คอลัมน์: สวัสดีวันจันทร์
“...หากต่อมาคณะ คมช. ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ตนเอง ก็นับว่าพอเอาตัวรอดไปตามเทคนิคกฎหมาย แต่การที่คณะ คมช. ตั้งเป้าหมายต้องการยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว โดยไม่ยอมใช้กฎหมายธรรมดาที่มีอยู่ในขณะนั้นมาจัดการ ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่า การกระทำนั้นเป็นการกระทำของโจร ซึ่งอารยชนไม่อาจยอมรับได้…”
ในหนังสือเรื่อง “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น” ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ได้ทรงนิพนธ์ไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2486 แต่ได้มีการเผยแพร่ในปี 2542 มีเรื่องสำคัญมากมายที่นักประชาธิปไตยควรจะได้อ่านเป็นการศึกษาไว้ประดับสติปัญญา
เฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องที่เกี่ยวพันหรือเกี่ยวเนื่องกับการอภิวัตน์ 2475 แล้วเราจะได้ทราบถึงความรู้สึกนึกคิดของฝ่ายเจ้าว่าเป็นเช่นไรได้อย่างชัดเจนในหลายๆ แง่มุม
อย่างเช่นตอนที่ทรงนิพนธ์ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ความตอนหนึ่งว่า
“...เมื่อเสร็จกิจเนรเทศทูลกระหม่อมบริพัตรฯ แล้ว ความเกลียด โกรธของ พวกก่อการ ก็ค่อยบรรเทาลง เพราะพวกทหารเชื่อว่า ในหลวงทรงเป็นคนอ่อนแอ เขาคงจะจัดการได้ด้วยง่าย แต่พวกพลเรือนบางคนยังมีความแค้นเคือง เพราะต้องการสมบัติของพวกเจ้า ซึ่งเขาเข้าใจกันว่า มั่งมีทุกคนไป แต่มีบางคนคัดค้านว่า ถ้าริบทรัพย์ก็จะเป็นการกระทำของโจร ยิ่งกว่าต้องการรัฐธรรมนูญ จึงตกลงกันเพียงแต่ขอให้ตัดทอนลงทุกๆ ทาง เพราะอ้างว่าไม่มีทุนจะทำให้บ้านเมืองเจริญได้”
ความที่เล่ามานี้ ย่อมทำให้เราได้ความรู้ว่า ในการยึดอำนาจการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น เจ้าพระองค์สำคัญที่สุด ที่คณะราษฎรเกรงจะเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการปกครองระบอบใหม่คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ นี้เอง เพราะพระองค์ทรงมีอำนาจและบารมีมาก ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาต่อการบริหารบ้านเมืองในอนาคต จึงมีการทูลเชิญให้เสด็จประทับในต่างประเทศห่างไกลออกไปเสียสักหน่อย ซึ่งการนั้นก็เสร็จสมความประสงค์
ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ได้ทรงระบายความรู้สึกอันเป็นตัวแทนของฝ่ายเจ้าออกมาว่า เมื่อเสร็จกิจเนรเทศทูลกระหม่อมบริพัตรฯ แล้ว ความเกลียด โกรธของพวกก่อการก็ค่อยบรรเทาลง... แต่พวกพลเรือน (ที่เป็นผู้ก่อการ) บางคนยังมีความแค้นเคือง เพราะต้องการสมบัติของพวกเจ้า... ความข้อนี้ย่อมทำให้เห็นว่า ฝ่ายเจ้ามีความวิตกทุกข์ร้อนด้วยเรื่องกลัวการยึดทรัพย์อยู่มาก ทั้งที่ความจริงก็ปรากฏชัดอยู่ว่า แนวคิดเรื่องการยึดทรัพย์เจ้านี้มิได้เป็นแนวคิดหลักของผู้ก่อการที่เรียกกันว่า คณะราษฎรเลย หากจะมีความคิดก็เพียงความเห็นส่วนตัวของบางคนเท่านั้น ทั้งด้วยความเป็นธรรมต้องยอมรับว่า มิใช่ว่าเจ้าทุกพระองค์จะมั่งมีเสมอเหมือนกันหมด
แต่อย่างไรก็ตาม ต้องเห็นใจและเข้าใจว่า ในสถานการณ์เช่นนั้น ความวิตกทุกข์ร้อนเรื่องการถูกยึดทรัพย์ย่อมจะมีแก่บรรดาเจ้าทั้งหลายเป็นธรรมดา ใครจะสามารถให้หลักประกันได้ว่า เมื่อถูกยึดอำนาจการปกครองแล้ว ผู้ยึดจะมิรังแกเอาด้วยความอยุติธรรมประการต่างๆ ทว่าบันทึกของ ม.จ.พูนพิศมัย ก็ได้ให้ความรู้และความจริงต่อไปว่า...แต่มีบางคน (ในคณะก่อการ) คัดค้านว่า ถ้าริบทรัพย์ ก็จะเป็นการกระทำของโจร ยิ่งกว่าต้องการรัฐธรรมนูญ...
