โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
17 มีนาคม 2552
วันที่ 17 มีนาคม เป็นวันครบรอบ 360ปี แห่งการประกาศสาธารณรัฐในอังกฤษ ในวันนั้น ในปี 1649 ไม่กี่วันหลังจากที่จับกษัตริย์ชาร์ลสที่หนึ่งมาตัดหัว รัฐบาลสาธารณรัฐภายใต้แกนนำของประธานาธิบดี Oliver Cromwell แถลงว่า
“ตำแหน่งกษัตริย์เป็นสิ่งไม่จำเป็น เป็นภาระทางสังคม และเป็นภัยต่อเสรีภาพ ความปลอดภัย และผลประโยชน์ของประชาชน”
การประกาศสาธารณรัฐเกิดขึ้นหลังการปฏิวัติทุนนิยมและสงครามกลางเมือง ท่ามกลางการต่อสู้นี้ฝ่ายต้านกษัตริย์เริ่มเข้าใจว่าต้องประหารชีวิตกษัตริย์ เพราะเขาจะไม่ยอมเลิกสู้ถ้าปล่อยไป
นักเขียนคนสำคัญที่อธิบายเหตุผลและความชอบธรรมในการประหารกษัตริย์คือ John Milton ซึ่งเป็นคนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการเขียนและการแสดงออกในยุคนั้น และต่อมาเขาได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอังกฤษในสาธารณรัฐใหม่
แต่ฝ่ายสาธารณรัฐในการปฏิวัติทุนนิยมอังกฤษมีสองซีก คือซีกชนชั้นระดับกลางที่ประกอบไปด้วยนายทุนอย่าง Cromwell และซีกที่เป็นคนยากจน พวกหลังนี้จัดตั้งหลวมๆ ในองค์กรชื่อ Levellers ท่ามกลางการปฏิวัติจึงเกิดการถกเถียงว่าควรจะนำไปสู่ประชาธิปไตย “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” หรือไม่ และควรแจกจ่ายที่ดินให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมหรือไม่ ในที่สุดฝ่ายคนจนแพ้ และหลังจากที่ประธานาธิบดี Cromwell ตาย ฝ่ายนายทุนก็ได้นำกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สองกลับมา แต่กลับมาในรูปแบบประมุขของนายทุน ทั้งนี้เพื่อยับยั้งการต่อสู้เพื่อคนจน
ประมาณหนึ่งร้อยปีต่อมาเกิดการปฏิวัติทุนนิยมในฝรั่งเศสในปี 1789 และกษัตริย์ฝรั่งเศสและราชวงศ์ถูกประหารหมด ด้านซ้ายของรัฐสภาใหม่เป็นที่นั่งของพวกที่เข้าข้างคนจน ส่วนซีกขวาของรัฐสภาเป็นที่นั่งของนายธนาคารและนายทุน ท่ามกลางกระแสการปฏิวัติ มีนักเขียนและนักเคลื่อนไหวชาวอังกฤษชื่อ ทอมมัส เพน เขียนหนังสือ The Rights of Man เพื่อยืนยันความสำคัญของสิทธิมนุษยชน และวิจารณ์ระบบกษัตริย์ที่ถ่ายทอดอำนาจทางสายเลือด
ทอมมัส เพน คือปัญญาชนของการปฏิวัติอเมริกา 1776 และมีส่วนร่วมในการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 เขาเกิดในครอบครัวคนจนที่เมือง Thetford, Norfolk ในประเทศอังกฤษเมื่อปี 1737 เมื่อจบการศึกษาขณะที่อายุเพียง 13 ปี เพน ต้องออกไปทำงาน หนังสือเล่มแรกที่มีชื่อเสียงของ เพน คือ Common Sense (“ปัญญาสามัญ” เขียนในปี 1776) ซึ่งเสนอเหตุผลว่าทำไมอเมริกาควรเป็นประเทศอิสระจากอังกฤษ ในไม่ช้าเล่มนี้กลายเป็นหนังสือสำคัญของการปฏิวัติอเมริกา
หนังสือ The Rights of Man (“สิทธิมนุษยชน”) เพน เขียนเป็นสองตอนระหว่างปี 1791-1792 หนังสือเล่มนี้เป็นการปกป้องความก้าวหน้าดีงามของการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 เพื่อโต้ตอบคำวิพากษ์วิจารณ์ของนักเขียนปฏิกิริยาในอังกฤษชื่อ Edmund Burke หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือต้องห้ามในอังกฤษ การทำให้เป็นหนังสือต้องห้ามโดยรัฐบาลอังกฤษมีผลทำให้ผู้รักความเป็นธรรมในขบวนการแรงงานอังกฤษและในสังคมทั่วไปพยายามแสวงหาเล่มนี้ กลุ่มผู้ใช้แรงงานบางคนจะแอบซื้อเล่มนี้ทั้งๆ ที่อ่านหนังสือไม่ออก แล้วจะตั้งวงเพื่อให้คนอื่นอ่านให้ฟัง
เพน เสนอในหนังสือ Rights of Man ว่า ในโลกเรามักพบสองรูปแบบของการปกครองคือ หนึ่ง การปกครองตามระบบเลือกตั้งและระบบผู้แทน ซึ่งเรียกว่าระบบสาธารณรัฐ และสอง การปกครองของผู้สืบทอดอำนาจทางสายเลือด ซึ่งเรียกกันว่าระบบกษัตริย์หรือขุนนาง การปกครองสองรูปแบบนี้ยืนอยู่บนพื้นฐานที่ตรงกันข้าม คือพื้นฐานการใช้สติปัญญากับพื้นฐานความโง่
เนื่องจากการบริหารสังคมต้องการความสามารถและฝีมือ และเนื่องจากความสามารถและฝีมือไม่สามารถสืบทอดผ่านสายเลือดได้ง่ายๆ เราจะเห็นได้ว่าระบบการปกครองที่อาศัยการสืบทอดสายเลือดมีความจำเป็นที่จะให้มนุษย์ยึดมั่นในความเชื่อที่ปราศจากการใช้สติปัญญา คือดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์จมอยู่กับความโง่ ดังนั้นเมืองไหนประเทศไหนเต็มไปด้วยความโง่ เมืองนั้นมีความเหมาะสมที่จะใช้ระบบสืบทอดการปกครองโดยสายเลือด แต่บรรยากาศของสาธารณรัฐย่อมนำไปสู่การพัฒนาความกล้าในการนึกคิดและกระทำที่ได้แต่สร้างศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
สำหรับ เพน การเสนอว่า "กษัตริย์ย่อมกระทำผิดมิได้" เป็นการผลักดันให้กษัตริย์ดำรงอยู่ในสถานภาพเช่นเดียวกับคนปัญญาอ่อน หรือคนบ้าที่ไร้สติ เพราะไม่สามารถรับผิดชอบกับสิ่งที่ตนกระทำได้ ระบบสืบทอดตำแหน่งทางสายเลือดเป็นระบบที่ลดคุณค่าของผู้ถือตำแหน่งเอง เพราะเป็นการเสนอว่าใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือคนปัญญาอ่อนสามารถทำหน้าที่นี้ได้ ถ้าเปรียบกับช่างซ่อมเครื่องจักรแล้ว การเป็นช่างย่อมใช้ความสามารถและฝีมือ แต่การเป็นกษัตริย์แค่อาศัยร่างสัตว์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่ามนุษย์ (to be a King requires only the animal figure of man) ในที่สุดแนวความคิดแบบนี้ที่อาศัยความงมงายน่าจะดับสูญหายไปในยุคแห่งการใช้เหตุผล
