ที่มา ประชาไท
คนงานกว่า 300 คนชุมนุมหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรียกร้องให้ตำรวจยุติมาตรการที่จะจับกุมผู้นำแรงงานที่ถูกออกหมายจับจากการชุมนุมหน้าทำเนียบ-รัฐสภาและดำเนินการร้องขอต่อศาลให้ถอนหมายจับโดยทันที และขอให้มีตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการสลายการชุมนุมที่ใช้เครื่องขยายเสียงระยะไกล โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า
สืบเนื่องจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิต ออกหมายจับ นายสุนทร บุญยอด, นางสาวบุญรอด สายวงศ์ และนางสาวจิตรา คชเดช ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้า หรือ ผู้สั่งการเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ภายหลังการชุมนุมเมื่อวันที่ 27 ส.ค. ของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย, สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ ในเครือบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และคนงานบริษัท เวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ พร้อมองค์กรแรงงานและองค์กรประชาชน ไปยังทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหลังจากที่ได้ยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีแล้วก่อนหน้านี้
ล่าสุด วันที่ 3 ก.ย. เวลา 9.00น. ผู้ชุมนุมจากเครือข่ายองค์กรต่างๆ อาทิ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สภาศูนย์กลางแรงงาน สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ ในเครือบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และคนงานบริษัท เวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ ซึ่งส่วนใหญ่แต่งกายด้วยสีดำกว่า 300 คนร่วมชุมนุมหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้ถอนหมายจับแกนนำแรงงานทั้ง 3 คน
จรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กล่าวว่า หลายปีมาแล้วไม่เคยมีการออกหมายจับผู้ชุมนุม การกระทำเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของรัฐบาล ที่กลัวในพลังของประชาชน และตอกย้ำการแบ่งขั้วของรัฐบาลกับภาคประชาชน ซึ่งนี่จะเป็นข้อเสียของรัฐบาลเอง เนื่องจากองค์กรแรงงานและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกกำลังจับตามองเรื่องนี้อยู่ โดยองค์การในยุโรปหลายประเทศได้ทำหนังสือถึงสถานทูต เพื่อขอให้สอดส่องการละเมิดสิทธิในการรวมตัวของคนงานแล้ว ดังนั้น รัฐบาลต้องถอนคดีโดยเร็วไม่เช่นนั้นกระแสประท้วงจะไม่หยุดเพียงเท่านี้ องค์กรด้านสิทธิฯ จะออกมาเคลื่อนไหวต่อ
เธอตั้งคำถามว่า อะไรคือความไม่สงบ การที่คนงานซึ่งไม่มีอาวุธมาอยู่บนท้องถนนโดยพร้อมเพรียงกันคือความไม่สงบหรือ ถ้าเช่นนั้นการที่ตำรวจใช้เครื่องขยายเสียงระดับไกล (LRAD: Long Range Acoustic Device) ซึ่งมีความดังระดับ 150 เดซิเบล ซึ่งเป็นอาวุธในการปราบปรามคนจำนวนมาก กับผู้ชุมนุม โดยไม่เตือนก่อนการใช้คืออะไร
"มาตรการของรัฐบาลต่างหากที่ไม่เคารพกับการจัดการเดินขบวนอย่างสันติวิธี" จรรยากล่าว
วาสนา ลำดี ผู้ประสานงานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อแรงงานไทย เล่าถึงเหตุผลที่นัดกันใส่เสื้อสีดำว่า เพื่อแสดงถึงความมืดมนของระบบตำรวจ ที่ไม่จัดการกับนายจ้าง เวลาที่คนงานแจ้งความดำเนินคดีกับนายจ้างที่โกงค่าจ้าง หรือขู่ฆ่า แต่กลับออกหมายจับคนงานได้เร็ว ส่งหมายไปถึงบ้าน ทำให้พ่อแม่ของคนงานต้องขวัญผวา
วาสนา ยกตัวอย่างกรณีของคนงานบริษัทเวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ ซึ่งถูกเลิกจ้างและไม่ได้รับค่าแรงที่เหลือ เป็นเงินทั้งสิ้น 2 ล้านบาท โดยให้คนงานไปฟ้องร้องต่อศาลเอา โดยคนงานเมื่อฟ้องต่อศาลเพื่อให้มีการยึดทรัพย์นำไปขายทอดตลาด ก็กลัวว่านายจ้างจะขนของไปขาย จึงไปปักหลักเฝ้าของบริเวณระหว่างคูหาอาคารของบริษัท ซึ่งทำให้คนงานกลับถูกข้อหาบุกรุก
