ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 10 มีนาคม มีมติมอบหมายให้สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดทำกรอบแนวคิดการประชาสัมพันธ์งานเฉลิมฉลอง 777 ปี ประเทศไทยในปี 2558
โดยให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ร่วมกันจัดทำแผนการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ
มติและแผนงานดังกล่าวได้รับเสียงวิจารณ์จากผู้รู้ผู้ศึกษาด้านประวัติศาสตร์ ว่าจะเป็นการตอกย้ำความเข้าใจผิดในเรื่องประวัติศาสตร์
ที่จะสร้างปัญหาทั้งภายในสังคมไทยด้วยกันเองและกับเพื่อนบ้าน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
เพราะสมมติฐานของการกำหนดให้ประเทศไทยมีอายุ 777 ปี ในอีก 6 ปีข้างหน้าย่อมหมายความว่า รัฐบาลมั่นใจในพยานหลักฐานว่า แรกสถาปนาประเทศไทยตรงกับ พ.ศ.1781
ซึ่งมาจากงานเขียนของศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ที่นับเอาพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นกษัตริย์องค์แรกในราชวงศ์พระร่วง แล้ว"สันนิษฐาน"ว่าครองราชย์ในราว พ.ศ.1781
ทั้งที่ดร.ประเสริฐเองก็เปิดกว้างให้มีการถกเถียงหาหลักฐานต่อไป โดยการใช้คำว่าสันนิษฐาน และใส่เครื่องหมายคำถามเอาไว้หลังปีพุทธศักราชที่ระบุ
และถึงแม้การสันนิษฐานของดร.ประเสริฐในกรณีนี้จะถูกต้อง ก็ยังมีข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นกษัตริย์องค์แรกของสุโขทัยหรือไม่ รวมทั้งสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของอาณาจักรไทยหรือไม่?
แต่ที่จะสร้างปัญหามากกว่าการถกเถียงหรือปีพุทธศักราช ก็คือนัยยะของประวัติศาสตร์แนวนี้
เพราะประวัติศาสตร์ที่ขาดการไต่สวนตรวจสอบให้รอบด้าน และเขียนขึ้นเพื่อตอบสนองจุดมุ่งหมายทางการเมือง เช่นให้คนไทยมีบรรพบุรุษที่อพยพมาจากมองโกเลียก็ดี หรือเมื่อย้ายมาถึงสุวรรณภูมิแล้วเป็นชาติมหาอำนาจเหนือกว่าใครในย่านนี้ก็ดี
เป็น"ประวัติศาสตร์บาดหมาง"ที่ไม่เพียงแต่ทำให้สังคมไทยมีทัศนคติที่ไม่ดี และความสัมพันธ์ที่มีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบมาตลอดเท่านั้น
แต่ยังทำให้เกิดปัญหาการแตกแยกในสังคมไทย เพราะประวัติศาสตร์มีทัศนคติที่เหยียดหยามเพื่อนร่วมชาติที่มิได้อยู่ในศูนย์กลางของอำนาจ หรือกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมความเชื่อต่างกันออกไป
มติที่มีแนวโน้มจะก่อปัญหา หรือว่าตอกย้ำทัศนคติที่ผิดๆเช่นนี้ต่อไป
ถ้ายกเลิกได้จะเป็นคุณอย่างยิ่ง