อภิสิทธิ์พูดที่ Oxford: คำโกหก คำแก้ตัว และการบิดเบือนความจริง
โดย ใจ อึ้งภากรณ์
คำพูดของอภิสิทธิ์ที่ออคซ์ฟอร์ดเต็มไปด้วยคำโกหกหลอกลวงและคำแก้ตัว แต่ทั้งๆที่เขามั่นใจคิดว่าคนทั่วโลกโง่ คนไทยส่วนใหญ่และคนต่างประเทศที่เข้าใจการเมืองไทยไม่มีวันเชื่ออะไรที่ออกมาจากปากเขา อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นคือนักวิชาการหอคอยงาช้างสองคน คืออธิการบดีออคซ์ฟอร์ดและประธาน St John’s College ที่ชมว่าอภิสิทธิ์เป็น “นักประชาธิปไตย” และสมุนเกณฑ์ของสถานทูตไทยหลายคน ที่พร้อมจะเชื่อทุกอย่างที่เจ้านายสั่งมา สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือทางรัฐบาลไทยกลัวประชาชนมาก มีการกีดกันคนไทยธรรมดาที่อยากเข้าไปตั้งคำถามจำนวนมาก
อภิสิทธิ์โกหกว่าเขาได้รับการ “เลือกตั้งมาเป็นนายก” และอวดว่าตนเองเป็น “ผู้ปกป้องประชาธิปไตยไทย” แต่กระนั้นเขายังยืนยันว่าต้องมีกฎหมายหมิ่นฯ “เพื่อปกป้องความมั่นคงของประเทศ” และมองว่าผมควรถูกลงโทษจากการเขียนหนังสือวิจารณ์รัฐประหาร 19 กันยา “เพราะไปดูหมิ่นกษัตริย์” เมื่อถูกถามว่าหมิ่นตรงไหนในหนังสือ อภิสิทธิ์บอกว่าจำไม่ได้ ทั้งๆ ที่อ้างว่าอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว เลยแก้ตัวว่ามีคนเล่าให้ฟังว่าหมิ่น นอกจากนี้อภิสิทธิ์พูดว่าคดีคุณโชติศักดิ์ได้ยกเลิกไปแล้ว และการจับคุมผู้บริหารประชาไทเป็น “ความผิดพลาดของตำรวจ” ซึ่งเขาได้ “เคลียร์เรื่องนี้” โดยการโทรศัพท์ไปหาผู้บริหารประชาไทแล้ว หลังจากนั้นอภิสิทธิ์อ้างว่าแกนนำพันธมิตรที่ยึดสนามบินจะโดนคดีแน่ๆ และนายพลที่มีส่วนในการฆ่าคนที่ตากใบจะถูกลงโทษอีกด้วย หลังจากที่เราเอาเขาออกจากตำแหน่งอภิสิทธิ์ควรหากินเป็นนักแสดงตลก มั้ง?
ทั้งๆที่อภิสิทธิ์ขี่ขลาดไม่ยอมรับคำท้าของผมเพื่อโต้วาทีสดในรายการโทรทัศน์ไทย เขาหน้าด้านกล่าวหาผมว่าหนีคดีที่เมืองไทย โดยเสนอว่าศาลมีความยุติธรรม เขาพูดต่อว่า “อย่าดึงกษัตริย์มาในเรื่องการเมือง” แต่คงไม่กล้าพูดอย่างนี้กับเจ้านายของเขาในกองทัพหรือในพันธมิตรฯ ผมจึงแสดงความเห็นว่าทั้งอภิสิทธิ์และกษัตริย์ไทยอ่อนแอและไร้อุดมการณ์ประชาธิปไตย ในขณะที่เจ้านายแท้ของสังคมคือทหาร
ประชุมเสื้อแดงที่ Oxford
ในการประชุมเสื้อแดงที่ออคซฟอร์ดในช่วงบ่าย คนเสื้อแดงในอังกฤษยืนยันจุดยืนเพื่อประชาธิปไตยและตกลงกันว่าจะประชุมเป็นประจำทุกเดือน เราตกลงกันว่าเราจะเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศก่อนสิ้นปีภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญปี ๔๐ นอกจากนี้เรายืนยันจุดยืนว่ากษัตริย์ต้องไม่ยุ่งการเมือง ต้องไม่ถูกใช้โดยผู้ที่ทำลายประชาธิปไตยอีกด้วย และประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการวิจารณ์กษัตริย์
ในเรื่องการปฏิรูปการเมือง เราเสนอว่าประชาชนไทยต้องเป็นผู้ทำ ไม่ใช่ปล่อยให้สถาบันพระปกเกล้าที่ไม่เคยสนับสนุนประชาธิปไตยเป็นผู้เสนอการปฏิรูป
สื่อนอกชี้อย่าหลงหน้าตาจนลืมความจริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ The Times ของอังกฤษ ได้ตีพิมพ์บทวิพากษ์ของนายริชาร์ด ลอยด์ แพร์รีย์ (Richard Lloyd Parry) บรรณาธิการภาคพื้นเอเชีย ซึ่งเคยเป็นศิษย์ร่วมมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกับนายอภิสิทธิ์ โดยนายแพร์รีย์ระบุว่า ถึงแม้นายอภิสิทธิ์จะได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองหนุ่มไฟแรงที่มีหน้าตาดี ฉลาดหลักแหลม และเป็นขวัญใจของชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งการที่นายอภิสิทธิ์เคยเป็นอดีตนักเรียนเก่าของ Eton College โรงเรียนเอกชนชายล้วนชื่อดังระดับโลกของอังกฤษร่วมกับนายบอริส จอห์นสัน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนคนปัจจุบันวัย 44 ปี ซึ่งถือเป็นเพื่อนสนิทของนายอภิสิทธิ์ในสมัยนั้น
