซึ่งเราก็จะทำการตรวจสอบและศึกษาในส่วนของข้อกฎหมายในรัฐธรรมนูญ 2550 ว่าได้มีการระบุรายละเอียดเรื่องดังกล่าวของการแต่งตั้งไว้หรือไม่
ประเด็นสุดท้ายน่าสนใจ และสำคัญมาก เพราะทาง ป.ป.ช. ไปออกระเบียบข้อกฎหมายเรื่องที่ปรึกษาเลขาฯ ส่วนตัว และได้มีการจ่ายเงินเดือน จะได้นำมาศึกษาดูว่าในข้อกฎหมายได้มีการระบุไว้หรือไม่ ซึ่งทำได้ไม่ยาก
ไม่หนักใจ-คาดใช้เวลาพิจารณาไม่มาก
นอกจากนี้นายสุทินยังกล่าวต่อไปว่า หลังจากที่ตนได้รับเอกสารมาในวันพุธที่ 16 กรกฎาคมนี้ จะเข้าที่ประชุมกับคณะกรรมการท่านอื่นๆ เพื่อศึกษา และถ้าทุกท่านมีความเห็นชอบว่าเรื่องที่ร้องเรียนมีมูลเหตุความจริง ก็จะบรรจุเป็นวาระเพื่อทำการพิจารณาตรวจสอบเพื่อนำมาขยายผลต่อไป
หลังจากบรรจุเป็นวาระการพิจารณาแล้ว ขั้นตอนต่อไปหากตรวจสอบว่ามีความผิดตามที่มีผู้มาร้องเรียนจริง ก็จะแจ้งไปข้อมูลไปที่ผู้ร้องเรียน และนำหลักฐานที่ตรวจสอบไปยื่นต่อประธานสภาฯ เพื่อขยายผลต่อไปว่าจะมี ส.ส. หรือ ส.ว. ท่านใดนำเรื่องดังกล่าวไปสู่ประเด็นเรื่องการถอดถอน ป.ป.ช. รวมถึงประชาชนที่มีสิทธิสามารถทำได้ คือการรวบรวมรายชื่อ 20,000 รายชื่อถอดถอน ป.ป.ช. เพื่อขยายผลไปสู่การยื่นเรื่องเพื่อให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อไป
“ผมมองว่าเรื่องนี้ไม่น่าเป็นห่วง เรื่องกระบวนการตรวจสอบ เพราะหากเราทำการตรวจสอบไปตามแหล่งต่างๆ ก็สามารถทำได้ ไม่น่าเป็นห่วงอะไร คาดว่าไม่น่าจะเกินการประชุม 2 นัด ก็น่าจะมีผลสรุปออกมาได้ ว่าทาง ป.ป.ช. มีความผิดตามที่ได้มีผู้ร้องเรียนหรือไม่” นายสุทินกล่าว