คอลัมน์: สิทธิประชาชน
สัปดาห์ที่แล้ว บรรดาสถาบันหรือองค์การของกระบวนการยุติธรรม ทยอยกันมีคำตัดสิน และพิจารณาทุกวัน ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เป็นสนธิสัญญา ศาลฎีกาแผนกคดีการเลือกตั้งตัดสินคดีใบแดงของ คุณยงยุทธ ติยะไพรัช ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขาดคุณสมบัติ ต้องพ้นตำแหน่ง คณะกรรมการร่วมกรรมการการเลือกตั้งกับอัยการสูงสุด มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตย และอัยการสูงสุดสั่งฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คดีภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคม คดีที่ผมสนใจอยากนำมาเขียนอีกครั้ง คือ คดียุบพรรคการเมือง เพราะผมไม่เห็นด้วยอย่างเด็ดขาด
คงต้องย้อนกลับไปเมื่อมีการพิจารณาคดียุบพรรคทั้งสอง ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ผมเคยไปยื่นจดหมายเสนอความคิดเห็นต่อ กกต. ว่า การยุบพรรคการเมือง นอกจากเป็นการทำลายพรรคการเมือง ซึ่งเป็นสถาบันทางการเมือง กลไกสำคัญของการดำเนินระบอบประชาธิปไตย หากยังเป็นการละเมิดเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองของประชาชนนับล้าน ที่เป็นสมาชิกของพรรคดังกล่าว ในจดหมาย
ผมยังชี้ว่า ความคิดยุบพรรคการเมืองเป็นความคิดที่ล้าหลังที่สุด ด้วยไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนทำกัน และบทบัญญัติเกี่ยวกับการยุบพรรคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 237 ก็ผิดหลักกฎหมายและความยุติธรรม ผู้กระทำความผิดรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเลือกตั้ง แม้จะหนึ่งคน หากเป็นหัวหน้าหรือกรรมการบริหารพรรค หรือไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด แต่รู้เห็น แต่ไม่ยับยั้ง ให้ กกต. ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณามีคำสั่งยุบพรรคนั้นได้ ซึ่งเลขาธิการ กกต. ยอมรับ แต่ตอบโต้ว่า เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เช่นนั้น กกต. ไม่มีทางเลือก ต้องทำตาม
จำได้ว่า ในช่วงนั้นมีคนวิพากษ์วิจารณ์หลักการยุบพรรคการเมืองกันอย่างกว้างขวาง เมื่อคดียุบพรรคชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตย กำลังเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ และคดียุบพรรคพลังประชาชนจะตามติดมา ผมคาดว่า กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ หรือคัดค้านการยุบพรรค คงจะสูงขึ้นอย่างแน่นอน เพราะหากการยุบพรรคการเมืองเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย คงไม่มีกระแสดังกล่าวมากนัก และผู้คนทั้งหลายคงจะทำใจยอมรับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญได้บ้าง เหมือนคดียุบพรรคไทยรักไทย แต่คดียุบพรรคการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เป็นแผนทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ที่มีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน เพื่อทำลายฝ่ายประชาธิปไตย ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ
โดยเฉพาะมุ่งขจัดพรรคพลังประชาชนออกไป โดยในช่วงการเลือกตั้ง ให้คนไปกล่าวหาและร้องเรียนต่อ กกต. ว่าพรรคพลังประชาชนเป็นนอมินีของพรรคไทยรักไทย ต่อมา พากันคัดค้านมิให้พรรคนี้จัดตั้งรัฐบาล พอเป็นรัฐบาล ก็เรียงหน้าออกมาโจมตีไม่เว้นแต่ละวัน สุดท้าย พันธมิตรฯ ก็ระดมคนมาชุมนุม เดินขบวนขับไล่ และฟ้องร้องคดีคณะรัฐมนตรีบ้าง รัฐมนตรีบ้าง ต่อศาลสูงต่างๆ ซึ่งฝ่ายประชาธิปไตยส่วนใหญ่ก็มองออก
เมื่อเป็นเช่นนี้ ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องยืนหยัดคัดค้านการยุบพรรคการเมือง ทั้งในทางทฤษฎีและการเมือง โดยร่วมกันแสดงความคิดเห็นให้เป็นประชามติคัดค้านการยุบพรรคการเมืองทั่วไป และพรรคการเมืองทั้งสอง ผมขอเรียกร้องผู้นำ กรรมการ ผู้ปฏิบัติงาน และสมาชิกพรรคดังกล่าว ให้ออกมาร่วมกันคัดค้านการยุบพรรคการเมืองอย่างเด็ดเดี่ยว อย่าคิดแต่ไปสู้คดีกันในศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น การต่อต้านการยุบพรรคการเมืองที่ได้ผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว คือ ร่วมกันเสนอญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 อย่างเร่งด่วน อย่ากลัวอีกฝ่ายจะโจมตีว่าทำเพื่อตนเอง เพราะฝ่ายนั้นก็ทำเพื่อตัวเองเช่นกัน ทำเพื่อกลับไปมีอำนาจทางการเมืองอีกครั้ง หลังจากไม่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว
แน่นอน การคัดค้านการยุบพรรคการเมืองในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมยากลำบากมากขึ้น ดีไม่ดีอาจเข้าข่ายกดดันศาล หรือกระทั่งละเมิดอำนาจศาล ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องทำอย่างระมัดระวัง และรอบคอบที่สุด
จรัล ดิษฐาอภิชัย