เพน อธิบายอีกว่า ไม่มีสภาผู้แทนไหน กลุ่มคนใด หรือมนุษย์ในเมืองอะไร ที่มีสิทธิจะกำหนดหรือสั่งการในลักษณะการบังคับมัดสังคมชั่วนิรันดร์ตลอดกาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการปกครอง หรือเกี่ยวกับว่าใครจะเป็นผู้ปกครอง ดังนั้นคำประกาศใดๆ หรือมาตรากฏหมายรัฐธรรมนูญใดๆ ย่อมไม่มีน้ำหนักและความชอบธรรมในเมื่ออาศัยสิทธิอันไม่ชอบธรรมดังกล่าวในการออกคำประกาศหรือกฏหมาย ทุกยุค ทุกรุ่น ต้องมีเสรีภาพในการปฏิบัติในทุกเรื่อง มนุษย์รุ่นหนึ่งไม่มีสิทธิ์ในการครอบครองชีวิตของคนรุ่นต่อไป คนที่มีชีวิตอยู่คือผู้ที่เราควรจะเคารพรับฟัง ไม่ใช่ซากศพคนรุ่นก่อน
เพน เสนอว่า การปฏิวัติฝรั่งเศส ไม่ใช่เป็นเพียงการกบฏต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แต่เป็นการปฏิวัติล้มหลักการปกครองเผด็จการของกษัตริย์ หลักการนี้ไม่ได้เริ่มต้นที่กษัตริย์คนนี้หรอก มันมีมานาน และพวกกาฝากทั้งหลายที่ติดพันกับระบบนี้มีหนาแน่นเกินไปที่จะกำจัดออกไปโดยวิธีอื่นนอกจากการปฏิวัติสังคมอย่างถ้วนหน้า การที่กษัตริย์ฝรั่งเศสปัจจุบันไม่ได้ชั่วร้ายอะไรหนักหนาไม่สำคัญ เพราะการมีระบบเผด็จการของกษัตริย์ก็เป็นโอกาสสำหรับรัชกาลต่อไปที่อาจโหดร้ายกว่า ที่จะเถลิงอำนาจ การพึ่งพาตัวบุคคลที่อาจมีคุณธรรมไม่ใช่หลักประกันการปกครองที่เป็นธรรม เพราะการละเว้นการใช้อำนาจอย่างป่าเถื่อนของบุคคลคนหนึ่งไม่ใช่สิ่งเดียวกับการยกเลิกระบบเผด็จการ
บ่อยครั้งมีคนบ่นว่าการปฏิวัติเป็นเรื่องป่าเถื่อนนองเลือด หรือมีการลงโทษฝ่ายพ่ายแพ้อย่างรุนแรงเป็นต้น นอกจากเรื่องนี้ไม่จริงเสมอไปแล้ว เราต้องมาพิจารณาว่าทำไมมนุษย์ถึงเลือกใช้ความโหดร้ายในการลงโทษ คำตอบสั้นๆ คือเขาเรียนรู้จากผู้ที่ปกครองเขา ดังนั้นถ้าการกบฏใดมีความโหดร้ายทารุณมันเพียงแต่เป็นการสะท้อนความโหดร้ายทารุณของระบบที่เคยปกครองเขา เราควรนำขวานมาฟันรากและโคนของปัญหา เราต้องสอนหลักมนุษยธรรมกับรัฐบาล ลองคิดดูสิรัฐบาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษหรือฝรั่งเศสล้วนแต่ใช้ความโหดร้ายในการประหารชีวิตคน ดังนั้นถ้าบ้านเมืองเรามีม็อบโหดร้ายป่าเถื่อนมันก็เพราะบ้านเมืองมีระบบการปกครองที่ปกพร่องโหดร้ายป่าเถื่อน แต่อย่าลืมว่าม็อบดังกล่าวเพียงแต่เป็นมวลชนผู้ตาม แต่การนำกระบวนการปฏิวัติส่วนใหญ่เต็มไปด้วยบุคคลที่มีความคิดก้าวหน้าเพื่อเสรีภาพและมนุษยธรรม
เพน เล่าต่อว่า ในอดีตมนุษย์มีลักษณะความเป็นมนุษย์อย่างเดียว ไม่มียศศักดิ์อะไรสูงหรือต่ำกว่านั้น ทุกทฤษฎีที่ว่าด้วยกำเนิดของมนุษย์ ไม่ว่าจะมาจากโลกที่มีการบันทึกด้วยลายลักษณ์อักษร หรือด้วยวาจา หรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้าหรือเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ ทุกทฤษฎีมีจุดร่วมสำคัญอันหนึ่งคือ มีการมองว่ามนุษย์เป็นหนึ่งอันเดียวไม่แตกต่างกัน คือมนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน ด้วยสิทธิตามธรรมชาติที่เท่าเทียมกัน ไม่มีมนุษย์ที่ไหนที่จะยอมอาสาเข้าไปร่วมในสังคมเพื่อที่จะมีฐานะเลวลงหรือมีสิทธิเสรีภาพน้อยกว่าสิทธิธรรมชาติอันนี้ การเข้าร่วมสังคมกระทำไปเพื่อให้มีการปกป้องสิทธิเสรีภาพธรรมชาติต่างหาก และสิทธิเสรีภาพธรรมชาติย่อมเป็นรากฐานของสิทธิพลเมืองในสังคม
