ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจวันแรกทำไปทำมาประเด็นใหญ่ กลายเป็นเรื่องของรัฐบาลกับอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เสียมากกว่า เพราะฝ่ายค้านแม้จะมีประเด็นในการซักฟอกอย่างที่ได้ยื่นญัตติเอาไว้นั้น
แต่ลงท้ายก็มาลงเอยเรื่องนี้แหละ...นั่นคือฝ่ายค้านจะระบุด้วยการเปรียบเทียบการทำงาน ผลงานและความไม่เป็นธรรมที่ พ.ต.ท. ทักษิณได้รับกับนายกฯอภิสิทธิ์ รัฐบาล กลุ่มเพื่อนเนวิน ทหารและพันธมิตรฯ
เป็นเกมการเมืองที่ลํ้าลึกต่อสู้กันระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ เป็นสงครามตัวแทน
ขณะเดียวกัน ก็พยายามเจาะความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปัตย์ ในฐานะแกนนำกับพรรคร่วมรัฐบาลคือยำทั้งคู่ และทำให้เกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจกัน
อย่างไรก็ดี คงต้องรอดูการอภิปรายต่อไปว่า จะมีอะไร มีนํ้าหนักแค่ไหนและจะลงมติออกมาอย่างไร ซึ่งจะมีผลต่อการเมืองในขั้นต่อไปอย่างแน่นอน
ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่าการเมืองจะยังเป็นตัวแปรสำคัญ ที่มีผลกระทบต่อประเทศโดยเฉพาะความขัดแย้งเก่าๆ ที่คงเล่นกันแบบเอาเป็นเอาตาย เอาแพ้-ชนะ
คือไม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องแพ้-ต้องชนะ ทุกอย่างจึงจะจบเพราะมันคือเป้าหมายใหญ่ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงเป็นเพียงการต่อสู้ด้วยระบบในสภา จึงเป็นเพียงซึ่งเป็นกระบวนท่าหนึ่ง หากไม่ เข้าเป้าก็ต้องมีมาตรการอื่นๆตามมา
อย่างการเลื่อนชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ที่นัดหมายกันใหม่หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นั่นก็คงเป็นอีกเป้าหมายหนึ่ง ที่จะเอาผลจากเปิดซักฟอกเป็นเงื่อนไข ด้วยการล้อมทำเนียบแล้วเอาประเด็นต่างๆมากดดันเพื่อให้รัฐบาลยุบสภา
เพราะคงประเมินแล้วในสถานการณ์ที่เป็นจริง รัฐบาลคงชนะโหวตในการซักฟอกครั้งนี้ เนื่องจากมีเสียงมากกว่า และคงไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลยกมือสวนหรือไม่ลงมติให้นายกฯ และรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย เนื่องจากโดนกันทุกพรรค
ดังนั้น การเมืองจากนี้ไปจะทำให้รัฐบาลสามัคคีกันมากขึ้น เพราะจุดยืนไม่ต่างกันคือตรงข้ามกับอดีตนายกฯ อนาคตการเมืองต่อไปมันก็อยู่ตรงนี้ที่จะต้องสู้กันจนกว่าจะถึงที่สุดคือแพ้-ชนะกันไปบ้าง
ยิ่งหากรัฐบาลชนะโหวตก็เท่ากับว่า เกมการต่อสู้ของอำนาจเก่าก็จะมีน้อยลง โดยเฉพาะเกมในสภา จึงมีความเป็นไปได้ว่าการเคลื่อนไหวนอกสภาจะต้องแรงและเข้มข้นมากกว่าที่ผ่านมา เพราะหากปล่อยให้รัฐบาลยื้อต่อไปได้
โอกาสจะแพ้ก็ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ
โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของพรรคเพื่อไทยในระบบ หากแพ้โหวตครั้งนี้ก็คงจะตีรวนไปเรื่อยด้วยประเด็นเล็กประเด็นน้อย ตอดให้ยุ่งวันต่อวัน แต่นํ้าหนักก็จะลดลงไปโดยปริยาย เพราะไม่สามารถหักรัฐบาลด้วยการซักฟอกซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด
ขณะเดียวกัน รัฐบาลแม้จะชนะแต่ก็ได้เห็นแล้วแม้เพียง 3 เดือน ในการเข้ามาบริหารประเทศ แต่ก็มีร่องรอยแห่งความผิดพลาด ร่อง รอยแห่งการบริหารที่ส่อไปในทางที่มิชอบหลายอย่าง ก้าวต่อไปนายกฯจะต้องบริหารและจัดการทั้งงาน การแก้ไขปัญหาต่างๆ
คือการบริหารคนหรือบรรหารรัฐมนตรีที่ทำงานร่วมกัน นอก จากจะต้องสร้างผลงานให้ปรากฏเพื่อให้ได้รับการยอมรับ เกิดความเชื่อมั่นทำให้เกิดเสถียรภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังในเรื่องการประพฤติมิชอบ การทุจริตคอรัปชัน
เพราะต้องเข้าใจว่า การต่อสู้ทางการเมืองลักษณะนี้มีการเกาะติดกันทุกดอก ข้อมูลต่างๆ และการตรวจสอบจะเข้มข้นและหนักหน่วง ชิงไหวชิงพริบกันไม่มีสิ้นสุด
เผลอเมื่อใดตายหยังเขียดแน่.
“สายล่อฟ้า”