คอลัมน์ : ประชาทรรศน์วิชาการ
////////////////////////////////////
สถานการณ์ที่กลุ่มอันธพาลการเมืองข้างถนนอ่อนแรงลง และการสงวนท่าทีของฝ่ายกองทัพ ได้บีบให้ฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยหันมาใช้ยุทธการ “ตุลาการภิวัตน์” อย่างขะมักเขม้น แต่ถึงอย่างไร ฝ่ายประชาธิปไตยจักต้องไม่ประมาท และไม่ประเมินภัยรัฐประหารต่ำเกินไป
รัฐประหารไม่ใช่เป็นปฏิบัติการทางทหารล้วนๆ หากแต่เป็นการต่อเนื่องของความขัดแย้งทางการเมืองที่พัฒนาไปถึงขั้น "วิกฤติ" ที่ใช้กำลังอาวุธเข้าแก้ไขอย่างเปิดเผย การที่ยังไม่เกิดรัฐประหารในช่วงที่ผ่านมา มิใช่ว่า “นายกฯ สมัคร กุมสภาพในกองทัพได้” ดังที่หลายคนเข้าใจ หากแต่เป็นตรงข้าม คือ สถานการณ์ที่ผ่านมายังไม่สุกงอม เนื่องจากกลุ่มอันธพาลการเมืองข้างถนนประสบความล้มเหลวในการสร้างความปั่นป่วน และวิกฤติการเมืองที่รุนแรงถึงระดับที่สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐประหารอย่างเปิดเผยได้
ความจริงแล้ว รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ไม่สามารถกุมสภาพในกองทัพและตำรวจได้อย่างมั่นใจ จึงไม่สามารถใช้มาตรการเด็ดขาดกับพวกอันธพาลการเมืองบนท้องถนนได้ รัฐบาลได้แต่ถอยร่นครั้งแล้วครั้งเล่า โดยที่การกระหน่ำโจมตีจากกลุ่มอันธพาลการเมืองและสื่อสารมวลชนสมุนเผด็จการ ก็ยังคงดำเนินไปอย่างหนักหน่วง แต่การถอยของรัฐบาลก็ทำให้เงื่อนไขรัฐประหารไม่สามารถพัฒนาถึงขั้นสุกงอมได้
การประกาศ “การเมืองใหม่” ของพวกอันธพาลการเมืองข้างถนน ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ จุดมุ่งหมายของเผด็จการอำมาตยาธิปไตยในวันนี้ ไม่ใช่เพียงล้มรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช แต่เป็นการล้มระบบรัฐสภา และไม่ให้มีการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะพวกเขารู้แล้วว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ที่พวกเขาเพียรร่างขึ้นมาด้วยกลไกหมกเม็ดมากมายนั้น กลับใช้ไม่ได้ผล เพราะจุดอ่อนสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2550 คือ ยังให้มีการเลือกตั้งและสภาผู้แทนราษฎรกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เปิดช่องให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยชนะเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลได้อีก
ในอดีต กลุ่มเผด็จการอำมาตยาธิปไตยนิยมใช้เสื้อคลุมของระบอบเลือกตั้ง ที่มีรัฐบาลหุ่นเชิดมาห่อหุ้มปกปิดเนื้อในที่เป็นอำนาจนิยมของพวกเขา และจะก่อรัฐประหารก็ต่อเมื่อเปลือกนอกที่เป็นระบอบรัฐสภานั้นไม่สนองเป้าประสงค์ทางการเมืองเฉพาะหน้าได้อีกต่อไป ต่อเมื่อได้ขจัดอุปสรรคเสี้ยนหนามทางการเมืองได้แล้ว จึงจะกลับมาใช้เสื้อคลุมที่เป็นระบบเลือกตั้งอีกครั้ง แต่วันนี้พวกเขาตระหนักแล้วว่า การเมืองแบบเลือกตั้งได้ถูกกลุ่มทุนใหม่และพรรคการเมืองของพวกเขา ฉกฉวยไปใช้สร้างฐานคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างท่วมท้น และอยู่นอกเหนือการควบคุมของพวกเขาเสียแล้ว พวกเผด็จการอำมาตยาธิปไตยสรุปบทเรียนว่า การเมืองแบบเลือกตั้ง
