WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, July 15, 2008

นักวิชาการเสนอ “ทบวงดับไฟใต้” ผสานจุดเด่น “กระจายอำนาจ-อัตลักษณ์-ศาสนา”

คอลัมน์ : ดับไฟใต้

การคลี่คลายปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยแนวคิด “แก้ที่โครงสร้างการปกครอง” เป็นแนวทางที่พูดกันมาเนิ่นนาน แต่แทบไม่เคยมีรูปธรรมใดๆ ออกมาเป็น “ตุ๊กตา” หรือ “พิมพ์เขียว” ให้ประชาชนได้ศึกษา พิจารณา ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ เพื่อก้าวไปสู่กรอบการจัดการปัญหาอย่างเป็นจริงเป็นจังเลย...

ช่วงต้นของรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช มีการจุดประเด็นเรื่อง “เขตปกครองพิเศษ” จาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เอาไว้อย่างน่าสนใจ แต่ไปๆ มาๆ ก็ไม่มีอะไรในกอไผ่...เช่นเคย

ล่าสุด อ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กับ อ.สุกรี หลังปูเต๊ะ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ได้ร่วมกันนำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “การปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้” เพื่อโยนโจทย์ให้สังคมและรัฐบาลได้ขบคิดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาชายแดนใต้อย่างยั่งยืนด้วย “โครงสร้างการปกครองรูปแบบใหม่” โดยไม่ขัดหรือแย้งกับโครงสร้าง “รัฐเดี่ยว” ของประเทศไทย

* 3 กรอบคิดสู่พิมพ์เขียว
งานวิจัยเริ่มต้นที่กรอบแนวคิด โดยระบุว่า การจัดการปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการเสนอรูปแบบการเมืองการปกครองแบบ "ธรรมาภิบาล" หรือที่เรียกว่า good governance มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว การพัฒนารูปแบบการปกครองในการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับทั้งแนวคิดและแนวทางปฏิบัติ จึงเป็นภารกิจที่สำคัญในทางวิชาการ

แนวคิดที่ผู้วิจัยนำมาพิจารณา มี 3 ประการ กล่าวคือ

1.ความสมดุล ในระบบของสิ่งที่มีชีวิตและในเวทีการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ การที่เราจะออกแบบรูปแบบการปกครองและการบริหารเพื่ออำนวยการแก้ปัญหาโดยมีความชอบธรรมและสันติ จะต้องอาศัยการวิเคราะห์บริบททางอำนาจ และสังคมวัฒนธรรมหลายอย่าง

ประเด็นที่น่าสนใจคือ “การปกครองตามธรรมชาติหรือการบริหารตามธรรมชาติ” ซึ่งเป็นการปกครองหรือการกระทำใดๆ ก็ตามที่ทำให้มนุษย์และสังคมในการปกครองนั้นมีความสุขและอยู่ดีกินดี ฉะนั้นสิ่งที่ควรทำก็คือ สร้างกลไกขึ้นมา โดยที่กลไกนี้ต้องเกิดขึ้นจากประชาชนในท้องถิ่นหลายฝ่าย แล้วเป็นตัวสร้างสมดุลอำนาจระหว่างฝ่ายต่างๆ ขึ้นมาให้ได้

2.ความสำนึกในวัฒนธรรม สิ่งที่จะต้องพิจารณาด้วยคือ องค์ประกอบแห่งสำนึกในอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และศาสนา ซึ่งเป็นตัวการที่สำคัญในการผลักดันความขัดแย้ง ทำให้เกิดความรุนแรง และเป็นตัวแปรหลักในการแก้ปัญหาในกระบวนการสร้างสถาบันทางสังคมและการเมืองในท้องถิ่น

การแก้ปัญหาในการปกครองจะสามารถแก้ปัญหา “ความรู้สึก” ในอัตลักษณ์ดังกล่าวได้ และจะต้องทำให้เกิด “ความรู้สึก” ว่ามีความถูกต้องและชอบธรรมในการแก้ปัญหาเพื่อลดความกดดัน ปิดกั้น และแย่งชิงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ศาสนา และประวัติศาสตร์

