หลังจาก นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี งดแสดงความคิดเห็นกรณี นายนพดล ปัทมะ ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพื่อแสดงความรับผิดชอบผลการตัดสินของคณะกรรมการมรดกโลกให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกตามข้อเสนอของกัมพูชาในการประชุมที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดานั้น
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "สนทนาประสาสมัคร" ว่า กรณี นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนั้น ตนไม่มีวันรุกล้ำก้ำเกินศาล ทั้งหมดที่เกิดก็เพราะคำตัดสินของท่าน แต่เราก็มีสิทธิที่จะอธิบายว่า อะไรเกิดขึ้น เมื่อเกิดเหตุนี้ตนก็ค่อยๆ คิด เขมรเขาได้ตัวปราสาทไป ใครเกิดไม่ทัน ไม่รู้ว่าไทยแพ้คดีที่ศาลโลก ก็ออกมาแหกปาก จะเอาคืน เขาก็จะเอาปราสาทไปขึ้นทะเบียน รัฐบาลที่แล้วก็รู้ เมื่อเขมรยื่น เราก็ค้าน ว่าจะต้องยื่นร่วม แต่เขมรก็ไม่ยอม ตนไปเยี่ยมนายกฯ ฮุนเซน ก็เอาเรื่องนี้มาประชุม ก็ว่าจะต้องขึ้นด้วยกัน พอไปประชุมที่เวียงจันทน์ เจอนายกฯ ฮุนเซน ก็พูดกันอีก ท่านก็ว่ามีทางออกแล้ว ท่านจะขึ้นทะเบียนเฉพาะปราสาท เราก็ว่าต้องเจรจาความกัน ก็ไปประชุมที่ปารีส เป็นการปฏิบัติของกระทรวงการต่างประเทศ เขาทำ คุณนิตย์ก็ไปทำทางโน้น ทางนี้เราก็ทำไป ก็ขีดเส้นรอบปราสาท ยูเนสโกก็เป็นพยาน
นายสมัคร กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่มีผู้กล่าวหาว่ารีบร้อนนั้น เพราะวันที่ 2 กค.เขาจะพิจารณาอยู่แล้วพอดำเนินการเสร็จก็มีการเอาเรื่องนี้เข้าอภิปรายในสภา หาว่ารัฐมนตรีผิดกฎหมาย มาตรา190 ให้ไปดูคำวินิจฉัย 8 ต่อ 1 หนึ่งที่ไม่เห็นด้วยนั้น เป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศเก่า เมื่อนายนพดล ลาออก ก็จะถอดถอน นายนพดล และจะดำเนินคดีอาญา เอาให้ติดคุก หรือประหารชีวิต มันมีความคิดหรือไม่ อะไรกันนักหนา ปชป.คิดได้แค่นี้หรือ
สมัยที่นายชวน เป็นนายกฯ ปี 2540 ที่เกิดวิกฤติ ต้มยำกุ้ง รัฐบาลต้องให้ไอเอ็มเอฟเข้าช่วยขอกู้เพื่อมาแก้สถานการณ์ จนต้องเอาประเทศไปจำนำ เขาก็มีข้อแม้ว่าต้องแก้กฎหมาย 15 ฉบับ แก้ไปแล้ว 11 ฉบับ ที่เขาเรียกว่ากฎหมายขายชาติ นายชวนก็ถามศาลรัฐธรรมนูญว่า ต้องเอาเข้าหรือไม่ ศาลก็ว่าไม่ต้อง พวกนี้โชคดี พวกตนไม่มีอะไรเลยก็ถูกตัดสิน มันเวรกรรมอะไรที่ตนต้องมานั่งตรงนี้ ตนไม่วิจารณ์ศาล เพราะมีการเขียนกฎหมายใส่พานไว้ให้ท่าน
ด้าน นายพิษณุ สุวรรณชฏ รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก แถลงถึงมติคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 32 ที่ระบุในข้อ 14 ให้มีการร้องขอให้รัฐภาคีกัมพูชา โดยการประสานงานกับยูเนสโก ให้จัดการประชุมคณะกรรมการประสานระหว่างประเทศ (International coordinating committee : ICC) เพื่อรักษาและพัฒนาทรัพย์สินภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2009 โดยเชิญรัฐบาลไทยและหุ้นส่วนระหว่างประเทศอีกไม่เกิน 7 ประเทศหรือองค์กร เพื่อตรวจสอบนโยบายทั่วไปเกี่ยวกับการรักษาคุณค่าอันเป็นสากลของทรัพย์สิน
โดยสอดคล้องกับมาตรฐานการอนุรักษ์สากลว่า แนวทางการจัดตั้ง ICC เป็นเจตนารมณ์ของคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งเปิดโอกาสให้ไทยมีส่วนร่วมเข้าไปให้ความช่วยเหลือบูรณปฏิสังขรณ์และพัฒนาปราสาทเขาพระวิหาร ขณะเดียวกันให้ไทยตรวจสอบนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนา เพื่อจะเป็นการรักษาสิทธิที่ไทยพึงได้รับในอนาคต
นายพิษณุ กล่าวว่า ในมติคณะกรรมการมรดกโลกระบุชัดเจนว่า ไม่ได้บังคับฝ่ายไทยให้เข้าร่วม แต่ร้องขอให้กัมพูชาเชิญไทยเข้าใน ICC ส่วนไทยจะเข้าร่วมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาใคร่ครวญถึงผลประโยชน์หากไทยเข้าร่วมหรือไม่ ทั้งนี้ได้มีการรายงานให้รัฐบาล ทราบถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก และการดำเนินงานของฝ่ายไทยทั้งหมดเป็นระยะๆ จึงเข้าใจว่า สาธารณชนและรัฐบาลจะมีการรับรู้ในเรื่องดังกล่าวชัดเจนขึ้น
“ในแง่ทรรศนะของกระทรวงการต่างประเทศต่อการเข้าร่วม ICC หรือไม่ ผมคิดว่า ถ้าไทยเข้าไปร่วมด้วยก็มีสิทธิที่จะรับรู้และแสดงความคิดเห็นต่อการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ หากมีการล่วงล้ำอธิปไตยของไทย เราก็จะสามารถดำเนินการคัดค้านตามช่องทางปกติได้ทันท่วงที หรือใช้ช่องทางการทูตแสดงความเห็นก็ได้” นายพิษณุกล่าว
นายพิษณุ กล่าวด้วยว่า ส่วนอำนาจหน้าที่ของ ICC เป็นเรื่องของการตรวจสอบนโยบายทั่วไป ในการคุ้มครองและรักษาคุณค่าอันเป็นสากลของปราสาทเขาพระวิหาร ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ใดๆ ที่นอกเหนือจากที่มีการระบุในข้อ 9 ที่ว่า เฉพาะเพียงปราสาทเขาพระวิหารไม่รวมชะง่อนเขาที่มีพื้นที่กว้าง หน้าผาหรือถ้ำต่างๆ
นายพิษณุ กล่าวอีกว่า ส่วนมติของคณะกรรมการมรดกโลกที่ระบุให้กัมพูชาส่งเอกสารเป็นแผนที่ชั่วคราว แผนที่กำหนดขอบเขตของเขตกันชน และรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการเตรียมแผนบริหารจัดการภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งในส่วนของไทยคงต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด คงไม่อาจตอบได้ว่าเมื่อไร
“เป็นเรื่องทางเทคนิคของคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งในมติข้อ 15 ได้มีการระบุข้อร้องขอให้กัมพูชาต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เกี่ยวกับแผนบริหารจัดการ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ เมื่อมีการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ผู้แทนไทยจากทุกฝ่ายได้มีถ้อยแถลงคัดค้านและไม่สามารถสนับสนุนข้อมติทั้งหมดของคณะกรรมการมรดกโลก รวมทั้งไม่รับรองเอกสารทั้งหมดที่ได้ประกอบการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ฉะนั้นหลังจากนี้คงเป็นเรื่องภายในฝ่ายไทยต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไปในอนาคต”
ด้าน พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อระดมความคิดในการกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่ทับซ้อน กรณีปราสาทเขาพระวิหาร ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ซึ่งมีนักวิชาการ ข้าราชการ และทหารร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นกันยาวนานเกือบ 7 ชั่วโมง ว่า มีข้อเสนอให้กระทรวงการต่างประเทศเตรียมข้อมูล ข้อคิดเห็นของฝ่ายไทยให้พร้อมก่อนที่กัมพูชาจะส่งข้อมูลให้คณะกรรมการมรดกโลกในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 รวมถึงให้หารือกับฝ่ายกัมพูชาว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่หากจะมีการล้อมรั้วบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร
สำหรับพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า คนไทยคงจะไม่ยอมสูญเสียพื้นที่ในส่วนนี้แน่นอน ส่วนที่มีชาวกัมพูชามาตั้งรกรากนั้นฝ่ายทหารจะเร่งดำเนินการผลักดันออกไปจากพื้นที่ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ
ส่วนกรณีของ พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ได้มีการทำหนังสือตักเตือนไปแล้ว
ขณะเดียวกันด้านการชุมนุมของคนไทยตามแนวชายแดนก็มีการขยับเข้าไปใกล้แหล่งที่คนกัมพูชาค้าขายทุกขณะ และส่อว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์รุนแรง
เพื่อไทย
Monday, July 14, 2008
เล่นจนเป็นเรื่องชายแดนเครียดแห่ไล่คนกัมพูชา
"สมัคร" ชี้แจงกรณีเขาพระวิหาร “นพดล ปัทมะ” ไม่ได้ดำเนินการเพียงคนเดียว แต่ทำงานร่วมกันทั้งเจ้าหน้าที่ ก.ต่างประเทศ ทหาร แต่สุดท้ายนายนพดล โดนต่อว่าต่อขานและถูกเล่นงานอย่างหนัก ด้าน “บัวแก้ว” แนะไทยเข้าร่วม "ICC" รักษาประโยชน์ใน"พระวิหาร" ส่วนกรณี “ปฐมพงษ์” บุญสร้างยันมีหนังสือเตือนไปแล้ว ด้านชายแดนส่อบานปลาย