แม้แต่ชนิดที่พิกลพิการอย่างยิ่งตามระบอบรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ไม่อาจเป็นเครื่องมือของพวกเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไป ทางออกคือ ต้องสถาปนาระบอบเผด็จการในคราบ “การเมืองใหม่” ที่ประกอบด้วย “สภานิติบัญญัติตามสาขาอาชีพ” ที่มาจาก “การคัดสรร” และแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีกับคณะรัฐมนตรีภายใต้เสื้อคลุม “รัฐบาลแห่งชาติ” ที่เป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของอำมาตยาธิปไตยอย่างแท้จริง
ยุทธการที่กำลังดำเนินไปในขณะนี้ของเผด็จการอำมาตยาธิปไตยคือ “ตุลาการภิวัตน์” แต่ปัญหาของวิธีการนี้คือ ทำได้เพียงขัดขวางรัฐบาล มัดมือมัดเท้า เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสมุนเผด็จการ อันธพาลบนท้องถนน ร่วมกับสื่อสารมวลชนกระแสหลัก ช่วยกันรุมกระหน่ำรัฐบาลเท่านั้น แต่ตุลาการไม่สามารถเปลี่ยนจำนวนคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้พรรคการเมืองสมุนเผด็จการขึ้นมาเป็นแกนนำรัฐบาลแทนได้ ไม่สามารถเปลี่ยนระบบการเมืองจากแบบเลือกตั้งไปสู่ระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตย ในคราบ “การเมืองใหม่” ได้
คำตอบจึงยังคงเป็น “รัฐประหาร” โดยอาจเป็น “รัฐประหารเงียบ” บีบให้รัฐบาลลาออกด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง แล้วใช้มาตรการทางตุลาการ ประสานกับอันธพาลการเมืองบนถนน ขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ก่อเป็นสถานการณ์วิกฤติที่จะต้องใช้ “มาตรการพิเศษนอกรัฐธรรมนูญ” หรือหากรัฐบาลพรรคพลังประชาชนยังคงขืนดื้อแพ่งต่อไป ก็จะเป็นรัฐประหารด้วยกำลังอาวุธอย่างเปิดเผย
รัฐบาลและพรรคพลังประชาชนจะต้องไม่หลงกลกลุ่มเผด็จการอำมาตยาธิปไตย ต้องไม่ยุบสภาผู้แทนราษฎร ที่อาจเปิดโอกาสให้ฝ่ายเผด็จการสร้างสถานการณ์วิกฤติขัดขวางการเลือกตั้ง หากแต่รัฐบาลและพรรคพลังประชาชนต้องใช้จุดแข็งของตน ซึ่งก็คือ จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และฐานมวลชนของตน ให้เป็นประโยชน์ เร่งผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุด เอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับคืนมา ปฏิรูปองค์กรรัฐธรรมนูญที่เป็นมือเท้าของเผด็จการอำมาตยาธิปไตย ไม่ให้ฝ่ายเผด็จการมีเวลาใช้กลไกองค์กรรัฐธรรมนูญในมือมาทำลายรัฐบาลและพรรคได้ ทั้งนี้ รัฐบาลและพรรคพลังประชาชนจะต้องไม่หวั่นไหวใดๆ กับกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงจากอันธพาลบนท้องถนน สื่อสารมวลชนกระแสหลัก และพรรคการเมืองสมุนเผด็จการ
รัฐบาลพรรคพลังประชาชนจักต้องเตรียมพร้อม กุมสภาพกองทัพและตำรวจให้ชัดเจน ต้องไม่หวั่นไหวต่อกระแสโจมตีและการข่มขู่คุกคามจากกลุ่มทหารฟาสซิสต์ ใช้มาตรการทางวินัยและทางกฎหมายตอบโต้อย่างเด็ดขาด อย่าประเมินความเป็นไปได้ของรัฐประหารต่ำเกินไป ตระเตรียมกำลังให้พร้อมสรรพ เพื่อรับมือการใช้กำลังใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทุกองค์กรต้องร่วมพลังสามัคคีกัน ประสานกับเครือข่ายพรรคพลังประชาชน เร่งระดมมวลชนทั่วประเทศ
