ที่มา Thai E-News
โดยทีมงานไทยอีนิวส์
20 มีนาคม 2552
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลไทยรักไทย นับเป็นนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่มีบทบาทโดดเด่นหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในห้วงเวลานั้น เขาอาสาเป็นผู้รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่ลุกขึ้นมาตอบโต้กับ คมช. อย่างองอาจ กล้าหาญ จนถูกตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองแก่นักการเมือง 111 คนตามพิมพ์เขียวของอำนาจพิเศษ
หลังจากนั้น จาตุรนต์ ฉายแสง ยังเป็นหัวขบวนตอบโต้การร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และรนณรงค์ให้ประชาชนลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มุ่งทำลายพรรคการเมือง นักการเมือง โดยมุ่งหวังให้การเมืองอ่อนแอ เขาเป็นหนึ่งในนักการเมือง 111 คนที่ไม่มีสิทธิรับเลือกตั้งแม้เป็นผู้ใหญ่บ้าน และไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งทุกระดับเป็นเวลา 5 ปี
แม้กระนั้น เขายังสามารถใช้สิทธิ์แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ความไม่เป็นประชาธิปไตยโดยมีอำนาจพิเศษเป็นหัวขบวนอย่างต่อเนื่อง
ในห้วงเวลาที่ถูกตัดสิทธิ์นี้เขาได้ใช้เวลา เรียนรู้ภาษาจีน จนสามารถสื่อสารภาษาจีนกับคนจีนได้อย่างคล่องแคล่ว ออกอัลบั้ม เพลงจีนและเพลงลูกทุ่ง เขียนหนังสือ เข้าร่วมอภิปรายในประเด็นประชาธิปไตยบนเวทีต่างๆอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดเขาได้จัดตั้ง “สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (Institute of Democratization Study)” โดยมีเวปไซต์ไว้สื่อสารกับประชาชนชื่อ http://www.idsthailand.org
นายจาตุรนต์ ฉายแสงกล่าวไว้ในถ้อยแถลงที่ปรากฏในเวปไซต์ตอนหนึ่งว่า “การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้ทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยเราต้องหยุดชะงักลง การเมืองไทยต้องถอยหลังไปปลายปี ภารกิจสำคัญของผู้รักชาติบ้านเมืองคือ การทวงประชาธิปไตยกลับคืนมาและผลักดันให้บ้านเมืองก้าวไปข้างหน้า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกลับกลายเป็นการพยายามทำให้บ้านเมืองถอย หลังยิ่งขึ้นไปอีก มีการเสนอแนวความคิดที่ล้าหลังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างเปิดเผย เมื่อประสานเข้ากับการเคลื่อนไหวที่มีเนื้อหาเป็นอนาธิปไตยก็ยิ่งเป็นภัยคุก คามต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง สภาวการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้เพราะประเทศไทยเรายังขาดพื้นฐานในด้านแนวความ คิดเกี่ยวกับหลักการประชาธิปไตย หลักการประชาธิปไตยไม่เป็นที่เชื่อถือยึดมั่นในหมู่นักวิชาการ นักกิจกรรมจำนวนมากที่มีบทบาทอยู่ในสังคม”
เวปไซต์ดังกล่าวยังระบุถึงความเป็นมาของสถาบันว่า
“สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย เกิดจากการรวมตัวของพลเมืองหลากหลายอาชีพวงการ เช่นนักวิชาการ นักการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น นักธุรกิจ นักกฎหมาย โดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อสร้างความสำนึก ความเข้าใจ และความร่วมมือ ที่จะก่อให้เกิดวิถีประชาธิปไตยในสังคมทุกมิติ ทั้งนี้โดยไม่ผูกพันหรือฝักใฝ่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดไม่ว่าจะเปิด เผยหรือปิดลับ
สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย
แสวงหาและยินดีร่วมมือกับบุคคล องค์กร สถาบัน และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งหลายที่ปรารถนาจะสร้างและเสริมความเข้มแข็ง ให้กับประชาธิปไตยและความเป็นนิติรัฐ เพื่อให้เกิดสังคมที่ยึดหลักนิติธรรม ซึ่งพลเมืองทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด และมีการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดย เจต จำนงของประชาชนจะต้องเป็นพื้นฐานแห่งอำนาจการปกครอง ทั้งนี้ เจตจำนงนี้จะต้องแสดงออกทางการเลือกตั้งตามกำหนดเวลาและอย่างแท้จริง ซึ่งต้องเป็นการออกเสียงอย่างทั่วถึงและเสมอภาค และต้องเป็นการลงคะแนนลับ หรือวิธีการลงคะแนนโดยอิสระในทำนองเดียวกัน อีกทั้งมุ่งหวังจะส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมตลอด จนประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมและบทบาทอย่างเต็มที่ในการขยายประชาธิปไตย ระดับท้องถิ่นอันจะเป็นพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตยของประเทศ”
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับ พันธกิจ วัตถุประสงค์ แนวทางการดำเนินงาน ได้ในเวปไซต์ดังกล่าว