จุดร่วมในความรู้สึกที่สำคัญในเชิงสัญลักษณ์ก็คือ การผสมผสานลักษณะพิเศษทางด้านศาสนาและวัฒนธรรม ให้เข้ากับการปกครองและการบริหาร เพื่อที่จะช่วยให้เกิดการฟื้นคืนอำนาจการควบคุมทางสังคมที่มีความถูกต้อง ความชอบธรรม และมีความยุติธรรมในการจัดการปัญหาต่างๆ กลับคืนมา

3.ปัญหาอำนาจรัฐในโครงสร้างของความขัดแย้ง การจะแก้ปัญหาได้อยู่ที่ตัวแปรของรัฐด้วย ความหมายก็คือ รัฐได้ประกอบสร้างตัวตนอย่างไรและปฏิบัติหน้าที่อย่างไร ในสภาพแวดล้อมของพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในทางสังคมวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐประกอบขึ้นด้วยใคร และมีวิธีการอย่างไรในการเข้าถึงและให้บริการกับประชาชนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ

ในระดับท้องถิ่นและหมู่บ้านชุมชน ชนชั้นนำฝ่ายปกครอง ฝ่ายศาสนา และการปกครองท้องถิ่น มีบทบาทอย่างไร สามารถควบคุมและครอบงำการกระทำและความคิดของสังคมและชุมชนได้หรือไม่ และสังคมตอบสนองบทบาทของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งชนชั้นนำในท้องถิ่นดีหรือไม่ดีอย่างไร

ทั้งนี้ การทำให้โครงสร้างรัฐและระบบราชการมีความเป็นตัวแทน ทั้งในด้านคุณลักษณะทางประชากร ทางสังคม และวัฒนธรรม จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้รัฐไม่เป็นคนแปลกหน้าของสังคม

* ข้อเสนอรูปแบบการปกครองพิเศษ
เพื่อให้ได้รูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่เหมาะสม แนวคิดที่ได้มาจากการศึกษาก็คือ การผสมผสานและบูรณาการการเมืองการปกครองท้องถิ่น และส่วนภูมิภาค ที่สอดคล้องกับลักษณะพิเศษของการเมืองการบริหาร และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม พร้อมทั้งมีการจัดการทรัพยากรหรืองบประมาณของท้องถิ่นให้พอเพียงและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการฟื้นอำนาจอันชอบธรรมในชุมชนและสังคม

กล่าวในอีกแง่หนึ่งก็คือ การกระจายอำนาจต้องทำในลักษณะผสมผสานแบบสลับไขว้ ที่ดึงเอาองค์ประกอบในเนื้อหารูปแบบการปกครองท้องถิ่นในระดับย่อยหรือจุลภาค มาประสานกับการบริหารจัดการที่ดี หรือ “หลักธรรมรัฐ” ในระดับมหภาค ในที่นี้การบริหารราชการในส่วนภูมิภาคก็ต้องมีการปรับและทำให้เกิดการจัดการที่ดีด้วย

รูปแบบดังกล่าว จะดึงเอาองค์ประกอบในด้านเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และหลักคุณธรรมในทางศาสนา มาร่วมกับการปกครองท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในระดับย่อย คือ ระดับตำบล จนถึงจังหวัด และอนุภาค ในขณะที่มีองค์ประกอบในด้านการเงินการคลังและการบริหารงานที่ดี ที่เกิดจากการประสานหน่วยย่อยเหล่านี้เข้าเป็นหน่วยใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

รูปแบบการบริหารในระดับภูมิภาคเช่นนี้ อาจจะดึงเอาคุณลักษณะที่ดีของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. (Southern Border Provinces Administrative Center-SBPAC) มาใช้ให้เป็นประโยชน์

องค์กรนี้จะประสานหน่วยย่อยของการปกครองท้องถิ่นให้เป็นองค์รวม โดยให้มีองค์กรแบบที่มาจากการเลือกตั้งในองค์กรระดับนี้ด้วย คือ สมัชชาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Chamber of Southern Border Provinces-CSBP) ในส่วนนี้จะเป็นกระจายอำนาจแบบใหม่ในลักษณะ “การมอบอำนาจ” (devolution) โดย ศอ.บต. จะเป็นหน่วยงานกึ่งอิสระในระดับภูมิภาคที่เข้ามาดูแลการปกครองท้องถิ่นแบบใหม่ ซึ่งจะเป็น “องค์กรการจัดการและการบริหารพัฒนาแบบพิเศษ” (special development administration organization) ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างบูรณาการแห่งชาติ

* ตั้ง “ทบวงดับไฟใต้”
ผลที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการกระจายและบูรณาการ จะทำให้เกิดการปกครองท้องถิ่น ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นหลายแกนประสานกันดังนี้

1.องค์กรประสานงานการบริหารและการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้

องค์กรนี้มีลักษณะคล้ายกับ ศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการยุทธศาสตร์สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศยส.) ตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) หรืออาจจะใช้รูปแบบองค์กรอิสระ อย่างเช่น “สถาบันสันติสุขยุติธรรม” โดยมีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรทางยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนในภาพกว้าง เพื่อให้เกิดกลไกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ที่รวมเอาทั้งภาคประชาชนและภาครัฐไว้ด้วยกัน

องค์กรแบบที่เสนอนี้เป็นองค์กรบริหารส่วนภูมิภาคแบบใหม่ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการ และการแก้ปัญหานโยบายในการบริหารใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ องค์กรนี้จะเป็นที่รวมขององค์กรปกครองส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น

ฐานะทางกฎหมายขององค์กรนี้จะเรียกว่า “ทบวงการบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” (Southern Border Provinces Development Administration Bureau--SBPAB) ขึ้นต่อนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีทบวง มีฐานะเทียบเท่าทบวงพิเศษ มีการปกครองส่วนกลางและการบริหารงานส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษในส่วนภูมิภาค

“ทบวงการบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” มีรัฐมนตรีทบวงเป็นผู้ดูแลนโยบาย มีปลัดทบวง รองปลัดทบวง และผู้อำนวยการเขตทำหน้าที่ดูแลในแต่ละพื้นที่ในฐานะข้าราชการส่วนภูมิภาคแบบพิเศษ ควบคู่ไปกับองค์กรปกครองท้องถิ่นในทุกระดับ

นอกจากนี้ ในการบริหารงานของทบวงการบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังควรมี “สมัชชาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้” (Chamber of Southern Border Provinces-CSBP) อันเป็นสภาประชาชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เป็นสภาที่ปรึกษาและกลั่นกรองนโยบายภาคประชาชน

สมาชิกหรือองค์ประกอบองค์กรสภาประชาชนระดับภาค (regional chamber) นี้ จะมาจากตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวคือมาจากองค์กรปกครองท้องถิ่น สมาคมธุรกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาหอการค้า สมาคมอุตสาหกรรม องค์กรภาคประชาสังคม โรงเรียนสอนศาสนา องค์กรทางศาสนา องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ในด้านต่างๆ เช่น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การบรรเทาสาธารณภัย และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สถาบันการศึกษาอุดมศึกษา องค์กรวิชาชีพต่างๆ เช่น ครู แพทย์ พยาบาล อนามัย ทนายความ นักธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งชุมชนมุสลิมและพุทธ เกษตรกรและการค้ารายย่อย เป็นต้น

องค์กรสภา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมจากตัวแทนของแต่ละกลุ่มอาชีพ และกลุ่มทางสังคม เพื่อให้สภามีความยึดโยงกับสังคมและชุมชนท้องถิ่น เป็นตัวแทนให้แก่คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการบริหารราชการส่วนภูมิภาคในลักษณะตัวแทนทางวิชาชีพ (functional representation)

อำนาจหน้าที่สำคัญของสภานี้คือ กำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการเมืองและเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพิจารณากลั่นกรอง รวมทั้งรับรองจัดสรรงบประมาณ เงินอุดหนุน (subsidy) ที่ให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นฝ่ายต่างๆ รวมทั้งงบประมาณโครงการการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลที่ผ่านทางองค์กรบริหารแบบพิเศษ

2.องค์กรปกครองท้องถิ่นในระดับตำบล และเทศบาล เหมือนรูปแบบเดิม

มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนในท้องถิ่น มีอำนาจในการเก็บภาษีและบริหารงบประมาณการคลังส่วนท้องถิ่นเต็มที่ มีอำนาจในการออกข้อบัญญัติ รวมทั้งเพิ่มอำนาจในการจัดการท้องถิ่นในเรื่องทางศีลธรรม วัฒนธรรม และประเพณีให้มากขึ้น เช่น การกำหนดเขตปลอดอบายมุข ตำรวจศีลธรรม ประกาศห้ามเยาวชนออกนอกบ้านในยามวิกาล เว้นแต่มีผู้ปกครองอยู่ด้วย เป็นต้น

การกำหนดนโยบายระดับท้องถิ่น จะต้องได้รับการรับรองจากสภาผู้รู้ทางศาสนา และประชาชน องค์กรปกครองท้องถิ่นแบบนี้ต้องพึ่งตนเองได้ มีการบูรณาการและมีการจัดการแบบจุดเดียวเสร็จ หรือ one-stop services

3.องค์กรสภาผู้รู้ทางศาสนาในระดับตำบล

ได้มาจากการเสนอชื่อและการเลือกสรรจากคณะกรรมการชุมชน ผู้นำศาสนา องค์กรภาคประชาชน และสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น สภานี้เป็นที่ปรึกษาในกิจการศาสนาและศีลธรรมของสังคม และขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีจุดเชื่อมต่อในแกนบริหารแบบ matrix สมาชิกที่มาจากการคัดสรรนี้ควรจะต้องเป็นกรรมการโดยตำแหน่งขององค์กรปกครองท้องถิ่นด้วยจำนวน 1 ใน 3 ของสมาชิกสภาท้องถิ่น เพื่อให้มีอำนาจในการยับยั้งในกรณีที่ผู้นำท้องถิ่นกระทำผิดในทางนโยบาย และเกิดการทุจริตประพฤติมิชอบ

องค์กรที่มีที่น่าพิจารณาคือ “สภาวัฒนธรรม” ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่แล้วโดยการจัดตั้งของกระทรวงวัฒนธรรม แต่องค์กรเดิมไม่มีบทบาทหน้าที่ในทางปฏิบัติมากนัก องค์กรแบบนี้น่าจะมีลักษณะแบบ “สภาซูรอ” แต่มีความผสมผสานกับองค์กรด้านอื่นด้วยที่ไม่ใช่ศาสนาอย่างเดียว

* บูรณาการการศึกษา"ศาสนา-สามัญ"

ข้อเสนอรูปแบบการปกครองและบริหารแบบพิเศษเพื่อการบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะสอดคล้องกับลักษณะพิเศษ 3 อย่าง คือ ระบบการปกครองตนเองของชนชั้นนำ บวกกับระบบกฎหมายตามประเพณี (วิถีชีวิตอิสลามและมลายู) และระบบการศึกษาที่บูรณาการการศึกษาทางศาสนากับสามัญ ซึ่งทั้ง 3 องค์ประกอบคือปัจจัยสำคัญของฐานชนชั้นนำแห่งอำนาจในสังคมมุสลิมปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

1.การปกครองด้วยตนเอง หมายความว่า การปกครองแบบที่ให้อำนาจผู้นำท้องถิ่นในการจัดการด้วยตนเอง ชนชั้นนำทางศาสนาและผู้นำท้องถิ่นควรมีอำนาจในการปกครองท้องถิ่น องค์ประกอบคือมีชนชั้นนำท้องถิ่นช่วยกันปกครองและบริหาร หรือระบบ "สภาซูรอ" ตัดสินใจโดยปรึกษาหารือร่วมกันในสภาชุมชน

ทางออกที่สมดุลคือ ใช้การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเต็มที่ ด้วยการการเลือกตั้งตัวแทนท้องถิ่นตามระบบเดิมที่มีอยู่ แต่ให้ผสมผสานกับการเลือกตั้งและการเลือกสรรผู้นำท้องถิ่นในแบบสภาซูรอ รูปแบบที่อาจจะตามมาในอนาคตคือ การใช้รูปการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ แบบกรุงเทพมหานคร (กทม.) เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

