โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ที่มา บอร์ดฟ้าเดียวกัน
(1) ผมมีความเห็นว่า การต่อสู้เพื่อโค่นรัฐบาลอภิสิทธิ์ เป็นการต่อสู้ที่ชอบธรรม ประชาชนมีสิทธิเต็มเปี่ยมที่จะต่อสู้ในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารล้มไป กระทั่งรวมถึงรูปแบบการลุกขึ้นสู้ และหากเกิดการปะทะต่อสู้ที่ต้องสูญเสียไม่ว่าในระดับใดๆในการต่อสู้นี้ รัฐบาลอภิสิทธิ์ และบรรดาผู้สนับสนุน ย้อนหลังไปถึงกลุ่มที่ทำรัฐประหาร 19 กันยา ต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งสิ้น
(2) อย่างไรก็ตาม ผมอยากเสนอว่า การที่แกนนำเสื้อแดง ประกาศว่า การนัดชุมนุมใหญ่ในปลายเดือนมีนาคมนี้ จะเป็นการชุมนุมชนิด "ไม่ชนะ ไม่เลิก" นั้น เป็นการกำหนดที่มีลักษณะ "ผูกมัดตัวเอง" มากเกินไป และ ไม่ยืดหยุ่นเกินไป
(3) ดังที่แกนนำเสื้อแดง ได้ชี้แจง ในช่วงที่ยุติการชุมนุมเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบกับกรณีพันธมิตรฯว่า การที่เกิดการล้มรัฐบาลสมัคร-สมชาย นั้น ไม่ใช่มาจากการชุมนุมของ พันธมิตร แต่มาจากอำนาจตุลาการภิวัฒน์ (และการกดดันของอำนาจนอกรัฐธรรมนูญอื่นๆ) นั่นคือ ลำพังการชุมนุมของพันธมิตรฯ ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้
(4) ขณะเดียวกัน ในช่วงทีผ่านมา แกนนำเสื้อแดง ได้กำหนดยุทธวิธีอันถูกต้อง ที่จะต่อสู้ภายใต้กรอบที่กฎหมายวางไว้ (ไม่ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ฯลฯ) เพื่อชี้ให้ประชาชนทั่วไปเห็นในด้านกลับว่า พันธมิตรฯ ได้กระทำการที่ละเมิดกฎหมายอย่างขนานใหญ่อย่างไรบ้าง
(5) แต่ถ้าเช่นนั้น การประกาศว่า การชุมนุมครั้งต่อไปของคนเสื้อแดง จะเป็นการชุมนุมแบบยืดเยื้อที่ "ไม่ชนะ ไม่เลิก" ก็จะเท่ากับเป็นการผูกมัดตัวเอง และสร้างความหวังที่ไม่สมจริงให้กับมวลชนที่จะมาร่วมการชุมนุม
(6) แน่นอน ถ้าการชุมนุมครั้งต่อไป จะช่วยสร้างกระแสกดดัน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นโค่นรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ ก็นับเป็นเรื่องดี แต่ผมมองไม่เห็นว่า ในเมื่อแกนนำเสื้อแดงได้กำหนดยุทธวิธี(อันถูกต้อง) ที่จะไม่ใช้วิธีการเดียวกับพันธมิตร และในเมื่อฝ่ายคนเสื้อแดง ไม่ได้มีอำนาจมืดทั้งหลายคอยช่วยล้มรัฐบาลให้เหมือนพันธมิตรฯ โอกาสที่จะเกิดเช่นนั้น (ล้มรัฐบาลอภิสิทธิ์) เป็นสิ่งที่มีหลักประกันแน่นอน
(7) ผมจึงขอเสนอให้ทบทวนการกำหนดในลักษณะผูกมัดตัวเองดังกล่าว
(8) ในกรณีที่บางท่านอาจจะแย้งว่า การ "ประกาศ" ออกไปเช่นนั้น ("ไม่ชนะ ไม่เลิก") มีผลดีในแง่ของการสร้างความมุ่งมั่น ฮึกเหิมให้กับมวลชนที่เข้าร่วมการต่อสู้ ข้อนี้อาจจะมีส่วนจริง แต่ผลด้านกลับคือ การสร้างความคาดหวังให้เกิดขึ้นด้วย และหากไม่เป็นไปตามทีคาดหวังนั้น เพราะเป็นการคาดหวังที่สูงเกินจริงแต่แรก ก็จะส่งผลเสียให้กับกำลังใจและการต่อสู้ในระยะยาวได้ อีกอย่างหนึ่ง ในแง่สาธารณะทั่วไป ก็ง่ายที่จะทำให้เป็นข้อโจมตีว่า "ทำไม่ได้จริง" หรือ "ล้มเหลว" ได้
โปรดอย่าเข้าใจผิดว่า ผมกำลังเสนอให้เลิกต่อสู้ ที่ผมเสนอ ก็เพียงแต่ว่า อย่าผูกมัดตัวเอง และ "เหลือทาง" ให้สำหรับ "ความยืดหยุ่น" (flexibility) และรูปแบบการต่อสู้อื่นๆ ในระยะยาวออกไป
เพื่อไทย
Thursday, March 19, 2009
สมศักดิ์ เจียมฯ:บันทึกถึง แกนนำ และ ประชาชนเสื้อแดงทุกท่าน
ที่มา Thai E-News