ที่มา ประชาไท
ปลัดไอซีทีเล็งขออำนาจศาลปิดกั้น 8 เว็บ รวม “ประชาไท” ด้วย อ้างเป็นแหล่งเผยแพร่คลิปมาร์ค ลั่นถ้ามีการเผยแพร่อีกจะฟ้องหลายกระทง ด้านศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต ก.ไอซีที เผย ปิดไปแล้ว 18,390 เว็บ อ้างเป็นเว็บกระทบความมั่นคง 10,578 เว็บ
รัฐมนตรีไอซีทีลั่นคลิปมาร์คตัดต่อแน่นอน
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึงกรณีการเผยแพร่คลิปเสียงที่มีเสียงคล้ายนายกรัฐมนตรี ว่า คลิปเสียงดังกล่าวมีความยาวประมาณ 3 นาที โดยได้เริ่มมีการเผยแพร่ตั้งแต่ช่วงหลังเที่ยงคืนวันที่ 26 สิงหาคม 2552 หรือช่วงเช้าของวันที่ 27 สิงหาคม 2552 ซึ่งกระทรวงไอซีทีไม่ได้นิ่งนอนใจกับการกระทำดังกล่าว และได้ดำเนินการส่งคลิปเสียงให้บริษัทเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับในระดับเอเชียแปซิฟิกตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า เป็น คลิปเสียงที่มาจากการตัดต่อเสียงอย่างแน่นอน จึงได้ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบเพิ่มเติมว่ามีการตัดต่อเสียงในช่วงใดบ้าง
ด้านนายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “จากการตรวจสอบคลิปเสียงดังกล่าวไปแล้ว 80% พบว่ามีการตัดต่อเสียงอยู่ทั้งหมด 16 แห่ง และหากตรวจสอบครบทั้ง 100% คาดว่าจะพบจุดที่มีการตัดต่อเสียงประมาณกว่า 20 แห่ง ซึ่งจากการตรวจสอบคลิปเสียงดังกล่าวพบว่ามีความผิดปกติที่ใช้เป็นหลักฐานในการเอาผิดหลาย ลักษณะ เช่น บรรยากาศและเสียงรบกวนมีความไม่คงที่ ไม่สม่ำเสมอ ถ้อยคำในคลิปเสียงไม่สมบูรณ์มีคำขาดหาย รวมทั้งรูปประโยคก็ไม่สมบูรณ์ จังหวะการอ่านไม่เป็นธรรมชาติ เป็นต้น”
เล็งขออำนาจศาลปิด 8 เว็บ พ่วง “ประชาไท”
ดังนั้น กระทรวงไอซีทีจึงได้ประสานกับทาง ISP และขออำนาจศาลเพื่อปิดกั้นการเผยแพร่คลิปเสียงดังกล่าวผ่านทางอินเทอร์เน็ตแล้ว 8 เว็บเพจ (URL) โดยปิดกั้นคลิปเสียงทั้งที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ประชาไท ยูทูบ และอื่นๆ ซึ่งหากพบว่ามีการเผยแพร่คลิปเสียงดังกล่าวผ่านทางอินเทอร์เน็ตอีก กระทรวงฯ จะดำเนินการเอาผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (2) และ (3) ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุป คือ ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน รวมถึงเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ที่เข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา จะมีความผิดตามมาตรา 14 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรานี้ทั้ง (1) (2) หรือ (3) ถือเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 14 (5) และได้รับโทษเช่นเดียวกัน
ระนองรักษ์เล็งเอาผิดทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายอาญา
ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต หรือ ISOC ติดตามร่องรอยการเผยแพร่คลิปเสียงดังกล่าว โดยร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติค้นหาต้นทางแหล่งที่มาของการเผยแพร่และสืบค้นหาผู้กระทำความผิด ซึ่งขณะนี้ทราบเบาะแสการเผยแพร่แล้ว โดยกระทรวงฯ จะสืบค้นจนระบุตัวบุคคลผู้กระทำความผิดแล้วประสานงานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อขอหมายศาลเข้าจับกุมและดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายทั้งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และกฎหมายอาญา เนื่องจากการกระทำดังกล่าวมีเจตนามุ่งหวังที่จะให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นภายในประเทศและกระทบต่อความมั่นคงของประเทศด้วย”
อย่างไรก็ตาม หากการเผยแพร่คลิปเสียงดังกล่าวมีต้นทางการเผยแพร่อยู่ในต่างประเทศแต่ผลของการกระทำนั้นมาปรากฏอยู่ในประเทศไทยก็สามารถใช้กฎหมายไทยในการเอาผิดได้ และเมื่อมีการนำคลิปเสียงมาเผยแพร่ต่อในประเทศไทยก็จะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายไทยเช่นกัน ส่วนกรณีการเผยแพร่ผ่านสัญญาณดาวเทียมของต่างประเทศนั้นกระทรวงฯ ไม่สามารถดำเนินการสกัดกั้นหรือรบกวนสัญญาณได้ กระทรวงฯ จะดำเนินการได้เฉพาะการเผยแพร่ผ่านดาวเทียมที่เป็นของประเทศไทย เช่น ดาวเทียมไทยคมเท่านั้น แต่หากมีการนำคลิปเสียงมาเผยแพร่ต่อก็จะเข้าข่ายการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
สำหรับกรณีที่จะมีการนำคลิปเสียงไปเผยแพร่ในการชุมนุมทางการเมืองนั้น ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเป็นผู้เข้าไปดำเนินการเอาผิด แต่ไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของกระทรวงไอซีที
ไอซีทีปิดไปแล้ว 18,000 เว็บ อ้างกระทบความมั่นคง 10,000 เว็บ
ส่วนการดำเนินการกับเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข้อมูลไม่เหมาะสมต่างๆ ของกระทรวงไอซีทีผ่านทางศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต หรือ ISOC นั้น ได้ดำเนินการไปแล้วรวม 18,390 URL แบ่งเป็นเว็บไซต์ที่กระทบกับความมั่นคง 10,578 URL เว็บไซต์ที่เผยแพร่ซึ่งข้อมูลเข้าข่ายลามกอนาจาร 7,690 URL เว็บไซต์ขายยา 50 URL และเว็บไซต์การพนัน 72 URL