จากนั้น เวลา 10.20น. วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยื่นหนังสือระบุถึง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี พล.ต.ต.มนู เมฆหมอกเลขานุการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รับแทน โดย คสรท.ได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องยุติมาตรการที่จะจับกุมผู้นำแรงงานที่ถูกออกหมายจับจากเหตุการณ์ดังกล่าวและดำเนินการร้องขอต่อศาลให้มีการถอนหมายจับโดยทันที และขอให้มีตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการสลายการชุมนุมของผู้บัญชาการตำรวจนครบาลที่ได้ใช้เครื่องขยายเสียงระยะไกล โดยไม่ได้มีการแจ้งให้แก่ผู้ชุมนุมทราบล่วงหน้าถึงการดำเนินการและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ชุมนุม
วิไลวรรณ กล่าวว่า คนงานจากทั้งสามแห่งต่างประสบปัญหา โดยคนงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทยถูกเลิกจ้าง กว่าครึ่งเป็นสมาชิกสหภาพ ส่วนคนงานจากสหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ ในเครือบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และคนงานบริษัท เวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ก็ถูกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ซึ่งปัญหาทั้งหมดรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญเข้ามาแก้ไข ทำให้พวกเขาต้องเดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องต่อรัฐบาล แต่เมื่อเดินทางไปที่ทำเนียบฯ ก็ไม่มีใครออกมารับหนังสือ จึงเดินทางไปที่รัฐสภา ซึ่งมีการประชุมงบประมาณของ ส.ส. และรัฐมนตรี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนยากคนจนคือ เจอตำรวจตั้งข้อหามั่วสุมเกิน 10 คนและก่อความไม่สงบ
วิไลวรรณ กล่าวว่า การชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกกลุ่มภายใต้รัฐธรรมนูญ ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับทำเกินกว่าเหตุ จึงมาร้องเรียนต่อ สตช. ให้ยกเลิกหมายจับแกนนำทั้ง 3 คนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนคนงานให้ได้สิทธิตามกฎหมาย นอกจากนี้แล้ว จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อสภาทนายความและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ ด้วย
โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเรียกร้องให้สภาทนายความดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน นำโดย พล.ต.ต วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 โดยทางตำรวจได้เปิดเครื่องขยายเสียงที่มีเสียงดังมาก ได้รับผลกระทบต่อคนงานผู้หญิง คนงานพิการ และอายุมากที่ได้นั่งฟังปราศรัยหน้าทำเนียบรัฐบาล ขณะที่ตัวแทนของสหภาพกำลังเข้าไปยื่นหนังสือกับนายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ประจำรัฐสภา และการขอออกหมายจับผู้นำสหภาพ โดย พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ว่า เป็นการละเมิดสิทธิทางพลเมืองและทางการเมือง รวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม
และเรียกร้องให้ไอแอลโอดำเนินการผลักดันต่อรัฐบาลไทยในฐานะประเทศภาคีสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ โดยยึดถือมาตรฐานแรงงานสากล อันได้แก่ การเจรจาต่อรองกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง รวมไปถึงการใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์ในการแก้ไขปัญหา ตามกรอบปฏิบัติระดับสากล OECD ให้สมกับเป็นบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ และขอให้เสนอข้อแนะต่อรัฐบาลไทยในการเอาผิดกับนายจ้าง ซึ่งมีการกระทำที่ส่อให้เห็นถึงการคุกคามสหภาพแรงงาน