แต่อย่างไรก็ตาม เสน่ห์อันน่าหลงใหลของนายอภิสิทธิ์ไม่ควรนำมาเป็นปัจจัยที่เบี่ยงเบนความสนใจของประชาคมโลกจากความจริงอันน่ารังเกียจของสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาที่ทำให้ประเทศไทยกลายสภาพจากการเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเสรีภาพและมีเสถียรภาพมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นประเทศที่มีความวุ่นวายและแตกแยกมากที่สุดในภูมิภาค
เคารพความเห็นแต่ไล่ปิดเว็บไซต์
รวมทั้งการผลักดันกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงญานับพันคนจากพม่าที่หมดหนทางและสิ้นหวังให้ออกไปพบกับความตายในทะเล การที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยถูกบีบและกดดันให้พ้นจากอำนาจไป ทั้งโดยน้ำมือของกองทัพและโดยน้ำมือของม็อบ และการจับกุมตัวเว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์อิสระแห่งหนึ่งภายหลังจากการออกมายืนยันของนายอภิสิทธิ์เพียงไม่กี่ชั่วโมงว่ารัฐบาลเคารพหลักการว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน
เคยนำพรรคบอยคอตเลือกตั้งมาแล้ว
นายแพร์รีย์ระบุว่า ตั้งแต่นายอภิสิทธิ์ได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2005 ได้มีการเลือกตั้ง 2 ครั้งในไทย ซึ่งนายอภิสิทธิ์เคยคว่ำบาตรการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2006 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณคว้าชัยได้เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน
นายแพร์รีย์ชี้ว่าผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งชาวไทยส่วนใหญ่เทใจให้ พ.ต.ท.ทักษิณชนะการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่าแทนที่จะเป็นนายอภิสิทธิ์ เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณมีผลงานในการเปลี่ยนชีวิตชาวชนบทหลายล้านคนให้มีชีวิตที่ดีขึ้นผ่านทางนโยบายและโครงการต่างๆ อาทิ โครงการรักษาพยาบาลราคาถูก ซึ่งช่วยให้คนยากจนเข้าถึงการรักษาได้เป็นครั้งแรกในไทย หรือโครงการกองทุนหมู่บ้านก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะถูกโค่นอำนาจ
ไม่ได้เป็นนายกฯเพราะชนะเลือกตั้ง
ในทางกลับกันนายแพร์รีย์มองว่า การก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯของนายอภิสิทธิ์ไม่ได้เกิดขึ้นจากเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ และได้รับการสนับสนุนแบบไม่ชอบธรรมจากกลุ่มที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณและกองทัพจนก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯในที่สุด
ในตอนท้ายนายแพร์รีย์ระบุว่า สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในไทยเวลานี้ถือเป็นสัญญาณอันตรายต่อความเป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย และถือเป็นความเจ็บปวดมากยิ่งขึ้นเมื่อความจริงอันน่ารังเกียจเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ ชายผู้ซึ่งได้ชื่อว่ามีความชาญฉลาด มีความสามารถ และมีคุณสมบัติที่ดีครบถ้วนทุกประการ ยกเว้นเพียงอย่างเดียวคือความถูกต้องชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตย