ที่มา ข่าวสด
บทบรรณาธิการ
พรรคเพื่อไทยมีมติให้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลชุดปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี
โดยกำหนดตัวผู้ที่จะถูกอภิปรายไว้ทั้งสิ้น 6 คน ประกอบด้วยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 5 คน คือนายกรณ์ จาติกวณิช นายกษิต ภิรมย์ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ และนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์
ในแง่ของจำนวนผู้ถูกอภิปรายที่ไม่มากไม่น้อยเกินไป หากสามารถอภิปรายได้อย่างมีเนื้อหา ไม่อาศัยคารมโวหารเชือดเฉือนกันเพียงอย่างเดียว
สังคมก็คาดหวังว่าจะได้สารประโยชน์จากการยื่นอภิปรายครั้งนี้บ้างไม่มากก็น้อย
การยื่นอภิปรายนายชวรัตน์และนายบุญจงนั้นย่อมแสดงว่าพรรคเพื่อไทยตั้งใจที่จะสกัดกั้นการขยายตัวของพรรคภูมิใจไทยหรือกลุ่มเพื่อนเนวินเดิม ในฐานะที่แยกตัวออกจากพรรคที่เคยล่มหัวจมท้ายกันมา
ขณะที่การยื่นอภิปรายนายกษิตนั้นย่อมมีจุดประสงค์เพื่อการตอกย้ำ ให้สังคมเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
แต่สิ่งที่ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจมากที่สุดก็คือ การอภิปรายในประเด็นเรื่องเงินปริศนาจำนวน 263 ล้านบาท ว่าจะเข้ามาเกี่ยวพันกับนายอภิสิทธิ์หรือพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร
การลากเอาชื่อนายประดิษฐ์เป็นผู้ร่วมถูกอภิปรายด้วย ในฐานะอดีตรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงที่เงินดังกล่าวปรากฏออกมา ย่อมตอกย้ำให้เห็นความจริงข้อนี้
และสังคมก็คาดหวังว่าฝ่ายค้านจะมีหลักฐานที่เป็นชิ้นเป็นอันสมราคาคุย
เพราะยิ่งฝ่ายค้านตั้งใจ "ทำการบ้าน" ด้วยการขุดค้นหาหลักฐานที่แสดงให้เห็นความผิดพลาดของรัฐบาลมากเท่าไหร่ สังคมก็ยิ่งจะได้ประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น
ในด้านหนึ่ง ก็จะเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลต้องชี้แจงแสดงความโปร่งใสด้วยความประพฤติที่สุจริต และสร้างต้นทุนให้ตนเองเพิ่มเติมด้วยการเร่งทำงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
อีกด้านหนึ่ง สังคมก็จะได้รับรู้กลยุทธ์และกลวิธีในการดำเนินการทางการเมืองของแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่าย ผ่านการตอบโต้ที่จะต้องมีการสาวไส้หรือแฉกันไปมา
แม้บางเรื่องน่าขยะแขยงหรือยากแก่การที่จะทนรับฟัง ก็ยังดีกว่าปิดหูปิดตาไม่รับรู้อะไรเลย
เพราะมีแต่รู้เท่าทันนักการเมืองไม่ว่าจะฝ่ายไหนเท่านั้น อำนาจต่อรองของชาวบ้านจึงจะเพิ่มขึ้น