หนึ่ง ต้องเสนอเข็มมุ่งเฉพาะหน้าที่เป็นหนึ่งเดียว คือ “ต่อต้านอันธพาลการเมือง เอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับคืนมา” ให้การศึกษาแก่ประชาชนทั่วประเทศ ด้วยรูปแบบที่หลากหลายและพลิกแพลง ทั้งใบปลิว เอกสารศึกษา การประชุมเสวนา การชุมนุมปราศรัย และการเดินขบวนแสดงกำลัง ทั้งขนาดใหญ่และย่อย รวมทั้งขยายเครือข่ายวิทยุชุมชนและโทรทัศน์ดาวเทียมให้ทั่วถึง ใช้สื่อสารมวลชนทางเลือกทั้งบนดินและออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ ก่อเป็นกระแสคลื่นมติมหาชน รุกกลับและตีโต้กลุ่มอันธพาลการเมืองบนท้องถนนและกระแส “ระบอบการเมืองใหม่” ของฝ่ายเผด็จการ
สอง ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องเร่งขยายเครือข่ายของกลุ่มองค์กรประชาธิปไตยใหม่ ประสานกันเข้าเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยใหม่แห่งชาติ ประกอบด้วยศูนย์กลางในกรุงเทพฯ และหัวเมืองหลักในต่างจังหวัด เคลื่อนไหวประสานสอดคล้องกันด้วยเข็มมุ่งและคำขวัญหนึ่งเดียว ต้องไม่ยึดติดกับรูปแบบการรวมตัวจัดตั้งแบบเก่าๆ ให้ใช้รูปการจัดตั้งและวิธีการเคลื่อนไหวที่มวลชนในแต่ละพื้นที่ได้พัฒนากันขึ้นเองอย่างเป็นธรรมชาติ ในช่วงสองปีมานี้ให้เป็นประโยชน์
สาม กลุ่มอันธพาลการเมืองบนท้องถนนกำลังตกอยู่ในสถานะโดดเดี่ยว ไม่สามารถระดมมวลชนออกมาได้ หากแต่ยังอยู่ได้ด้วยแรงหนุนและน้ำเลี้ยงจากกลุ่มเผด็จการอำมาตยาธิปไตย และการสร้างกระแสโดยสื่อมวลชนเผด็จการเท่านั้น ฝ่ายประชาธิปไตยจักต้องตีโต้การสร้างสถานการณ์อนาธิปไตย และวิกฤติการเมืองโดยพวกอันธพาลการเมืองบนท้องถนน ปิดล้อมมิให้พวกอันธพาลเหล่านี้ได้ขยายการเคลื่อนไหวออกไป ฝ่ายประชาธิปไตยต้องใช้เครือข่ายมวลชนในหัวเมืองให้เป็นประโยชน์ แสดงกำลังตอบโต้พวกอันธพาลการเมืองในแต่ละพื้นที่ ให้พวกเขาแตกพ่าย ถอยร่น ตกอยู่ในสภาพที่ไร้ความชอบธรรม โดดเดี่ยว และเป็นฝ่ายรับ
สี่ ฝ่ายประชาธิปไตยต้องไม่ประมาท ตื่นตัวตระเตรียมมาตรการรับมือกับการใช้กำลังรุนแรงโดยกลุ่มอันธพาลบนท้องถนนและรัฐประหาร ที่อาจจะเกิดขึ้น ให้ขบวนการประชาธิปไตยเกิดความเสียหายน้อยที่สุด เพื่อความพร้อมที่จะตอบโต้การใช้กำลังนอกระบบของฝ่ายเผด็จการ
การที่กลุ่มเผด็จการอำมาตยาธิปไตยจำต้องละทิ้งเปลือกนอกของการเมืองแบบเลือกตั้ง หันมาใช้ “ตุลาการภิวัตน์” ให้กลุ่มอันธพาลการเมืองชูธง “ระบอบการเมืองใหม่” สะท้อนว่า พวกเขาตกอยู่ในสถานะที่ดิ้นรนอย่างสิ้นหวัง จำต้องเปิดเผยธาตุแท้ที่เสื่อมโทรมล้าหลังและต้านประชาธิปไตยออกมาจนหมดสิ้น ถ้าพวกเขารีบร้อนก่อรัฐประหารโดยที่สถานการณ์ยังไม่สุกงอม และเงื่อนไขยังไม่เอื้ออำนวย พวกเขาก็กระทำผิดพลาดทางการเมืองอย่างสำคัญ และระบอบการเมือง “ใหม่” หลังรัฐประหาร ก็จะไม่อาจอยู่รอดได้ในระยะยาว
รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์