2.ระบบการศึกษาแบบบูรณาการ หมายถึง บูรณาการการศึกษาในทางศาสนาและสามัญ โดยให้ท้องถิ่นจัดการดูแลกันเอง มีการออกพระราชบัญญัติการศึกษาพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในอดีต รัฐไทยมองว่าระบบการศึกษาดั้งเดิมของปัตตานีเป็นตัวสร้างความเข้มแข็งของอัตลักษณ์มลายูมุสลิมปัตตานี จึงเข้ามาเปลี่ยนระบบการศึกษาและกดดันให้ยอมรับอัตลักษณ์ แต่ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาควรจะเป็นศูนย์การสร้างอัตลักษณ์ผสมผสานหลากหลายทางวัฒนธรรม และสร้างชนชั้นนำใหม่ ระบบการศึกษาทั้งระดับตาดีกา ปอเนาะ และการศึกษาชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา ควรเป็นระบบบูรณาการทั้งศาสนาและสายสามัญ ผ่านระบบการวางแผนร่วมกันในแผนยุทธศาสตร์การศึกษา

3.พัฒนาระบบกฎหมายอิสลามและกฎหมายตามประเพณี หรือเรียกว่า ระบบยุติธรรมทางเลือก ยุติธรรมชุมชน โดยการประสานกับองค์กรยุติธรรมของรัฐ เพื่อสร้างความชอบธรรมในอำนาจการเมืองการปกครอง (Legitimate political authority) เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่น ไว้วางใจต่ออำนาจของกฎหมาย

* ใช้กฎหมายอิสลามสถาปนาความยุติธรรม
ข้อเสนอทั้งหมดนี้ จุดเน้นคือ การปกครองและการบริหารในระดับหมู่บ้านและชุมชนจะต้องปลอดภัยและมั่นคงด้วย โดยให้กระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบในการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนำมาสู่การบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อให้สามารถอำนวยการให้เกิดการใช้กฎหมายอิสลามที่เกี่ยวกับครอบครัว และมรดก ตามแนวทางในอดีต หรือแนวทางที่มีการประกาศใช้กฎหมายอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี พ.ศ.2489 แต่ไม่มีการดำเนินการในระยะต่อมา

นอกจากนี้ ยังมีระบบการจัดการความมั่นคงของหมู่บ้านและชุมชนแบบบูรณาการ ตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ ซึ่งตามโครงสร้างใหม่ของกฎหมายฉบับนี้ ผู้ใหญ่บ้านมีวาระการดำรงตำแหน่งจนถึงเกษียณอายุ 60 ปี ควรมีการปรับปรุงการทำงานของคณะกรรมการหมู่บ้านให้มีความมั่นคง และมีส่วนร่วมมากขึ้น คณะกรรมการหมู่บ้านจะเป็นรูปสภาซูรอของหมู่บ้าน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับฐานราก

* บทสรุป

กล่าวโดยสรุป เพื่อให้ได้รูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่เหมาะสม แนวคิดที่ได้มาจากการศึกษาก็คือการผสมผสานและบูรณาการการเมืองการปกครองท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับลักษณะพิเศษของการเมืองการบริหาร และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม พร้อมทั้งมีการจัดการทรัพยากรหรืองบประมาณของท้องถิ่นให้พอเพียงและมีประสิทธิภาพ มีทั้งองค์ประกอบพร้อมกับการกระจายอำนาจ

กล่าวในอีกแง่หนึ่งก็คือ การกระจายอำนาจต้องทำในลักษณะผสมผสาน ที่ดึงเอาองค์ประกอบในเนื้อหารูปแบบการปกครองท้องถิ่นในระดับย่อย หรือจุลภาค มาประสานกับการบริหารจัดการที่ดี หรือหลักธรรมรัฐในระดับมหภาค ดึงเอาองค์ประกอบในด้านเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และหลักคุณธรรมในทางศาสนา มาร่วมกับการปกครองท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในระดับย่อย คือ ระดับตำบล และหมู่บ้าน ในขณะที่มีองค์ประกอบในด้านการเงินการคลัง และการบริหารงานที่ดีที่ เกิดจากการประสานหน่วยย่อยเหล่านี้เข้าเป็นหน่วยใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรูปทบวงการปกครองพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยทั้งหมดนี้ไม่ขัดกับหลักการรัฐเดี่ยวของประเทศไทย!

ปกรณ์ พึ่งเนตร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา