ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลอีก 5 ราย มีแนวโน้มจะจบลงอย่างที่ฝ่ายค้านระบุไว้แต่แรกว่า ถึงที่สุดรัฐบาลก็จะสามารถเอาชนะไปได้ด้วยคะแนนเสียงในสภาที่มากกว่า
อย่างไรก็ดี มีข้อมูลหลักฐานหลายประการที่ฝ่ายค้านหยิบยกขึ้นมาอภิปราย ที่แม้รัฐบาลจะชี้แจงไปแล้วก็ยังคงมีบางประเด็นที่ติดค้างอยู่ในความรู้สึกของคนทั่วไป
อาทิ ข้อมูลของนายสุนัย จุลพงศธร ที่ชี้ปัญหาเรื่อง การจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนในกระทรวงศึกษาธิการ
แต่ที่สำคัญที่สุดก็ยังเป็นกรณีที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ระบุถึงช่องทางยักย้ายถ่ายเทเงิน
ไม่ว่าจะเป็นกรณีเงินจำนวน 263 ล้านบาทของบริษัท ทีพีไอ โพลีนฯ ที่ผ่านบริษัท เมซไซอะ และมีคนของพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
หรือจะเป็นความถูกต้องของเงินอุดหนุนพรรค การเมืองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ให้กับพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 23 ล้านบาท
ทั้งสองกรณีนี้ ในเรื่องแรกกรมสอบสวนคดีพิเศษมอบข้อมูลที่ดำเนินการสืบสวนมาเบื้องต้นให้กับกกต.ไปแล้ว ขณะที่ในเรื่องหลังกกต.อาจจะต้องรื้อ ฟื้นขึ้นมาตรวจสอบใหม่ให้ข้อครหาและความแคลง ใจหมดหรือลดลงไป
ไม่แต่เพียงเท่านั้น หน่วยงานที่ถูกระบุว่ามีส่วนเชื่อมโยงอื่นๆ อาทิ กรมสรรพากร หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
จะต้องเข้ามาร่วมดำเนินการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส
เมื่อยืนยันในความบริสุทธิ์ของตนเองอย่างหนักแน่นมั่นคง พรรคประชาธิปัตย์ย่อมไม่น่าจะมีปัญหาหรือเกรงกลัวการตรวจสอบ
ในทางตรงกันข้ามกลับยิ่งจะต้องเป็นผู้เชื้อเชิญให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ เร่งเข้ามาพิสูจน์ความจริง เพื่อขับความเป็นทองแท้ของตนให้กาววาวยิ่งขึ้น
ผลของการตรวจสอบอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะออกมาอย่างไรก็ตามที มีแต่จะเป็นผลดีมากกว่าผลเสียสำหรับคนส่วนใหญ่ในสังคม
เพราะเป็นการให้หลักประกันกับประชาชนว่า จะมีการบังคับใช้กฎหมายกับทุกคนทุกกลุ่มในสังคมไทยอย่างเสมอหน้า
ประโยชน์สูงสุดของการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล มิใช่อยู่ที่ฝ่ายค้านจะสามารถล้มล้างรัฐบาลได้หรือไม่
แต่อยู่ที่ประชาชนได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นบ้าง