ข้าพเจ้ายกเอาเรื่องนี้มาเล่าสู่ท่านผู้อ่าน ก็เพื่อจะบอกท่านว่า ในที่สุดก็ไม่มีการยึดทรัพย์ใคร การยึดอำนาจ 2475 เป็น การอภิวัตน์ อย่างแท้จริง เพราะไม่มีการกระทำของโจร และไม่มีการแย่งชิงราชบัลลังก์ มีแต่การต้องการรัฐธรรมนูญ พร้อมกับนโยบายแก้ปัญหาประเทศที่เรียกว่า หลัก 6 ประการของคณะราษฎรเท่านั้น
ประเด็นของการยึดทรัพย์นี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่ง เพราะหากคณะทหาร (4 ทหารเสือ) ที่เป็นกำลังหลักของการยึดอำนาจ หรือใครก็ตามในคณะราษฎร เสนอแนวคิดยึดทรัพย์เจ้าและเกิดลงมือปฏิบัติ การกระทำนั้นจะเป็นการกระทำอันน่าชิงชังรังเกียจ เป็นการกระทำของโจร และคณะราษฎรจะมิได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ฐานะของวีรบุรุษ หรือรัฐบุรุษผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง จนมีเกียรติคุณเกียรติยศ เป็นที่เคารพนับถือของคนรุ่นหลังอย่างแน่นอน (ยกเว้นกรณีที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่คณะราษฎรเริ่มสิ้นสภาพ ความขัดแย้งระหว่างผู้ก่อการกับเจ้ารุนแรงขึ้น ผลักดันให้หลวงพิบูลสงครามเริ่มมีแนวคิดเป็นเผด็จการ)
ตัดฉากจากประวัติศาสตร์การอภิวัตน์ 2475 มาสู่เหตุการณ์ในปัจจุบัน คณะทหารที่รวมตัวกันเรียกตัวเองว่า คมช. ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญามาตรา 113 จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ความผิดย่อมติดตัวอยู่
หากต่อมาคณะ คมช. ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ตนเอง ก็นับว่าพอเอาตัวรอดไปตามเทคนิคกฎหมาย แต่การที่คณะ คมช. ตั้งเป้าหมาย ต้องการยึดทรัพย์ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว โดยไม่ยอมใช้กฎหมายธรรมดาที่มีอยู่ในขณะนั้นมาจัดการ ตรงกันข้าม กลับออก กฎ คมช. และตั้งองค์กรพิเศษเรียกว่า คตส. ขึ้นมาดำเนินการ ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่า การกระทำนั้น เป็นการกระทำของโจร ซึ่งอารยชนไม่อาจยอมรับได้
ความผิดข้อหากบฏ ตามมาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น ถูกเทคนิคทางกฎหมายขจัดไปแล้วด้วยการนิรโทษกรรม แต่การกระทำด้วยวิธีการต่างๆ นอกเหนือจากกฎหมายธรรมดาที่มีอยู่แต่เดิม เพื่อ การยึดทรัพย์ของบุคคล โดยเฉพาะเจาะจง ย่อมเป็นอาชญากรรม จะมาอ้างหลักรัฐาธิปัตย์ใดๆ ย่อมฟังไม่ได้ทั้งสิ้น
ยิ่งข้อกล่าวหาอื่นๆ ที่ คมช. ซัดใส่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับการพิสูจน์ว่า ไม่เป็นความจริง คมช. ก็ยิ่งกลายเป็นผู้ร้ายทางการเมืองหนักขึ้น ยังเหลือแต่ข้อกล่าวหาว่า ทุจริตต่อหน้าที่เท่านั้นที่เร่งมือกันอยู่ โดยละเลยหลักนิติรัฐและนิติธรรม รอการพิสูจน์ผลลัพธ์สุดท้าย
ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ข้าพเจ้ามิได้ตั้งใจจะปกป้องทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว ดังที่เขากำลังถูกกระทำจากองค์กรต่างๆ ของ คมช. อย่างไม่เสมอภาคอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะรู้อยู่ว่า เสียงเท่านี้ย่อมไม่อาจปกป้องได้ แต่ข้าพเจ้าตั้งใจอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนหลักการที่คณะราษฎรยึดถืออย่างเคร่งครัดในวันอภิวัตน์ และ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ได้ทรงกล่าวไว้ในบันทึกเรื่อง ‘สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น’ ว่าการริบทรัพย์เป็นการกระทำของโจร ซึ่งไม่ว่าเจ้าหรือไพร่ต่างก็ชิงชังรังเกียจเหมือนๆ กัน
พระยาพหลฯ พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเนย์ หลวงประดิษฐมนูธรรม หรือใครต่อใคร ที่ร่วมกันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนได้ประชาธิปไตย ได้รัฐธรรมนูญอันเป็นหลักในการปกครองประเทศ ไม่เสื่อมจากเกียรติ ไม่เสื่อมจากศักดิ์ศรี ตรงกันข้าม ยิ่งนานวันยิ่งหอมหวนทวนลม ก็เพราะปฏิเสธแนวทางโจรที่ว่านี้
แต่บรรดาผู้ยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 โดยเฉพาะหัวหน้าคณะ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นั้น อย่าฝันถึงการเป็นวีรบุรุษของชาติเลย เพราะแม้แต่เพียงทรัพย์สินของตน ถ้าใช้มาตรการเดียวกับที่ใช้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว ก็คงมีผลอย่างเดียวกันคือ โดนยึดทรัพย์ เพียงแต่ท่านอยู่รอดปลอดภัยได้ก็เพราะไม่มีใครสนใจเอาความท่านเท่านั้น!
โดยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงทุ่มเทความรับผิดชอบทั้งปวงไปยังรัฐบาลและรัฐสภาในปัจจุบัน ซึ่งชั่วดีพีผอมท่านก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศ ข้าพเจ้าถือว่าท่านต้องมีหน้าที่ทำให้เกิดความถูกต้องดีงาม การใดที่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย ต้องรักษาไว้ การใดขัดกับหลักการประชาธิปไตย ขัดกับความเป็นอารยะ ต้องขจัดทิ้งเสีย
จริงอยู่ พวกท่านมาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550 แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 มีหลักการอันขัดต่อหลักประชาธิปไตยอย่างเด่นชัดและหลายบท หลายมาตราสนับสนุนหลักการเผด็จการและองค์กรเผด็จการ ท่านก็ควรร่วมมือกันแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียเป็นการด่วน
มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่า พวกท่านยอมเป็นสมุนเผด็จการ ยอมรับแนวทางโจรโดยมิได้ดิ้นรนต่อสู้
นาทีนี้ท่านต้องเลือกเอาว่า จะเป็นสมุนโจร ใช้กฎโจรต่อไป หรือท่านจะแก้รัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นปัญหาเร่งด่วนที่เราจะต้องแก้วิกฤติของประเทศ ซึ่งจะทำให้ท่านกลายเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเป็นขวัญใจของมวลชนผู้รักความก้าวหน้าทั้งประเทศ
จะเลือกถูกสาปแช่งจากทุกทิศ–หรือเลือกคำสรรเสริญ–เลือกเอา
จะเลือกเป็นสมุนโจร หรือเป็นนักประชาธิปไตย–เลือกเอา
ท่านมีทางเลือกอยู่สองทางนี้เท่านั้น
วีระ มุสิกพงศ์