11 ความคิดเห็นของฝรั่งที่มีต่อการทำงานของคนไทย
จาก log in ที่ใช้นามว่า ลอนดอนอาย เวปไซด์ เด็กดี ดอทคอม
http://www.dek-d.com/board/view.php?id=1234007
1.ทัศนคติต่อการเปลี่ยนแปลง
คนไทยมักจะยึดติดกับความเคยชินแบบเดิมๆ เคยทำมาอย่างไรก็จะทำอยู่อย่างนั้น ไม่ค่อยมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลง และถ้าฝรั่งเอาวิธีใหม่ๆ เข้ามาทำให้พวกเขาต้องทำอะไรที่ต่างไปจากเดิม ก็จะถูกมองว่าเป็นการสร้างความรำคาญให้พวกเขา มักจะไม่ค่อยได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่หรือไม่ก็ถึงกับถูกต่อต้านก็มี
(เจฟฟรีย์ บาร์น)
2. การโต้แย้ง
เมื่อมีการเจรจา คนไทยจะไม่กล้าโต้แย้งทั้งๆ ที่ตัวเองกำลังเสียเปรียบ ส่วนใหญ่มักจะปล่อยให้อีกฝ่ายเป็นคนคุมเกม บางคนบอกว่ามีนิสัยอย่างนี้เรียกว่า “ขี้เกรงใจ” แต่สำหรับฝรั่งแล้ว นิสัยนี้จะทำให้คนไทยไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
(ทานากะ โรบิน (จูเนียร์) ฟูจฮาระ)
3.ไม่พูดสิ่งที่ควรพูด
เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของคนไทยคือ มักจะไม่ค่อยกล้าบอกความคิดของตัวเองออกมาทั้งๆ ที่คนไทยก็มีความคิดดีไม่ไม่แพ้ฝรั่งเลย แต่มักจะเก็บความสามารถไว้ ไม่บอกออกมาให้เจ้านนายได้รู้ และจะไม่กล้าตั้งคำถาม บางทีฝรั่งก็คิดว่าคนไทยรู้แล้วเลยไม่บอกเพราะเห็นว่าไม่ถามอะไร ทำให้ทำงานกันไปคนละเป้าหมาย หรือทำงานไม่สำเร็จ เพราะคนที่รับคำสั่งไม่รู้ว่าถูกสั่งให้ทำอะไร
(ไมเคิล วิดฟิล์ค)
4. ความรับผิดชอบ
- ฝรั่งมองว่าคนไทยเรามักทำไม่ค่อยกำหนดระยะเวลาในการทำงานไว้ล่วงหน้า ทั้งๆทีงานบางชิ้นต้องทำให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดยิ่งงานไหนให้เวลาในการทำงานนานก็จะยิ่งทิ้งไว้ทำตอนใกล้ๆ จะถึงกำหนดส่ง เลยทำงานออกมาแบบรีบๆ ไม่ได้ผลงานดีเท่าที่ควร
- ไม่ค่อยยอมผูกพันและรับผิดชอบเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าให้เซ็นชื่อรับผิดชอบงานที่ทำคนไทยจะกลัวขึ้นมาทันที เหมือนกับกลัวจะทำไม่ได้ หรือกลัวจะถูกหลอก
(สเตฟานี จอห์นสัน)
5. วิธีแก้ไขปัญหา
คนไทยไม่ค่อยมีแผนการรองรับเวลาเกิดปัญหา แต่จะรอให้เกิดก่อนแล้วค่อยหาทางแก้ไปแบบเฉพาะหน้า หลายครั้งที่ฝรั่งพบว่าคนไทยไม่รู้จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไรต้องรอให้เจ้านายสั่งลงมาก่อนแล้วค่อยทำตามถ้านายเจ้านายไม่อยู่ทุกคนก็จะประสาทเสียไปหมด
(ดร.มาเรีย โรเซนเบิร์ก)
6.บอกแต่ข่าวดี
คนไทยมีความเคยชินในการแจ้งข่าวที่แปลกมาก คือ
- จะไม่กล้าบอกผู้บังคับบัญชาชาวต่างชาติเมื่อเกิดปัญหาขึ้น จนกระทั่งบานปลายไปเกินแก้ไขได้จึงค่อยเข้ามาปรึกษา
- จะเลือกบอกแต่สิ่งที่คิดว่าเจ้านายจะชอบ เช่น บอกแต่ข่าวดีๆ แทนที่จะเล่าไปตามความจริงหรือถ้าหากเจ้านายถามว่า จะทำงานเสร็จทันเวลาไหม ก็จะบอกว่าทัน (เพราะรู้ว่านายอยากได้ยินแบบนี้) แต่ก็ไม่เคยทำทันตามเวลาที่รับปากเลย
(โจนาธาน ธอมพ์สัน)
7. คำว่า “ไม่เป็นไร”
เป็นคำพูดที่ติดปากคนไทยทุกคน ทำให้เวลามีปัญหา ก็จะไม่มีใครรับผิดชอบ และจะไม่ค่อยหาตัวคนทำผิดด้วยเพราะเกรงใจกัน แต่จะใช้คำว่า “ไม่เป็นไร” มาแก้ปัญญหาแทน
(เจนิส อิกนาโรห์)
8. ทักษะในการทำงาน
- ไม่สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ ถ้าทำงานเป็นทีมมักมีปัญหาเรื่องการกินแรงกันบางคนขยันแต่บางคนไม่ทำอะไรเลย บางทีก็มีการขัดแย้งกันเองในทีม หรือเกี่ยงงานกันจนผลงานไม่คืบหน้า
- ไม่ค่อยมีทักษะในการทำงาน แม้จะผ่านการศึกษาในระดับสูงมาแล้ว และไม่ค่อยใช้ความพยายามอย่างเต็มทีเพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด
- พนักงานชาวไทยที่รู้จัก ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้สึกกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เรื่องราวความเคลื่อนไหวของโลกเท่าไรนัก แล้ไม่ค่อยชอบหาความรู้เพิ่มเติมแม้จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับงานก็ตาม
(เดวิด กิลเบิร์ก)
9. ความซื่อสัตย์
พนักงานคนไทยควรจะมีความซื่อสัตย์และตรงไปตรงมามากกว่านี้ หลายครั้งที่ชอบโกหกในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น มาสาย ขาดงานโดยอ้างว่าป่วย ออกไปข้างนอกในเวลางาน
(เฮเบิร์ก โอ ลิสส์)
10. ระบบพวกพ้อง
คนไทยมักจะนำเพื่อนฝูงมาเกี่ยวข้องกับธุรกิจเสมอ ผมไม่เคยชอบวิธีนี้เลย ตัวอย่างเช่น การจัดซื้อข้าวของภายในสำนักงาน พวกเขามักจะแนะนำเพื่อนๆ มาก่อนโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ที่บริษัทควรจะได้รับ นี่เป็นประสบการณ์จริงที่ประสบมา การให้ความช่วยเหลือเพื่อนไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การที่ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทเลยเป็นอะไรที่แย่มาก และเมื่อพบว่าเพื่อนพนักงานด้วยกันทุจริต คนไทยก็จะช่วยกันปกป้อง และทำให้ไม่รู้ไม่เห็นจนกว่าผู้บริหารจะตรวจสอบได้เอง
(มาร์ค โอเนล ฮิวจ์)
11. แยกไม่ออกระหว่างเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัว
คนไทยมักจะไม่รู้ว่าอะไรว่าอะไรคือเรื่องงาน และอะไรที่เรียกว่าเรื่องส่วนตัว พวกเขาชอบเอาทั้งสองอย่างนี้มาปนกันจนทำให้ระบบการทำงานเสียไปหมด ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งขององค์กร
- ชอบสอดรู้สอดเห็น โดยเฉพาะเรื่องส่วนตัวของเพื่อนร่วมงาน
- มักจะคุยกันเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับงานมากเกินไป บางครั้งทำให้บานปลายและนำไปสู่ข่าวลือ และการนินทากันภายในสำนักงาน
- มักจะลาออกจากบริษัทโดยไม่ยอมแจ้งล่วงหน้าตามข้อตกลง แต่กลับคาดหวังว่าจะได้รับผลประโยชน์เต็มที่
- ไม่ยอมรับความผิดชอบที่มีมากขึ้นในช่วงวิกฤติ
- ต้องการเงินมากขึ้นแต่กลับไม่ค่อยสร้างคุณค่างานอะไรเพิ่มขึ้นเลย
(วิลเลี่ยม แมคคินสัน)