ระบบขุนนางที่สืบทอดอำนาจหรือตำแหน่งทางสายเลือด ไม่ว่าจะในประเทศใด ล้วนแต่มีรากฐานมาจากการใช้กำลังทางทหารทั้งนั้น คือเป็นระบบเผด็จการทางทหารชนิดหนึ่งซึ่งจำเป็นต้องมีระบบสืบทอดอำนาจที่ชัดเจนและตัดส่วนแบ่งทางอำนาจจากสาขาต่างๆ หรือแขนงน้อยๆ ของครอบครัวเพื่อระดมอำนาจและทรัพย์สินไว้ส่วนกลาง กฎเกณฑ์ของระบบนี้ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับกฎธรรมชาติ และธรรมชาติกำลังเรียกร้องให้เรากำจัดสิ่งเพี้ยนๆ นี้ออกไปเสียที
ในประเทศที่อ้างว่ามีอารยะธรรม เมื่อเราเห็นคนแก่คนชราถูกทอดทิ้ง และเยาวชนถูกประหารชีวิต เราต้องสรุปว่าระบบการปกครองของประเทศนั้นมีปัญหา จากเปลือกภายนอกของสังคมเหล่านั้นที่ดูสงบเรียบร้อย เมื่อเราเจาะลึกลงไปจะเห็นความยากไร้ที่ไม่เปิดโอกาสใดๆ ให้คนยากจนนอกเหนือจากการตายในสภาพแบบนั้นหรือการถูกลงโทษ การปกครองที่มีคุณธรรมไม่ใช่การปกครองที่อาศัยโทษประหาร การปกครองที่มีคุณธรรมต้องบริการเยาวชนให้มีโอกาสเต็มที่ในการศึกษา และต้องดูแลคนแก่คนชราของสังคม ทำไมผู้ถูกลงโทษด้วยการประหารชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนจน? แค่ข้อมูลชิ้นนี้ชิ้นเดียวก็แสดงถึงความยากไร้ในสภาพชีวิตของเขา แน่นอนเขาก็ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมและระบบกฎหมายที่ป่าเถื่อน ในจำนวนเงินล้านๆ ที่ถูกนำมาใช้โดยรัฐบาล มีมากมายเหลือเฟือที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ที่ต้นเหตุเพื่อประโยชน์ของสังคม และเวลาเราพูดถึงปัญหาความยากจนแบบนี้เรากำลังพูดด้วยความห่วงใยเมตตาในเพื่อนมนุษย์และในเรื่องสิทธิมนุษยชน
ในการบริการสังคม เพน เสนอว่าเราต้องพูดถึงระบบการเก็บภาษี เวลาพูดถึงการเก็บภาษีคนส่วนใหญ่ชอบเสนอว่าควรเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย และการนิยามว่าอะไรฟุ่มเฟือย อะไรไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ค่อยมีเหตุผลหรือระบบเท่าไรนัก แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะฟุ่มเฟือยอย่างชัดเจนคือการถือครองที่ดินขนาดใหญ่ ดังนั้นควรมีการเก็บภาษีที่ดินจากผู้มีที่ดินมหาศาลเป็นประการแรก หลังจากนั้นก็ต้องมีการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า และการลดการถ่ายทอดสินทรัพย์ผ่านมรดก
แนวความคิดดังกล่าวและการต่อสู้ของนักประชาธิปไตยอังกฤษ กลายเป็นหลักประกันสำคัญเพื่อไม่ให้กษัตริย์อังกฤษในยุคนี้ ยุ่งหรือถูกลากลงมายุ่ง ในเรื่องการเมือง...
เพื่อไทย
Tuesday, March 17, 2009
17มีนา:วันสาธารณรัฐอังกฤษ
ที่มา Thai E-News